สัมภาษณ์พิเศษ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" เปิดแผนกระตุ้นศก.ปีหน้า ดันลงทุนรถไฟฟ้า-เศรษฐกิจดิจิทัล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษ"เครือเนชั่น" ถึงการบริหารเศรษฐกิจและการผลักดันงานสำคัญๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลชุดนี้ "แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ดังนั้นประเทศไทยจะไปหวังพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกมากไม่ได้ " ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษ"เครือเนชั่น" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่าการส่งออกก็จะไม่ขยายตัวมากแต่ก็จะ"ไม่ติดลบ" เพราะปัจจุบันนโยบายเศรษฐกิจจะต้องเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้เศรษฐกิจของเรามีข้อดีในเรื่องการแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจภายในดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเริ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ (ต.ค. - ธ.ค.) เนื่องจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาจากเงินลงทุนภาครัฐที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจน้อยคือในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ไม่มีเม็ดเงินลงทุนเลยเศรษฐกิจในปีนี้จึงไม่ขยายตัวเท่าที่ควร เน้นจ้างงาน-สร้างงานต่างจังหวัด “ไตรมาสสุดท้ายของปีรัฐบาลต้องจั๊มสตาร์ทเศรษฐกิจ โดยเน้นไปที่การจ้างงานและการสร้างงานในพื้นที่ต่างจังหวัด ถือว่าสำคัญมากในการเพิ่มรายได้ให้คนในชนบท เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรก็สามารถมาทำงานก่อสร้างในโครงการที่มีงบประมาณลงไปได้” สำหรับเป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลคือ ทำให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว หลังจากที่รัฐบาลมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ก็จะมีการเร่งรัดการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าใน กทม.และรถไฟชานเมือง ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังอยู่ในระหว่างการปรับแผนการลงทุน และเร่งรัดการเปิดประมูลโครงการต่างๆให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งจะมีวิธีที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้ "จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน" (infrastructure fund) เพื่อให้เกิดการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ข้อดีของการเร่งรัดการเปิดประมูลโครงการ คือทำให้โครงการต่างๆมีความรวดเร็วมากขึ้น ประชาชนได้ใช้บริการขนส่งมวลชนในระยะเวลาที่เร็วขึ้น การที่เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าได้จะทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆ เช่น ภาคเอกชนที่มีโครงการจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก็จะมีการเร่งโครงการให้เร็วขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างดี เร่งลงสร้างรถไฟฟ้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ในการลงทุนรถไฟความเร็วสูง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มองว่าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย การตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะก่อสร้างเส้นทางใด จะต้องดูความต้องการของประชาชนและความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง เช่น เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ - โคราช ควรจะสร้างเพื่อรองรับการคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯและภาคอีสาน ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งเส้นทางกรุงเทพ - ระยอง ก็มีความเหมาะสมที่จะลงทุนก่อสร้างได้เนื่องจากเส้นทางกรุงเทพฯ - ระยอง มีเฉพาะเส้นทางคมนาคมทางถนนเท่านั้น ควรจะมีการเพิ่มเส้นคมนาคมขนส่งในระบบรางเพิ่มเข้ามาด้วย เร่งสร้างบรอดแบรนด์แห่งชาติ ส่วนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลจะวางรากฐานเรื่องนี้ให้มีความเห็นชัดเจน โดยเรื่องที่จะต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก คือการทำบรอดแบรนด์แห่งชาติ (National broadband ) เพราะเอกชนสามารถลงทุนต่อยอดจากสิ่งที่รัฐบาลทำได้ จากนั้นจะเริ่มรวบรวมความคิดเห็นจากภาคเอกชน อุตสาหกรรมต่างๆและสถานศึกษาว่าต้องการให้รัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในทิศทางใด อะไรบ้างที่อยากได้ ซึ่งเมื่อเดินหน้าเรื่องนี้ในระยะเวลา 1 ปี ก็เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลต่อไปจะต้องมาสานต่อนโยบายนี้ “ปัญหาขณะนี้คือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไม่มีอำนาจในควบคุมดูแล หรือกำหนดนโยบายให้กับองค์กรอิสระ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาไอซีทีและดิจิทัล องค์กรต่างๆเดินนโยบายของตนเองอย่างไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนั้น ไทยไม่มีการจัดทำบรอดแบรนด์แห่งชาติ ที่จะสร้างประชาชนจะใช้งานได้อย่างสะดวกและประหยัด ปัจจุบันมีแต่บรอดแบรนด์ของเอกชน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว ดันกม.