แบงก์แห่ปล่อยกู้จำนำข้าว ด้าน สบน. คาดมิ.ย.จ่ายหนี้หมด แบงก์พร้อมปล่อยกู้โครงการรับจำนำข้าว หลังหมดห่วงประเด็นกฎหมาย ด้านคลังกู้งวดแรก 3 หมื่นล้าน ต้นเดือนหน้า ขณะตัวแทน 'คสช.-ธ.ก.ส." ยันพร้อมจ่ายเงินชาวนาทั่วประเทศ 9.2 หมื่นล้านบาท ภายใน 1 เดือน ธนาคารพาณิชย์ พร้อมปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งค้างชำระชาวนากว่า 9.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้หมดปัญหาแหล่งเงินชำระหนี้จำนำข้าวที่ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน กล่าวว่าได้ลงนามในหนังสือถึงสถาบันการเงินทั้ง 32 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์เอกชนทุกแห่ง เพื่อให้ยื่นเสนอเงินให้กู้ยืมภายใต้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 เป็นเงินจำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดเงื่อนไขเงินกู้ดังกล่าว วงเงินขั้นต่ำที่เข้าร่วมประมูล 2,000 ล้านบาท อายุเงินกู้ 3 ปี นับจากวันเบิกเงินกู้งวดแรก กำหนดวันยื่นประมูลงวดแรกไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ งวดที่สองไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ โดยจะเบิกเงินกู้จากธนาคารที่เสนอดอกเบี้ยต่ำกว่าก่อน สำหรับการกู้เงินในครั้งแรกกู้ 5 หมื่นล้านบาทก่อนในช่วงแรก ส่วนที่เหลือ 4 หมื่นล้านบาทจะดำเนินการภายหลัง ด้าน นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับหนังสือเชิญร่วมประมูลจากทางกระทรวงการคลัง แต่ประเด็นในแง่กฎหมายที่เคยกังวลก็จะหายไป ซึ่งการคืนเงินให้ชาวนาในระยะแรก จะใช้สภาพคล่องของธ.ก.ส. หลังจากนั้น จึงจะมากู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยจะต้องดูว่ารูปแบบ จะเป็นการกู้โดยกระทรวงการคลังออกพันธบัตรมา หรือธ.ก.ส.เป็นผู้กู้และให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน "ในแง่กฎหมายไม่น่าจะมีปัญหา ก็ช่วยลดความกังวลของแบงก์ไปได้เยอะ" สบน.คาดในเดือนมิ.ย.จ่ายหมด ด้าน นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ตารางการกู้เงินที่ สบน.วางไว้ จะสอดรับกับการสำรองจ่ายเงิน 4 หมื่นล้านบาท ของ ธ.ก.ส. ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินแล้วตั้งแต่วันนี้ (26 พ.ค.) เป็นต้นไป หลังจากนั้นจะได้เงินเพิ่มเติมจากเงินกู้ ก็จะมีความต่อเนื่องในการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่ยังค้าง และน่าจะทำได้ตามกำหนดเวลาที่กำหนด คือ ภายในเดือนมิ.ย.นี้ก็สามารถจ่ายเงินได้ครบ "ขณะนี้สถาบันการเงิน ก็มีความมั่นใจในการที่จะปล่อยกู้มากขึ้น ส่วนดอกเบี้ยก็จะเป็นการแข่งขันกันตามปกติ โดยที่กระทรวงการคลังจะเลือกรายที่เสนอดอกเบี้ยต่ำสุด ตามกระบวนการประมูลปกติ" นางสาวจุฬารัตน์ กล่าว คสช.-ธ.ก.ส.พร้อมจ่ายจำนำข้าว พล.ต.ชาติชาย อ่อนน่วม เจ้ากรมการสัตว์ทหารบก พร้อมด้วยนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตรวจเยี่ยมความพร้อมและนำร่องจ่ายเงินรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ให้กับชาวนาที่อยู่ระหว่างรอรับเงินอีกกว่า 830,000 ราย วงเงินกว่า 92,431 ล้านบาท เพราะเป็นนโยบายหลักของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากเห็นว่าชาวนายังไม่ได้รับเงินมาเป็นเวลานาน พล.ต.ชาติชาย กล่าวย้ำว่า จะใช้แนวทางการจ่ายเงินโดยผ่านสาขา ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ เพราะได้จ่ายเงินมาตั้งแต่แรกและมีสาขากระจายทุกพื้นที่ หากต้องการให้ทหารช่วยเหลือก็พร้อมอำนวยความสะดวก เมื่อ คสช.จ่ายเงินจำนำข้าว แก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว จะเริ่มวางระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อให้มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว ด้าน นายลักษณ์ กล่าวว่า ธ.