'ซูเปอร์คาร์'เคลื่อนทัพบุกไทย รุกหัวเมืองใหญ่-ยอดขายพุ่ง

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 27 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ตลาดซูเปอร์คาร์ เคลื่อนทัพบุกไทย เผยความพร้อมค่ายยักษ์ใหญ่ "เฟอร์รารี่-แลมโบร์กินี-แอสตัน มาร์ติน" เจาะลูกค้า

    ชี้ระดับ เอ++ เฟอร์รารี่ เผย ลูกค้าซูเปอร์ คาร์เริ่มกระจายออกสู่ต่างจังหวัด ระบุเมืองไทยเปิดสนามแข่งรถมาตรฐาน ปัจจัยส่งเสริมการใช้รถซูเปอร์ คาร์ ด้านแอสตัน มาร์ติน น้องใหม่เสนอตัวทางเป็นเลือกใหม่ เตรียมเดินหน้าเต็มตัวไตรมาสแรกปี58

    หลังการเปิดโชว์รูมแลมโบร์กินี ที่ใหญ่สุดในเอเชียแปซิฟิก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายใต้งบลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพของตลาดซูเปอร์ คาร์ในไทยว่ายังเติบโตดี สวนทางภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้แทนจำหน่ายซูเปอร์ คาร์ ชั้นนำอย่าง เฟอร์รารี่ ก็มีแผนส่งรถใหม่เข้าตลาดทุกโมเดลใน ปี58

    นางนันทมาลี ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาวาลลิโน มอเตอร์ จำกัด ผู้นำเข้าและผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ เฟอร์รารี่ (Ferrari) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท คาวาลลิโน เซอร์วิส จำกัด ผู้ให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์ เฟอร์รารี่ เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงแนวโน้มตลาดซูเปอร์ คาร์ ว่า ได้รับการตอบรับดีมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการ "รถรุ่นใหม่" ที่เตรียมออกสู่ตลาดจะมีการสั่งซื้อล่วงหน้า ซึ่งปกติเฟอร์รารี่จะผลิตรถตามการสั่งจองของลูกค้า โดยในปีหน้า เฟอร์รารี่ มีแผนจะผลิตรถรุ่นใหม่ๆ หลายรุ่น เช่น รุ่น LaFerrari ลิมิเต็ด โปรดักชั่น รุ่นแคลิฟอร์เนีย ที (Ferrari California T) และรุ่น 458 ซึ่งมีการสั่งจองอย่างรวดเร็ว ซัพพลายที่ไทยได้รับมาเท่าไรก็จะมีผู้ที่สั่งจองทั้งหมด

    สำหรับรถอย่างเฟอร์รารี่ ยอดออกรถใหม่จะเท่ากับยอดการจองรถของลูกค้าในปีหน้า โดยเฉพาะ รุ่น แคลิฟอร์เนีย ที (Ferrari California T) ซึ่งเป็นเฟอร์รารี่ เทอร์โบ เป็นครั้งแรกและรุ่นยอดนิยมของลูกค้าชาวไทยคือ 458 นิวโมเดลเชนจ์

    "ลักษณะตลาดของซูเปอร์ คาร์ อย่างเฟอร์รารี่ ในทุกๆ สิ้นปีเป็นกระแสลูกค้า ที่มองหารถใหม่ที่กำลังจะออก ในโมเดลปี ถัดไปเพื่อทำการสั่งซื้อล่วงหน้า"

    ค่ายซูเปอร์ คาร์ รุกผุด "ผู้แทนจำหน่าย"

    นางนันทมาลี ยังกล่าวว่า ตลาดรวมซูเปอร์ คาร์ในปีนี้มีแบรนด์ใหม่ที่ดำเนินการโดย "ผู้แทนจำหน่าย" อย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีสำหรับเฟอร์รารี่ไทยเพราะจะทำให้เกิด "ระบบการตั้งราคาแข่งขัน" ที่ยุติธรรมขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาไทยเก็บภาษีนำเข้าสูง มีการนำเข้ารถยนต์อิสระเข้ามาแข่งขันเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เช่น เฟอร์รารี่ต้องจ่ายภาษีเต็ม 328 %

    "สิ่งที่มองว่าการแข่งขันในอนาคตน่าจะดีขึ้นคือ "ราคา" เพราะผู้ประกอบอย่างเป็นทางการเข้ามาทำตลาดเองทำให้การแข่งขันทางด้านราคากับผู้นำเข้าอิสระน้อยลงไป เพราะทุกคนเสียภาษีถูกต้อง ตรงไปตรงมา และตลาดจะ แข่งกันด้วยสมรรถนะและฟังก์ชั่นต่างๆ ของรถอย่างแท้จริง" นางนันทมาลี กล่าว

