สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ร่วมสภาองค์การนักษารามฯ จัดงานเสวนา '10 ปีตากใบ สะท้อนรัฐไทย ในการสร้างสันติภาพปาตานี' สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี สภาองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดงานเสวนา "10 ปีตากใบ สะท้อนรัฐไทย ในการสร้างสันติภาพปาตานี" ณ ห้องประชุมสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า เหตุการณ์ตากใบสะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยถูกลงโทษเมื่อกระทำความผิด ซึ่งความจริงการยอมรับผิดนั้นไม่ถือเป็นการเสียหน้า แต่ถือว่าเป็นความกล้าหาญ โดยหากจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นนั้น อย่างน้อยคนในสังคมจะต้องมีการยอมรับผิดและรับผิดชอบเกิดขึ้น ขณะที่ คุณภาวิณี ชุมศรี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการใช้กฎอัยการศึกในเหตุการณ์ตากใบครั้งนั้นว่า เป็นการใช้เครื่องมือในการจัดการกับมวลชนที่ผิดประเภท เนื่องจากกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายสงคราม แต่การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมของพลเมือง นางอังคณา ได้กล่าวถึงความความคืบหน้า10ปีหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ ว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ได้มีมติให้การเยียวยากับผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายอย่างสูงสุด แต่การเยียวยาด้วยเงินนั้นไม่อาจจะทำให้ผู้เสียหายและญาติของผู้เสียหายรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม ซึ่งความยุติธรรมนั้นถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการที่จะเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ ทั้งนี้ นางอังคณา ได้กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้น คือคนนอกพื้นที่ไม่เข้าใจถึงการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ที่เห็นต่างในพื้นที่ ว่า ผู้เห็นต่างต้องการอะไร และเขาทำอย่างนั้นไปทำไม นอกจากนี้ นางอังคณา ยังได้พูดถึงขบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ว่า ทั้งสองฝ่ายระหว่างรัฐและผู้ที่เห็นต่างจะต้องมีความจริงใจต่อกัน โดยจะต้องพูดคุยกันว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร และอะไรที่จะสามารถยอมรับหรือไม่ยอมรับได้ เพราะสุดท้ายทุกคนจะต้องมีทั้งได้และเสียเหมือนกัน ด้าน นายมูฮัมหมัด ดอเลาะ รองประธานฝ่ายอำนวยการเคลื่อนไหว สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ตากใบ เพื่อขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 3 ข้อ คือ 1. ขอให้รัฐบาลนำเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงเข้ามาสลายการชุมนุม รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นบทเรียนในการแก้ปัญหาและไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในทุกกรณี 2. ขอให้รัฐบาลรับรองพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยและปราศจากการแทรกแซงแก่ประชาชนปาตานี และ3. ขอเรียกร้องให้การสืบสวน สอบสวน ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในพื้นที่ปาตานีเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม และสามารถตรวจสอบได้ ขณะที่ นายฮากิม พงตีกอ รองประธานฝ่ายการต่างประเทศ สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานีนั้นเป็นปัญหาทางการเมือง จึงไม่ควรนำนโยบายทางทหารมาแก้ไขปัญหา และหากจะแก้ปัญหาการใช้อาวุธก่อความรุนแรงในพื้นที่ได้ หนึ่งสิ่งที่รัฐจะต้องกระทำคือการชำระประวัติศาสตร์เหตุการณ์ตากใบให้เกิดความยุติธรรมกับประชาชน ขณะเดียวกันคุณภาวิณี ชุมศรี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แนะนำถึงการแก้ปัญหาว่า ให้ลองยกเลิกกฎหมายด้านความมั่นคงบางฉบับที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้ประชาชนสามารถกล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพราะการที่ยังคงกฎหมายความมั่นคงอยู่นั้น ถือว่าเป็นการไปตอกย้ำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตให้มันยิ่งฝังลึกลงไป