ก.ส. พร้อมจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่รอเงินรับจำนำข้าวกว่า 800,000 ราย วงเงินกว่า 90,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยจะทยอยจ่ายเงินดังกล่าว ตามคิวใบประทวนที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วตามลำดับก่อนหลังอย่างเคร่งครัดโปร่งใสตั้งแต่วันนี้ "คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือนนับจากนี้ ซึ่งเงินที่จะนำมาใช้หมุนเวียนจะมาจาก เงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา และเงินกู้ยืมที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้ในวงเงินไม่เกิน 92,431 ล้านบาท" ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอการกู้เงิน ธ.ก.ส. จะสำรองจ่ายไปก่อนในวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท เพื่อให้เงินถึงมือเกษตรกรอย่างรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ค้ำประกัน และรับผิดชอบชำระคืนต้นเงิน ดอกเบี้ยตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานทั้งหมด สำหรับผลการดำเนินงาน โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา มียอดใบประทวนรวม 1,671,720 ราย ข้าวเปลือก 11.64 ล้านตัน จำนวนเงิน 192,950 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ทยอยจ่ายเงินไปแล้ว ปัจจุบัน 833,182 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 6.29 ล้านตัน จำนวนเงิน 103,019 ล้านบาท จากยอดจัดสรรทั้งหมด 105,500 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณและเงินจากการระบายข้าว ของกระทรวงพาณิชย์ 75,000 ล้านบาท เงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา 10,500 ล้านบาท และงบกลางที่รัฐบาลยืมจาก กกต.อีก 20,000 ล้านบาท คลังเผย2ปีจำนำข้าวขาดทุน5แสนล้าน รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ได้ตรวจสอบผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปี (2554/55 2555/56 2556/57) พบว่ามีผลขาดทุนพุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว หรือขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาขายต่ำกว่าราคาต้นทุนกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อตัน คณะอนุกรรมการฯได้คำนวณต้นทุนข้าวเปลือกที่แปรสภาพเป็นข้าวสารไว้เฉลี่ยที่ราคา 2.3 หมื่นบาทต่อตัน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไปที่ราคา 1.2-1.4 หมื่นบาทต่อตัน และเมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการได้ขายข้าวไปด้วยราคาเพียงตันละ 8 พันบาทเท่านั้น ทำให้มีส่วนต่างราคาขายกับราคาต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งทำให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังพบว่า กรณีที่มีข้าวสารหายไปจากสต็อกอีกราว 3 ล้านตันนั้น ปรากฏว่าในสต็อกไม่ได้มีข้าวอยู่จริง เป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ยังพบว่ามีข้าวเสื่อมคุณภาพอีกจำนวนมากที่ยังรอให้เซอร์เวเยอร์ตีราคา ซึ่งหากมีการตีราคาแล้วคาดว่าจะทำให้ผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวจะเพิ่มมากกว่า 5แสนล้านบาทอีก พาณิชย์เบรกระบายข้าวผวาผิดกฎหมาย นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด ว่าการประมูลทั่วไปและผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) และการขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่เป็นสัญญาใหม่นั้น ต้องรอความชัดเจนในการหารือภายในกระทรวงพาณิชย์ ก่อน คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 วันจากนี้ เนื่องจากมีนัยทางข้อกฎหมายที่ต้องทำความเข้าใจระหว่างหน่วยงานปฏิบัติรวมถึงผู้ซื้อในต่างประเทศด้วย เช่น กรณีการเจรจาขายข้าวให้มาเลเซีย 6 แสนตัน ก็ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน กำหนดเวลาเพียงไม่นานจะไม่ส่งผลต่อความเสียหายการระบายข้าวของรัฐ ส่วนการส่งมอบข้าวปริมาณ 1 ล้านตันที่ได้ทำสัญญากับรัฐบาลจีนไว้ ให้เดินหน้าต่อไปได้เพราะเป็นสัญญาที่มีอยู่ก่อนหน้าแล้ว "ที่คสช.