อธิบดีกรมสรรพากร คาด ในปีงบ 58 จะมีผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce เข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้อง 20-30% นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2558 นี้ จะมีผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มธุรกิจพาณิชย์อิเลกทรอนิกส์ (E-commerce) เข้าสู่ระบบการชำระภาษีอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30%ของจำนวนผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการชำระภาษีจำนวนประมาณ 9 หมื่นราย ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ในระหว่างนี้ กรมสรรพากร ได้พยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางการชำระภาษี และเชิญชวนให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเข้าสู่ระบบการชำระภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถดำเนินธุรกิจในโลกออนไลน์ ได้อย่างถูกต้องและสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่า จะเกิดข้อผิดพลาดหรือจะต้องเสียภาษีย้อนหลัง นายประสงค์ ยังได้ยกตัวอย่างว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมา กรมสรรพกร ได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจ E-Commerce จำนวน 1,300 รายเข้าตรวจสอบการชำระภาษี ซึ่งพบความผิดพลาดในการชำระภาษี ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียค่าเบี้ยปรับเงินเพิ่มเป็นเงินเกือบ 100 ล้านบาท ปัจจุบันยังเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 600-700 ราย ซึ่งตนเห็นว่า ไม่เป็นสัญญาณที่ดี เพราะไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการชำระภาษีเพิ่มขึ้น "เราต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้ มีการเติบโตอย่างมั่นคง หากต้องเสียภาษีจำนวนมาก ก็จะขาดความมั่นใจในการประกอบธุรกิจ เราจึงสนับสนุนวิธีการเสียภาษีที่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการรายหนึ่ง มีรายได้ปีละ 2 ล้านบาทต่อปี มีกำไรปีละ 1 แสน โดยภาษีย้อนหลัง 3 ปีบวกเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 7 แสนบาท ถ้าเสียภาษีจำนวนขนาดนี้ ก็จะขาดกำลังใจ แต่ถ้าเข้าระบบถูกต้อง ก็จะเสียภาษีในจำนวนที่น้อยกว่ามาก" นายประสงค์ กล่าว นอกจากนี้ นายประสงค์ ยังย้ำด้วยว่า ในจำนวนเบี้ยปรับของการเลี่ยงภาษีนี้ คือ 200% ของภาษี บวกเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนหรือ 18%ต่อปี ในปี 2556 มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในระบบ E-Commerce จำนวนมากถึง 9 แสนราย คิดเป็น 58% ของผู้ประกอบการทั้งหมด 1.55 แสนราย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 7.5 แสนล้านบาท โดยมูลค่าดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปี 2555 ในจำนวนผู้ประกอบการ 9 แสนรายดังกล่าว เป็นผู้ประกอบการรายย่อยประมาณ 1.45 แสนราย ในจำนวนนี้มี 9 หมื่นรายที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ส่วนที่เหลือเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องแล้ว "ผู้ประกอบการทุกรายนั้น เรามีข้อมูลหมด เพราะเราประสานกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับข้อมูลการโอนเงินซื้อขาย ถ้าเราใส่ตามกติกา ก็คงไม่ได้อยู่กันแบบปรองดอง แต่เราต้องการอยู่แบบส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจเติบโต และมีทัศนคติในแง่บวก บอกให้เข้าใจถึงวิธีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ธุรกิจเหล่านี้ ก็จะมีการเติบโตที่ดี ไม่ต้องเสียภาษีแบบมีเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ซึ่งจะกระทบสภาพคล่องในการทำธุรกิจ" เขากล่าว Tags : ประสงค์ พูนธเนศ • สรรพากร • จ่ายภาษี • ซื้อขายออนไลน์