รวมความเห็นนักกฎหมายประเด็น UberX ใช้รถป้ายดำ น่าจะผิดกฎหมาย

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 24 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    จากประเด็นเรื่อง UberX เริ่มให้บริการในไทย แต่พบว่ากลับใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (ที่เรียกกันว่าป้ายดำ) จนเกิดคำถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่

    ทีม Blognone สอบถามประเด็นนี้ไปยัง Uber ประเทศไทยแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าให้สอบถามไปยัง Uber ที่สิงคโปร์ และยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ระหว่างนี้เราจึงสอบถามความเห็นจากนักกฎหมายหลายท่าน และได้รับคำตอบมาดังนี้ครับ

    ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


    กรณี Uber ที่แต่เดิมใช้รถลีมูซีน (รถยนต์บรรทุกคนโดยสารได้เกินกว่าเจ็ดคน) จึงอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แต่ครั้นเปลี่ยนแนวธุรกิจมาจับตลาดล่างใช้รถยนต์นั่งธรรมดา คือรถยนต์บรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน จึงมิได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้ว (เป็นไปตามข้อยกเว้นมาตรา ๕ (๒) (ก) พ.ร.บ. การขนส่งทางบกฯ) แต่มาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ แทน โดยเข้าลักษณะเป็นรถยนต์สาธารณะตามนิยามมาตรา ๔ (“รถยนต์สาธารณะ” หมายความว่า (๒) รถยนต์รับจ้าง ซึ่งได้แก่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์สาธารณะอื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจําทาง)

    พอเป็นรถยนต์สาธารณะ หน้าที่ความรับผิดชอบของ Uber ก็เกิดขึ้นตามมาด้วย ทั้งในส่วนตัวรถยนต์จะต้องมีลักษณะเครื่องหมาย โคม TAXI-METER สีรถ ฯลฯ ตามกฎหมาย รวมทั้งตัวคนขับจะต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดด้วย ตัวอย่างเช่น

    1. ลักษณะ ขนาด ของรถยนต์ที่จะจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ เครื่องสื่อสาร แผ่นป้ายทะเบียนรถ เครื่องหมายประเภทรถ และเครื่องหมายอื่น รวมทั้งวิธีแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายสี เครื่องหมายสำหรับรถยนต์สาธารณะ ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขต กทม. พ.ศ.๒๕๕๐ (จังหวัดอื่นเช่นภูเก็ตอาจกำหนดโดยกฎหมายฉบับอื่น แต่จะมีลักษณะทำนองเดียวกัน)
    2. ในส่วนของคนขับต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่ประเภทรถยนต์สาธารณะ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุญาต การออกใบอนุญาตประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร และการรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานครฯ เป็นต้น
    3. นอกจากนี้ ในขณะขับรถรับจ้าง คนขับรถยนต์สาธารณะต้องติดเครื่องหมาย เช่น ชื่อตัวและสกุลของผู้ขับรถยนต์เป็นภาษาไทย ขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เซนติเมตร ตัวอักษรต้องเป็นแบบตัวพิมพ์ อ่านได้ง่าย โดยเย็บติดหรือปักไว้ที่อกเสื้อด้านซ้าย สีของตัวอักษรให้ตัดกับสีเสื้อ เป็นต้น

    หาก Uber ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงเหล่านี้ เช่น ใช้รถยนต์ป้ายทะเบียนดำหรือขาว ไม่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนคนขับรถรับจ้างสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน มีโทษปรับเช่นกัน (น่าจะประมาณ ๒,๐๐๐ บาท)

    ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นบทบัญญัติที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำ ส่วนจะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายได้หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน

    ส่วนประเด็นวิธีการเรียกใช้บริการ ไม่ว่าจะโดยการโบกเรียก หรือโทรศัพท์เรียก หรือผ่าน application ไม่ทำให้ความเป็นรถสาธารณะเปลี่ยนแปลงไปค่ะ เพียงแต่กรณีหลังอาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจยากขึ้นเท่านั้น

    คุณพิชัย พืชมงคล กรรมการบริหาร สำนักกฎหมายธรรมนิติ


    บริการแท๊กซี่เป็น "บริการขนส่งไม่ประจำทาง" ชนิดหนึ่ง ตามความในมาตรา 4(3) เป็นธุรกิจที่ควบคุมโดยกฎหมาย ผู้ที่จะให้บริการโดยได้รับค่าจ้าง ต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ตามมาตรา 65 วรรค 2 และต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง ตามมาตรา 65 วรรค 1

    ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 126 ของ พรบ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522

    หมายเหตุ: คัดลอกจากความเห็นคุณพิชัยในข่าวเดิม

    อาจารย์คณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (ไม่ประสงค์จะออกนาม)


    ประเด็นเรื่องแท็กซี่ป้ายดำถือเป็นการใช้รถส่วนบุคคลไปทำการรับส่งผู้โดยสาร ถือว่าผิด พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 มาตรา 21 เรื่องการใช้รถผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้อยู่แล้ว ดังนั้น Uber ในฐานะผู้ประกอบการจัดให้บริการที่ผิดกฎหมาย ตามหลักกฎหมายทั่้วไป ก็อาจถือได้ว่าประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย

    Uber, Law, Thailand, Transportation,
     

แบ่งปันหน้านี้