ไมโครซอฟท์เผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยของ Windows 10 หลายอย่าง เริ่มจากประเด็นหลักคือระบบล็อกอินโดยใช้สองปัจจัย รองรับการล็อกอินสองปัจจัย (two-factor authentication) มาในตัว โดยปัจจัยที่หนึ่งคือตัวฮาร์ดแวร์ที่รัน Windows 10 เอง และปัจจัยที่สองสามารถเลือกได้ว่าจะเป็น PIN หรือ biometric ผู้ใช้สามารถตั้งค่าให้โทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยการยืนยันตัวตนได้ และสามารถปลดล็อค Windows 10 ได้อัตโนมัติถ้ามือถือวางอยู่ใกล้เคียง (แล้วต่อ Wi-Fi หรือ Bluetooth) หลักฐานการยืนยันตัวตน (credential) ใช้ระบบ public/private key ตามมาตรฐาน แต่เลือกได้ว่าจะใช้คีย์ใหม่ที่ Windows สร้างให้ หรือถ้าองค์กรมีระบบใบรับรอง PKI อยู่แล้ว ก็สามารถใช้ของเดิมได้เลย ซอฟต์แวร์และบริการของไมโครซอฟท์ ได้แก่ Active Directory, Azure Active Directory, Microsoft Account จะรองรับระบบล็อกอินสองปัจจัยในตัว และไมโครซอฟท์ตั้งใจเปิดให้แพลตฟอร์มอื่นๆ ใช้ด้วย ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยอื่นๆ ในกระบวนการตรวจสอบตัวตน เมื่อยืนยันตัวตนได้แล้ว ระบบจะสร้าง token เฉพาะเซสชันให้ผู้ใช้ ซึ่งระบบเดิมจะเก็บ token ไว้ในหน่วยความจำปกติ และสุ่มเสี่ยงกับการโดนแฮ็กถ้าเกิดเคอร์เนลของระบบปฏิบัติการโดนแฮ็กมาก่อนหน้า ใน Windows 10 จะย้าย token ไปเก็บไว้ใน secure container เพื่อความปลอดภัยที่ดีขึ้น Windows 10 จะช่วยป้องกันข้อมูลสูญหาย (data loss prevention) โดยแยกพื้นที่เก็บข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลขององค์กรออกจากกันด้วยระบบ container ข้อดีของแนวทางนี้คือผู้ใช้ไม่ต้องสลับโหมดให้สับสน และเลือกเข้ารหัสเฉพาะข้อมูลขององค์กรได้ เพิ่มการควบคุมความปลอดภัยเมื่อต่อ VPN ให้ละเอียดกว่าเดิม เช่น เลือกแอพที่อนุญาตให้รันได้เมื่อต่อ VPN และแอดมินสามารถตั้งค่าได้อย่างละเอียดถึงระดับพอร์ตหรือไอพี ป้องกันความเสี่ยงจากการติดไวรัสหรือมัลแวร์ โดยกำหนดให้รันเฉพาะแอพที่ถูก sign โดยระบบของไมโครซอฟท์เท่านั้น หรือจะ sign โดยระบบขององค์กรก็ได้ (ฟีเจอร์นี้ครอบคลุมถึงแอพเดสก์ท็อปแบบเดิมด้วย) ที่มา - Microsoft Windows 10, Operating System, Microsoft, Security