'จักรมณฑ์'เผยทิศทางอุตฯใน1ปี

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 24 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    (รายงาน) 'จักรมณฑ์'เผยทิศทางอุตฯใน1ปี เร่งเคลียร์ขั้นตอนใบอนุญาต-สางปัญหาขยะ

    จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สัมภาษณ์พิเศษ"กรุงเทพธุรกิจ" ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีระยะเวลาจำกัดเพียง 1 ปีตามโรดแมพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งงานหลักคือการฟื้นความเชื่อมั่นการลงทุนและแก้ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรม มีรายละเอียดดังนี้

    นายจักรมณฑ์ กล่าวว่าแนวทางการบริหารงานกระทรวงอุตสาหกรรมภายใน 1 ปี มีโจทย์ใหญ่ที่ได้จากคสช. ซึ่งมอบหมายหลังจากที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ใน 2 เรื่อง คือ 1. การแก้ไขปัญหาความล่าช้าของการออกใบอนุญาตประกอบการกิจการ (ร.ง.4) และ 2.การกำจัดขยะอุตสาหกรรม

    "ในเรื่องของ ร.ง.4 นับตั้งแต่คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้แก้ปัญหานี้ไปได้เยอะ โดยในภาพใหญ่ รัฐบาลอยู่ระหว่างการเสนอกฎหมายกำหนดขั้นตอนการออกใบอนุญาตต่างๆ ของหน่วยงานราชการทั้งหมด"

    ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมออกกฎกระทรวงรองรับกับกฎหมายฉบับใหม่นี้ โดยจะกำหนดกรอบเวลาขั้นตอนการอนุมัติที่ชัดเจนจะใช้เวลาเกินกว่าที่กำหนดไม่ได้ นักธุรกิจจะรู้ได้ว่ามีกี่ขั้นตอน ใช้เวลากี่วันจึงจะเสร็จ และจะใช้เอกสารประกอบการพิจารณาอะไรบ้าง หากเอกสารครบ หน่วยราชการจะไม่สามารถขอเอกสารเพิ่มได้อีก ซึ่งจะทำให้การออกใบอนุญาต ร.ง.4 หรือใบอนุญาตต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรมโปร่งใส และยกเลิกการใช้ดุลพินิจในการออกใบอนุญาต

    หากไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ จะต้องระบุอย่างชัดเจนว่าขัดกับกฎหมายข้อใด ขัดต่อกฎระเบียบตรงไหน หากคนที่มีอำนาจลงนามใบอนุญาตไม่อยู่ จะต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับรองรับผิดชอบแทนได้

    "ที่สำคัญอำนาจการออกใบอนุญาตจะอยู่ที่ข้าราชการประจำ รัฐมนตรีห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้"

    กระจายอำนาจเปิดเหมืองแร่ คุมเข้มสิ่งแวดล้อม

    นายจักรมณฑ์ กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมยังเข้าไปสางปัญหาการออกประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งหมด โดยได้ผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค. 2558

    สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ยังมีการกระจายอำนาจผู้อนุญาตออกใบประทานบัตรจากเดิมที่ต้องให้รมว.อุตสาหกรรมอนุญาตทั้งหมด ไปเป็นปลัดกระทรวง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ (กพร.) และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติแล้วแต่กรณี

    "ต่อไปนี้จะไม่มีเรื่องที่มาติดอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม 5-6 ปีเหมือนเดิมอีก เพราะกรณีที่เป็นเหมืองขนาดใหญ่ที่ต้องเข้ามายัง กพร. หรือปลัดกระทรวง เมื่อรับเรื่องมาแล้วต้องอนุมัติภายใน 45 วัน"

    สำหรับผลกระทบกับชุมชนนั้น เชื่อว่ากฎหมายใหม่ที่มีการดึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมบริหารจัดการ ดูแลกการจัดสรรแบ่งผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนที่ตั้งเหมือง และมีการระบุในกฎหมายให้ชัดเจนให้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสภาพพื้นที่ทำเหมืองเพื่อเยียวยาสิ่งแวดล้อมและผู้ได้รับผลกระทบจากเหมือง ทำให้เชื่อว่าจะทำให้มีการดูแลผลกระทบได้รัดกุม

    ตั้งนิคมฯกำจัดขยะหมื่นไร่ รองรับอีก20ปี

    ประเด็นขยะอุตสาหกรรมที่รับมอบหมายมานั้น ในปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ผลิตขยะอุตสาหกรรมทั้งไปประมาณ 30 ล้านตัน//ปี และขยะอุตสาหกรรมมีพิษอีก 3 ล้านตัน/ปี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะลงไปให้ความสำคัญในการกำจัดขยะอุตสาหกรรมมีพิษเป็นอันดับแรก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และที่ผ่านมาในจำนวน 3 ล้านตัน มีเพียง 1 ล้านตันที่ผ่านการกำจัดที่ถูกต้อง ที่เหลือยังมีการลักลอบทิ้งในที่ต่างๆ หรือ กำจัดไม่ถูกวิธี เนื่องจากค่ากำจัดขยะมีพิษสูงถึง 1 หมื่นบาท/ตัน