    'ซูเปอร์ คาร์' ขยายสู่หัวเมืองใหญ่

    นางนันทมาลี กล่าวต่อไปว่า ความนิยมของรถซูเปอร์ คาร์ ในอดีตลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ในช่วงหลังพบว่า ลูกค้าที่ซื้อรถมาจาก "หัวเมืองใหญ่" ทำให้สัดส่วนการขายต่างจังหวัดคิดเป็นราว 10 % ของยอด และกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศจากเดิมจะมีเพียงจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตลาดกระจายตัว แสดงให้เห็นว่าศูนย์รวมการค้าขายกระจายสู่หัวเมืองมากขึ้น สอดรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558

    ส่วนภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของลูกค้าซูเปอร์ คาร์ เพราะผู้ซื้อเฟอร์รารี่ คือบรรดานักธุรกิจอันดับต้นๆของเมืองไทย คนกลุ่มนี้เป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เขาไม่ได้หยุดทำธุรกิจ เศรษฐกิจไทยยังคงเดินหน้า กำลังการซื้อไม่ได้ตก ยกเว้นในช่วง "น้ำท่วมใหญ่" เมื่อปลายปี 2554 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก เฟอร์รานี่เองต้องปิดโชว์รูมในช่วงนั้นด้วย

    นอกจากนี้ ปัจจัยทางอ้อมที่จะส่งผลดีต่อการเติบโตของซูเปอร์ คาร์ คือ การที่ไทยมีสนามแข่งรถมาตรฐานโลกเปิดขึ้นใหม่ เช่นที่บุรีรัมย์และคาดว่าจะมีสนามอื่นๆ เกิดขึ้นในภาคกลาง และภาคใต้ อีกปัจจัยเรื่องสนามแข่งรถมีส่วนที่เป็นผลดีต่อซูเปอร์ คาร์ เพราะ เฟอร์รารี่ ดีเอ็นเอ คือ รถที่มาจากฟอร์มูล่า วัน การทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทดสอบรถ การอบรมการขับขี่ จะสามารถทำได้ เพราะ ที่ผ่านมาไทยยังไม่มีสนามที่รองรับกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้เฟอร์รารี่ ไม่สามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในเมืองไทยได้เลยหากลูกค้าจะร่วมกิจกรรม ต้องเดินทาง ไปทำกิจกรรมที่ต่างประเทศ

    นางนันทมาลี กล่าวอีกว่า ลูกค้าหลักของเฟอร์รารี่ยังเป็นลูกค้ากลุ่มเอ++ ส่วนลูกค้ากลุ่ม เอ หรือ เอ- ปกติซื้อไม่ได้ก็จะไปซื้อรถมือสองแทน ที่ผ่านมาเฟอร์รารี่จำหน่ายอยู่ราว 20 -30 คันต่อปี เนื่องจากรถมีจำนวนจำกัด ลูกค้าไม่ได้รถตามจำนวนที่ต้องการ เฟอร์รารี่ทำการผลิตทั่วโลกปีละไม่เกิน 6,000 คันเท่านั้น สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการตลาดนั้นเฟอร์รารี่จะจัดให้มีรถเดโม ทุกรุ่นไว้ให้ลูกค้าได้ทดลองขับ

    ส่วนยอดขายของเฟอร์รารี่ในภูมิภาคอาเซียน ตลาดหลักสูงอยู่ที่ ประเทศสิงค์โปร ซึ่งรัฐบาลเองต้องการจำกัดจำนวน มีการสร้างเงื่อนไขเพิ่มขึ้นเช่น ต้องวางดาวน์ ถึง 50 % ไม่รวมเงื่อนไขอื่นๆ รองลงมาคือ อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย

    ด้านนายแอนเดรีย บัลดิ ผู้อำนวยการ ประจำภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ของ ออโตโมบิลี แลมโบร์กินี เอสพีเอ กล่าวในโอกาสที่มาร่วมกิจกรรมเปิดโชว์รูมแฟลกชิพ แลมโบร์กินี ในไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไทยถือเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วของแลมโบร์กินี จากกระแสความนิยมซูเปอร์ คาร์ที่เติบโตเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

    ดังนั้น แลมโบร์กินี จึงตั้งใจที่จะเดินหน้าสานต่อวัฒนธรรมซูเปอร์ คาร์ในไทย เช่น การเปิดโชว์รูมแห่งใหม่ การนำเสนอ รถรุ่นใหม่ ให้เร็วต่อความต้องการ เช่น รุ่น ฮูราคาน ที่มีการสั่งจอง ถึง 30 คัน

    "ยอดของการสั่งจอง ถือว่าเป็นดัชนีวัดเป็นความสำเร็จ ไม่ใช่ยอดขายเพราะต้องเข้าใจว่ารถของเรา ไม่ได้ผลิตแบบทั่วไป (แมส) ปีที่แล้วผลิตทั้งโลกเพียง 2,000 คันเท่านั้น" นายแอนเดรีย กล่าว

