เสี่ยปู่-เสี่ยยักษ์-เสี่ยป๋อง นักลงทุนรายใหญ่แห่เข้าถือหุ้นกลุ่มช.การช่าง ยันถือหุ้นระยะยาว สำรวจการลงทุนนักลงทุนรายใหญ่ พบว่ากลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ได้เข้าถือหุ้นบริษัท ช.การช่าง (CK) โดย ณ วันปิดสมุดทะเบียนวันที่ 9 ก.ย. 2557 พบนายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือเสี่ยปู่ เข้าถือหุ้น 12 ล้านหุ้น หรือ 0.71%, นายวิชัย วชิรพงศ์ (เสี่ยยักษ์) เข้าถือหุ้น 11.74 ล้านหุ้น หรือ 0.69%, นายวัชระ แก้วสว่าง (เสี่ยป๋อง) เข้าถือหุ้น 8.80 ล้านหุ้น หรือ 0.52% เมื่อเทียบกับวันปิดสมุดทะเบียนวันที่ 12 พ.ค.2557 นายวัชระ แก้วสว่าง นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า การเข้าลงทุนในหุ้นบริษัท ช.การช่าง เพราะมองว่าเป็นหุ้นที่มีอนาคตอีกยาวไกล แม้ว่าปัจจุบันผลประกอบการยังไม่มีกำไร แต่เชื่อว่าเมื่อโครงการรถไฟฟ้าเสร็จอีก 2 ปีข้างหน้าทุกอย่างจะมีความชัดเจน ถือว่าเป็นสิ่งที่รอได้ ผมมองว่าหุ้นบีเอ็มซีแอล เป็นหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตจากนี้ไป 2-3 ปีข้างหน้า และมองว่าน่าจะเป็นหุ้นที่ปลอดภัย และถือเป็นหุ้นพื้นฐานดี เขากล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนระยะยาว หากพื้นฐานไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง และเป็นตามแผนที่ผู้บริหารบอกว่าอีก 2 ปีข้างหน้าบริษัทจะมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการเติบโตอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำบริษัทโฆษณา ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น รวมทั้งการเข้าร่วมประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ก่อนเข้ามาลงทุนได้มีการเข้าไปเจอกับผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ช.การช่าง เพื่อสอบถามข้อมูลหลายครั้ง แต่พึ่งมาตัดสินใจซื้อหุ้นในปีนี้ เพราะมองเห็นการเติบโตในอนาคต “ก่อนเข้าไปลงทุน ได้เข้าพบกับผู้บริหารกลุ่มช.การช่าง โดยนัดกับกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่หลายคน และได้ถามเกี่ยวกับแผนธุรกิจของบริษัทว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เนื่องจากต้องการลงทุนระยะยาว” ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ช.การช่าง กล่าวว่า ปี 2560 ผลประกอบการของบริษัทจะเปลี่ยนจากตัวเลขสีแดง กลายเป็นตัวเลขสีเขียว แล้วหลังจากนั้นตัวเลขจะไม่กลับมาเป็นสีแดงอีกแล้ว "กรณีที่หุ้นบริษัทมีนักลงทุนรายใหญ่ถือนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดี แสดงว่านักลงทุนเหล่านั้นเห็นภาพธุรกิจดี เชื่อว่าต้องมีการวิเคราะห์ธุรกิจมาอย่างดีแล้วว่าหุ้นน่าลงทุน ถ้าเป็นผมก็คงทำแบบนักลงทุนเหล่านั้น ที่เข้ามาถือหุ้นบริษัท ตอนนี้เพราะว่าราคาหุ้นยังไม่แพงเกินไป "นายสมบัติกล่าว ก่อนหน้านี้ นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือเสี่ยปู่ ได้ยอมรับว่าเข้าไปลงทุนหุ้นบริษัทรถไฟฟ้าใต้ดินเช่นกัน การเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัท ช.การช่าง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่าราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนม.ค.2557 ราคาหุ้นอยู่ที่ 14.40 บาท, เดือนก.พ. ราคาปิดการซื้อขายที่ 16.40 บาท, เดือนมี.ค. ปิดการซื้อขายที่ 16.30 บาท, เดือนเม.ย. ราคาหุ้นอยู่ที่ 18.50 บาท ทั้งนี้ เดือนพ.ค. ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 22.10 บาท และเดือนมิ.ย. ราคาหุ้นปิดการซื้อขายที่ 21.60 บาท และในเดือนก.ค. ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ปิดที่ 25 บาท เดือนส.ค. ราคาหุ้นอยู่ที่ 27 บาท เดือนก.ย. ราคาหุ้นปิดการซื้อขาย 28.25 บาท และเดือนต.ค. ราคาหุ้นปรับตัวลดลงเล็กน้อย ปิดการซื้อขายที่ 24.90 บาท อย่างไรก็ตาม รายชื่อนักลงทุนรายใหญ่ ยังไม่ปรากฏในรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทในกลุ่มเดียวกัน อย่างบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ เนื่องจากยังไม่อัพเดทวันปิดสมุดทะเบียน นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยได้ปรับมูลค่าที่เหมาะสมบริษัท ช.การช่าง เพิ่มขึ้น และยังคงแนะนำซื้อ เนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานควรจะเริ่มขึ้นในปี 2558 ซึ่งจะเพิ่มแบ็คล็อก และกำไรของบริษัทได้มาก, การลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานจะสร้างมูลค่าให้บริษัท และคาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส 3/2557 จะออกมาดี และมีอัพไซด์ 27% จากราคาปัจจุบัน ทั้งนี้ งานในมือปัจจุบันของบริษัทอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมกับโครงการที่มูลค่า 2.47 หมื่นล้านบาท ที่กำลังรอเซ็นต์สัญญาจะทำให้บริษัทมีแบ็คล็อกทั้งหมด 1.25 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับ 3 เท่าของรายได้จากการก่อสร้างของบริษัทในปี 2557 อีกทั้งโครงการภาครัฐที่มีศักยภาพอีกหลายโครงการจะเพิ่มให้มีการประมูลในปี 2558 บริษัท ช.การช่าง จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 3/2557 เท่ากับ 1.29 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และ 313% จากไตรมาสที่แล้ว จากกำไรหลังภาษีจากการขายหุ้นบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ ได้เงินมา 808 ล้านบาท, รายได้จากปันผลที่สูงขึ้นจากบริษัท ทีทีดับบลิว (TTW) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) เนื่องจากผลของฤดูกาลมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนั้นมูลค่าของบริษัท ช.การช่าง ยังอิงอยู่กับการลงทุนในหลายธุรกิจ ซึ่งล้วนแต่มีแนวโน้มในเชิงบวก ซึ่งธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้ให้ปันผลในระดับสูง และกำไรจากส่วนที่ถือหุ้นมากแล้ว แต่ธุรกิจเหล่านั้นจะมีมูลค่าแฝงต่อบริษัทอีกด้วย โดยคาดว่า บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จะถึงจุดคุ้มทุนในปี 2560 หลังจากรถไฟใต้ดินสายสีม่วงเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ Tags : นักลงทุนรายใหญ่ • เสี่ยปู่ • เสี่ยยักษ์ • เสี่ยป๋อง • บมจ.ช.การช่าง