เข้าสนช.หวังปี58ขับเคลื่อน หลังจากกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญัติแห่งชาติ (สนช.) ตนอยากให้ขั้นตอนทางกฎหมายแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อที่จะให้ในปี 2558 มีเวลาขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ในระยะเวลา 1 ปี หลังจากนี้จะมีการ"ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ" ขึ้นมาขับเคลื่อน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจากคณะกรรมการระดับชาติ ต้องสั่งการและขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 6 ด้านใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งการบริหารองค์กร การสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ การเตรียมคนและให้ทุนการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต รวมทั้งปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์ การให้บริการของหน่วยงานราชการให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อรองรับการทำธุรกรรมและส่งผ่านข้อมูลทางระบบดิจิทัลของภาคเอกชนที่จะขับเคลื่อนผ่านระบบดิจิทัลทุกอย่าง เมื่อนโยบายหลักทั้ง 6 ด้านประกาศใช้ไปแล้วจะต้องมีหน่วยงานในการขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติซึ่งกระทรวงไอซีจะต้องทำหน้าที่หลักในส่วนนี้ด้วยจึงต้องมีการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ หวังป้องแฮกข้อมูล-สอบเว็บไซต์ การพัฒนาเรื่องดิจิทัลจะมีกฎหมายรองรับอีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายที่จะสร้างอำนาจในการต่อต้านการถูกโจรกรรมข้อมูลคอมพิวเตอร์ (แฮคเกอร์) ที่ประเทศไทยถือว่ามีช่องโหว่ตรงนี้มาก ต่อไปหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่ตรงนี้ ต้องมารวมตัวกัน นอกจากต่อต้านการถูกแฮกข้อมูลแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบเว็บไซต์ ข้อมูลที่เป็นภัยต่อประเทศและกระทบกับความมั่นคงด้วย ในอนาคตหน่วยปราบปรามอาชญากรรมทางดิจิทัล จะต้องอยู่ร่วมกันและเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงในการทำงาน “ต้องลงทุนเรื่องนี้และใส่เงินเข้าไปให้เกิดความคุ้มค่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอกชน ผมไม่ห่วง แต่การลงทุนที่เกี่ยวกับสังคมตรงนี้ ที่น่าห่วง เพราะอาจเกิดความสูญเปล่าได้ เรื่องนี้ต้องมีแผนที่ชัดเจน เพื่อที่เอกชนจะเข้ามาร่วมกันพัฒนากับภาครัฐได้” ยันภาษีที่ดิน-มรดกสมเหตุสมผล สำหรับการจัดเก็บภาษี กระทรวงการคลังได้เสนอการจัดเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆจำนวนมาก มาจากการศึกษาไว้ก่อนแล้วว่าไทยควรจะเก็บภาษีอะไรเพิ่ม หรือควรจะมีการปรับลดสิทธิประโยชน์ที่ให้กับผู้ที่มีรายได้สูง เช่น การจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย การเก็บภาษีจากทรัพย์สิน กรณีของภาษีที่ดินก็มีการศึกษาและเขียนร่างกฎหมายเสร็จมานานแล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านๆมาไม่ได้หยิบขึ้นมาพิจารณา “การเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกที่จะออกมาสมเหตุสมผล ตอนที่กระทรวงการคลังเสนอมาเป็นอัตราที่สูงกว่านี้ แต่ก็ให้ปรับลดลงเพื่อให้ทุกคนยอมรับได้ ส่วนใครจะหลบเลี่ยงก็คงว่าไม่ได้เพราะขณะนี้กฎหมายยังไม่ออกมา ถึงหลบเลี่ยงวันนี้ รุ่นลูกรุ่นหลานก็จะอาจจะถูกเก็บภาษีในส่วนนั้นอยู่ดี” ส่วนการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก7% เป็น 10% ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาว่ามีความจำเป็นจริงๆหรือไม่ หากขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจริง รัฐบาลต้องมีแผนการใช้เงิน หรือมีเหตุผลที่ต้องเก็บเพิ่มขึ้น หากพิจารณาจากภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50% หากพิจารณาจากเหตุผลนี้เราก็อาจไม่ต้องปรับขึ้นแวต Tags : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล • สัมภาษณ์พิเศษ • ดิจิทัล • รถไฟฟ้า • เครือเนชั่น • ส่งออก • กระตุ้นเศรษฐกิจ