    แลมโบร์กินี "ปักธง" ผู้นำตลาด

    นายวิทวัส ชินบารมี กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิช คาร์ ผู้แทนจำหน่ายแบรนด์ยานยนต์ระดับชั้นนำของไทย และผู้แทนจำหน่าย แลมโบร์กินีอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในไทย เปิดเผยกับ"กรุงเทพธุรกิจ"ว่า ขนาดตลาดของซูเปอร์ คาร์ มีขนาดรวม 300 คันต่อปี ไม่รวมรถแบบเอสยูวีแนวโน้มของตลาดไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพของเศรษฐกิจ โดยพบว่าปริมาณความต้องการขึ้นอยู่กับรถโมเดลใหม่ที่จะออก สำหรับ นิช คาร์ มียอดจองรถรุ่นฮูราคาน แอลพี 610-4 ใหม่ ถึง 30 คันเป็นคำสั่งซื้อของปีหน้า

    นายวิทวัส กล่าวอีกว่า แลมโบร์กินี ในฐานะผู้นำตลาดได้ลงทุนโชว์รูมขนาดใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและแสดงศักยภาพของแบรนด์แลมโบร์กินี ให้ผู้ซื้อรถระดับไฮเอนด์เกิดความเชื่อมั่น สำหรับพื้นที่ของโชว์รูมได้เตรียมการบริการ ไว้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น สถานที่รับรองลูกค้าในระดับ วีไอพี พื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าคอลเลคชั่นของแลมโบร์กินี ที่มีทั้งเสื้อผ้าและอุปกรณ์ตกแต่งให้เลือกชม ศูนย์บริการหลังการขาย ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการงานขายและบริการหลังการขาย ที่มีศักยภาพสูงทั้งช่างเทคนิคและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง มีสถานีบริการน้ำมันอยู่ภายในเพื่อบริการเชื้อเพลิงสำหรับซูเปอร์คาร์ และมีลานเฮลิคอปเตอร์ เฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า กรณีเดินทางมาโดยเครื่องบินส่วนตัว

    แอสตัน มาร์ติน เดินเครื่องรุกไทย

    นายคมกริช นงค์สวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป แอสตัน มาร์ติน แบงคอก บริษัท เฮอริเทจ มอเตอร์ เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด ในเครือบริษัท มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด ในฐานะผู้ถือสิทธิ์การนำเข้าและจำหน่ายยนตรกรรมแอสตัน มาร์ติน อย่างเป็นทางการเป็นรายแรกและรายเดียวในไทย เปิดเผยว่า แอสตัน มาร์ติน เป็นรถที่มีลูกค้า ระดับบนที่เรียกว่า กลุ่มไฮลักชัวรี่ สปอร์ตคาร์ เซ็กเม้นท์ หรือ กลุ่มสปอร์ตคาร์หรูหราระดับบน ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อดีมาโดยตลอดไม่ได้ รับอิทธิพลจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจรวมถึงตลาดก็ไม่ได้มีส่วนใดๆ จากผลกระทบจากโครงการรถคันแรก

    สำหรับ แอสตัน มาร์ติน ถือว่าเป็นน้องใหม่ของวงการในการทำตลาดเมืองไทยเนื่องจากเพิ่งเปิดบริษัท มาได้ไม่ถึง 1 ปีนับจากเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม แอสตัน มาร์ติน ได้ขยายโชว์รูมแล้วถึง 2 แห่ง คือ ที่ถนนพระราม 3 และที่สยามพารากอน

    "แอสตัน มาร์ติน ได้เข้ามาเป็นตัวเลือก สำหรับรถระดับไฮเอนด์ โดยแผนในระยะสั้นนั้นจะเน้นการสร้างการรับรู้ในแบรนด์คอนเซ็ป ถึงความเป็นรถซูเปอร์ คาร์ แบบอังกฤษ มากกว่าปริมาณการวางเป้ายอดขาย ส่วนในปีหน้า นับตั้งแต่ไตรมาสแรกจะเริ่มบุกตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตลาดรถซูเปอร์ คาร์ ของไทย หรือรถที่มีรถที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาทต่อคัน มียอดขายราวปีละ 300 คันโดยขณะนี้การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือการที่มีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการเข้ามาทำตลาด ทำให้มีตัวเลือกที่หลากหลาย และมีการบริการเป็นมาตรฐาน ช่วยกระตุ้นกลุ่มลูกค้าให้สนใจมากขึ้น ทั้งนี้ ระดับราคาของ แอสตัน มาร์ติน เริ่มต้นตั้งแต่ 13.5-25 ล้านบาท " นายคมกริช กล่าว

    Tags : ซูเปอร์คาร์ • เฟอร์รารี่ • แลมโบร์กินี • แอสตัน มาร์ติน • กรุงเทพธุรกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้