    ดังนั้นในแผนเร่งด่วน ได้อนุมัติงบประมาณพิเศษ 60 ล้านบาท ให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการลงไปสำรวจติดตามโรงงานที่มีขยะมีพิษทั่วประเทศ ติดตั้งระบบ จีพีเอส เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งขยะมีพิษ ซึ่งได้ตั้งเป้าที่จะนำขยะอุตสาหกรรมมีพิษเข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกต้องเพิ่มอีก 2 แสนตัน หรือมียอดรวม 1.2 ล้านตันภายในปีนี้ และในปี 2558 จะต้องเพิ่มปริมาณให้ได้ถึง 1.5 ล้านตัน

    ส่วนที่เหลือจะลงไปเพิ่มโรงงานกำจัดให้เพียงพอ โดยการจัดตั้งนิคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการรวมเอาอุตสาหกรรมกำจัดขยะอุตสาหกรรม และการรีไซเคิล เข้ามาไว้ในที่เดียวกัน คาดว่าจะตั้งให้ได้ 3 แห่ง กระจายในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1 หมื่นไร่ เพื่อรองรับปริมาณขยะอุตสาหกรรมในอีก 10-20 ปีข้างหน้านี้

    นายจักรมณฑ์ มั่นใจว่าภายในอายุของรัฐบาล 1 ปี จะสามารถวางรากฐานนิคมฯกำจัดขยะอุตสาหกรรมนี้ได้ เพื่อให้รัฐบาลต่อไปสานต่อให้สำเร็จ

    "แม้ว่าการตั้งนิคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจะต้องใช้พื้นที่มาก และเสี่ยงต่อการต่อต้านของชุมชน แต่ก็มองว่ามีหลายพื้นที่ที่สามารถจะตั้งนิคมฯนี้ได้ เช่น พื้นที่เหมืองแร่เก่าที่หยุดการผลิตไปแล้ว ที่ดินป่าเสื่อมโทรม และที่ดินของส่วนราชการขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยมองว่าแนวโน้มการรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้สินค้ารีไซเคิลในระดับโลก ทำให้มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าหลายชนิดจะต้องใช้วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิล เช่น เปลือกตู้เย็นที่จะส่งเข้าสหภาพยุโรป จะต้องผลิตจากวัสดุรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 60% เป็นต้น ทำให้ธุรกิจการรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว" นายจักรมณฑ์ กล่าว

    คาดเปิดเออีซีดันอุตฯไทย-ผลิตรถทะลุ3ล้านคัน

    สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมในขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมของไทย ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยเฉพาะภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะเป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาขยายการลงทุนในไทย และการออกไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนของผู้ประกอบการไทย มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน และแรงงานทักษะได้คล่องตัวขึ้น ทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมมีทิศทางที่ดี

    อุตสาหกรรมหลักๆ ที่ได้ประโยชน์ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าภายใน 2-3 ปี จะเพิ่มยอดการผลิตได้ถึง 3 ล้าคัน/ปี จากปัจจุบันที่ผลิตได้ประมาณ 2 ล้านคัน/ปี รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ที่ไทยมีศักยภาพสูงมาก และหลายสินค้าก็มียอดการผลิตอันดับต้นๆ ของโลก เช่น น้ำตาลส่งออกอันดับ 2 ของโลก ทูน่าอันดับ 1 ของโลก รวมทั้งยังเป็นผู้ผลิตไก่ และกุ้ง รายใหญ่ของโลก

    ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไทยจะยังคงรักษาฐานการผลิตฮาร์ดิสไดรฟ์อันดับ 1 ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวที่ดี แม้ว่าในปีนี้จะส่งออกลดลงอย่างมาก

    "จะเข้าไปเสริมการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศ โดยจะเข้าไปอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนให้มากที่สุด เพราะในอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง เนื่องจากประเทศคู่แข่งในอาเซียนต่างก็ทุ่มเทในการดึงอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้าประเทศของตัวเอง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะเน้นในอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างเต็มที่ และรักษาฐานไม่ให้ย้ายฐานจากประเทศไทยไปที่อื่น"

    เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขยายฐานลงทุน

    นอกจากนี้ นายจักรมณฑ์ กล่าวว่าจะเร่งผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ โดยคาดว่ารูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ จะเป็นการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในวงกว้าง อาจจะทั้งอำเภอ หรือจังหวัด แต่จะมีการกำหนดประเภทของธุรกิจที่จะได้รับสิทธิพิเศษ ทั้งภาคการผลิตและบริการ

    “ทำได้ง่ายโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย หรือออกกฎหมายฉบับใหม่ เพียงแค่รัฐบาลประกาศเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และให้แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องออกกฎกระทรวงอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ โดย บีโอไอ ก็มีกฎหมายที่จะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอยู่แล้ว ด้านสาธารณูปโภคต่างๆ รัฐบาลก็สามารถสั่งการให้หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจเข้าไปลงทุนได้ทันที ซึ่งหากเป็นในแนวทางนี้ก็จะสามารถดำเนินการได้ภายใน 1 ปี” นายจักรมณฑ์ กล่าว

    Tags : จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช • กรุงเทพธุรกิจ • กระทรวงอุตสาหกรรม • สิ่งแวดล้อม • ขยะ • อิเล็กทรอนิกส์ • เศรษฐกิจพิเศษ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้