ให้กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสต็อกข้าวทั่วประเทศก่อนที่จะระบายข้าวนั้น กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะดำเนินการทันที เพื่อความโปร่งใส และจะร่วมตรวจสอบกับทางเจ้าหน้าที่ คสช." แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวว่า การตรวจสต็อกข้าวรัฐบาลหากดำเนินการอย่างจริงจังมีความเป็นไปได้ที่จะพบการทุจริตปลอมปนข้าวหอมมะลิกับข้าวขาว เพราะมีส่วนต่างราคาเฉลี่ยที่ตันละ 5,000 บาท ซึ่งจูงใจให้โรงสีผู้ส่งมอบข้าวและเจ้าหน้าที่เซอร์เวเยอร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องการนำข้าวคุณภาพต่ำมาเก็บไว้ในสต็อกให้ครบจำนวนแทนที่จะเป็นข้าวที่ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ การตรวจสต็อกข้าวจะทำให้พบข้อบกพร่องของโครงการรับจำนำข้าวอีกมาก จึงขอเสนอให้ คสช.ดำเนินการเรียกตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำรวมถึงภาคเอกชนให้ไปรายงานตัวและห้ามการออกนอกประเทศไว้ก่อนจนกว่าการตรวจสต็อกจะแล้วเสร็จ รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้รายงานสต็อกข้าว ณ วันที่ 11 ก.พ. 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 ที่สิ้นสุด 28 ก.พ. ว่า ปริมาณข้าวสารคงเหลือในคลังกลาง (ที่หักภาระผูกพันแล้ว) มีทั้งสิ้น 16,724,783 ตัน แบ่งเป็น ในโกดังกลาง ที่มีอยู่ 1,548 แห่งทั่วประเทศ ปริมาณ 16,200,161 ตัน ไซโล 187 แห่ง ปริมาณ 524,622 ตัน ในจำนวนนี้ เป็นข้าวนาปี 2554/55 รวม 1,434,971 ตัน นาปรัง ปี 2555 รวม 4,371,703 ตัน ปี 2555/56 รวม 8,348,358 ตัน ปี 2556/57 รวม 2,569,749 ตัน “นิพนธ์”ชี้ชาวนาได้เงินส่งผลดีต่อศก. นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ชาวนาได้รับเงินจำนำข้าวที่ค้างจ่ายอยู่เป็นระยะเวลานานถือว่าจะทำให้ชาวนามีเงินสำหรับใช้เป็นทุนเพาะปลูกข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ และอีกส่วนหนึ่งชาวนาจะนำเงินที่ได้รับไปจ่ายหนี้ค่าปัจจัยการผลิตที่ยังคงติดค้างอยู่กับร้านค้า รวมทั้งหนี้นอกระบบซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระดับฐานรากมากขึ้น สำหรับการระบายข้าวในสต็อก นายนิพนธ์กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีข้าวในสต็อกของรัฐบาลอีกประมาณ 13-14 ล้านตัน ซึ่งแนวทางการระบายข้าวให้ได้มากขึ้นกระทรวงพาณิชย์ยังคงต้องใช้วิธีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยนอกจากจะส่งออกข้าวไปในตลาดที่ไทยมีการส่งออกข้าวไปอยู่แล้ว ควรมีการขยายตลาดไปแอฟริกา และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและประเทศที่เคยเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียต “วงการค้าข้าวทั่วโลกยังมีภาพที่ว่าประเทศไทยแบกสต็อกข้าวไว้จำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการระบายข้าวในสต็อกออกไปให้เร็วที่สุดเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของข้าวไทย และหลังจากนี้โครงการที่จะใช้ในการพยุงราคาข้าว ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อวงการค้าข้าวอีก” นายนิพนธ์ กล่าว Tags : ธนาคาร • จำนำข้าว • สบน. • ชาวนา • ธ.ก.ส.