นิด้าเผยถือหุ้นซีจีระดับ 5 ดาวเสี่ยงต่ำ ผลวิจัยระบุช่วงวิกฤติหุ้นร่วงน้อย นิด้าเผยผลวิจัย บริษัทจดทะเบียนที่มีซีจีสูงราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงน้อยกว่าบริษัทที่มีซีจีต่ำ โดยเฉพาะตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ ด้านสถาบันกรรมการบริษัทไทยเผยผลสำรวจ การกำกับกำดูแลกิจการปี 2557 คะแนนลดเหลือ 72 %จากปีก่อน 78% เหตุปรับหลักเกณฑ์ตามอาเซียนซีจีสกอร์คลาส ชี้คะแนนหมวดการรับผิดชอบคณะกรรมการ และการคำนึงถึงส่วนได้ส่วนเสียน่าห่วง นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ตลาดการเงิน บริษัท ทุนภัทร จำกัด ในฐานะผู้วิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธรรมาภิบาล (CG) ต่อราคาหุ้นจากการศึกษาบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า บริษัทที่มีคะแนนซีจีของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ระดับ 5 ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดในช่วงที่เกิดวิกฤติต่างๆ เนื่องจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นกับพื้นฐานของบริษัท ทำให้โอกาสการเทขายหุ้นจะน้อยกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ที่ไม่ถูกจัดอันดับ ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้คะแนนระดับ 5 อยู่ประมาณ 50 บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ใน เซ็ท50 ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ดัชนีหุ้นไทยโดยรวมปรับลดลงกว่า 30% ซึ่งหุ้นที่ไม่ถูกจัดอันดับราคาปรับตัวลดลงมากกว่า 30% แต่บริษัทที่มีคะแนนซีจีระดับ 5 ปรับตัวลดลงเพียง 10% เท่านั้น "การที่บริษัทจดทะเบียน มีซีจีในระดับสูงสุด เท่ากับว่าเป็น Defensive Stock นักลงทุน โดยเฉพาะสถาบันทั้งในและต่างประเทศจะมีความเชื่อมั่นกับหุ้นกลุ่มเหล่านี้ในระดับสูง พอเกิดวิกฤติโอกาสในการเทขายหุ้นก็จะน้อย ซึ่งสิ่งที่อยากแนะนำ คือ ให้ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ทำความเข้าใจกับบจ.ให้มากขึ้น เกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาบริษัทให้มีคะแนนซีจีให้สูงสุด ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับไปสู่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยปริยาย และจะเป็นการยกระดับตลาดทุนไทยให้มีความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ" นายจิติพล กล่าว นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี เปิดเผยว่า ผลการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2557 มีคะแนนการสำรวจปรับตัวลดลงอยู่ที่ 72% จากปีก่อนที่ 78% เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการประเมินใหม่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้นทำให้คะแนนในบางหมวดปรับตัวลดลง "การสำรวจความคิดเห็นในปีนี้พบว่า มีคะแนนลดลงจากปีก่อน เหตุผลหลักจากการเพิ่มความเข้มข้นในการประเมินโดยใช้หลักเกณฑ์ของ อาเซียน ซีจี สกอร์คลาส จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในคำถามจากเดิมที่กำหนดแบบสอบถามที่ 140 ข้อมาอยู่ที่ 240 ข้อ โดย 2 หมวดที่พบว่ามีคะแนนต่ำได้แก่ หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการคะแนนประเมิน 63% และหมวดคำนึงถึงบทบาทผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้คะแนน 62% ซึ่งเราต้องเร่งการพัฒนาในส่วนนี้ให้มากขึ้น ส่วนหมวดที่ได้คะแนนค่อนข้างดีคือ สิทธิของผู้ถือหุ้น ที่ 89% จากปีก่อน 87% การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม 91% และการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส 77%" โดยเกณฑ์เพิ่มขึ้น มีหลายส่วนโดยเฉพาะในบทผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และคณะกรรมการบริษัท อาทิเช่น การจัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคม การจัดทำนโยบายและเปิดเผยถึงสิ่งที่ได้ปฏิบัติในเรื่องสวัสดิการความปลอดภัย การฝึกอบรมพนักงาน คู่ค้า และเจ้าหน้าที่การเปิดเผยข้อมูลการถือหุ้นของกรรมการและผู้บริหารทั้งทางตรงและทางอ้อม การเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีว่า ได้มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือไม่อย่างไร การเปิดเผยข้อมูลการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นของบริษัทของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง โดยแสดงจำนวนหุ้นที่ถือ ณ ต้นปี สิ้นปี และที่มีการซื้อขายระหว่างปีไว้ในรายงานประจำปี การจัดให้มีนโยบายค่าตอบแทนพนักงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว การกำหนดนโยบายจำกัดจำนวนปีในการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระ ผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวต่อว่า เมื่อตรวจลงไปในรายละเอียดในบริษัทที่เข้าร่วมประเมินจะพบว่าปีนี้มีที่เข้าร่วมประเมินทั้งสิ้น 550 บริษัทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ 526 บริษัท พบว่า บริษัทที่มีคะแนนการประเมินแบบดีเลิศในระดับที่ 5 อยู่ที่ 29 บริษัทคิดเป็น 5%ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 87 บริษัท หรือ 17% ของบริษัททั้งหมด บริษัทที่ได้รับการประเมิน 4 ดาว มีจำนวนลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ 108 บริษัท หรือคิดเป็น 20% จากปีก่อน 166 บริษัท หรือ 31% ระดับ 3 ดาวปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 171 บริษัท หรือ 31% จากปีก่อน 152 บริษัท หรือ 29% และระดับ 2 ดาว หรือต่ำกว่า 2 ดาว ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 242 บริษัท คิดเป็น 44 % เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 121 บริษัท หรือ 23% ทั้งนี้ บริษัทที่มีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีคะแนนที่ดี อยู่ในระดับ 5 ดาว ที่ 27 บริษัท 4 ดาวที่ 11 บริษัท บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคป 3000 - 9,999 ล้านบาท อยู่ในระดับ 5 ดาว 1 บริษัท ระดับ 4 ดาว 28 บริษัท บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคป 1,000 - 2,999 ล้านบาท อยู่ในระดับ 4 ดาว 9 บริษัท และระดับ 3 ดาว 23 บริษัท และบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท อยู่ในระดับ 4 ดาว 9 บริษัท และระดับ 3 ดาว 17 บริษัท นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า การประเมินในครั้งนี้แม้คะแนนจะปรับตัวลดลง แต่ก็เป็นผลจากการเพิ่มหลักเกณฑ์ที่เป็นสากลมาก ทำให้การปรับลดจาก 78 % เหลือ 72 % เป็นสิ่งที่ไม่น่ากังวล ซึ่งในอนาคตตลาดหลักทรัพย์ก็จะนำข้อด้อยต่างๆ มาพิจารณาและช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถยกพื้นฐานของบริษัทให้เทียบเท่าระดับอาเซียนให้ได้ Tags : นิด้า • เกศรา มัญชุศรี • บัณฑิต นิจถาวร • ตลท. • จิติพล พฤกษาเมธานันท์