"ประกันไทย" รุกซีแอลเอ็มวีเพิ่มเงินกองทุนเร่งควบรวม กลุ่มทิพยฯ รอแผนประกันชีวิตเข้าตลาดหุ้นก่อนลุยเต็มสูบ ประกันไทยบุกตลาดซีแอลเอ็มวี นำโดยประกันภัยที่ไทยมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะรถยนต์ กลุ่มทิพยฯรอแผนส่งประกันชีวิตเข้าตลาดหุ้นก่อนปักธงชัดเจน ด้านคปภ.เร่งกรุยทางและเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจไทยแกร่งพอรุกต่างประเทศ ชี้ธุรกิจประกันของไทยยังเป็นที่สนใจของต่างชาติ ด้านสมาคมประกันวินาศภัยมองการปรับเกณฑ์เพิ่มเงินกองทุนกดดันให้เกิดการควบรวมกิจการในอนาคต การปรับตัวของธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยของไทยในโจทย์ความท้าทายของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เริ่มมีให้เห็นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการมุ่งเน้นตลาดที่อยู่ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี นายนพพร บุญลาโภกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททิพยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรเข้าไปทำธุรกิจในลาวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาในชื่อ "ทิพยลาว" และคาดว่าในปี 2558 จะเริ่มเห็นทิศทางการทำธุรกิจที่ชัดเจน ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการประกันชีวิตและประกันภัยในกัมพูชาและพม่าเพิ่มเติมอีกด้วย แต่ยอมรับว่าเงินกองทุนที่ต้องใช้ในแต่ละประเทศค่อนข้างสูง “ประกันภัยจะมีโอกาสในต่างประเทศมากกว่า โดยเฉพาะในลาวที่เราใช้ประกันภัยเป็นตัวนำ เพราะลาวมีโครงการก่อสร้างที่มีความต้องการประกันภัยสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่ปริมาณรถยนต์เริ่มมีมากขึ้น ประกันภัยรถยนต์จึงจำเป็น ส่วนประกันชีวิตนั้นต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามตอนนี้เราทำที่ลาวให้สำเร็จรวมถึงรอให้แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยก่อน” นายไบรอัน สมิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอลิอันซ์ อยุธยา กล่าวว่า ตลาดไทยเป็นตลาดที่ดีและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เห็นได้จากอัตราการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันของประชากรไทยยังต่ำกว่า 2.5% เทียบกับฮ่องกงที่มีประมาณ 10% ขณะที่ประชากรไทยมีการประกันชีวิตไม่ถึง 30% ของประชากร แต่เมื่อเออีซีเปิดจะทำให้โอกาสของไทยมากขึ้น แม้จะมีต่างชาติเข้ามา บริษัทก็ยังเชื่อว่าจะรักษาอันดับธุรกิจไว้ที่ 7-8 ของตลาดได้ ขณะเดียวกันเราเห็นโอกาสทางธุรกิจในลาว พม่าและกัมพูชา โดยเฉพาะตลาดในลาวที่มีพัฒนาการทางการเงินที่ก้าวหน้าสุด เทียบกับพม่าและกัมพูชายังพัฒนาไม่มากนัก ปัจจุบันมีบริษัทประกันชีวิตและประกันภัยในลาว และเห็นการเติบโตที่ดีในธุรกิจประกันภัย และถือเป็นอันดับต้น ๆ ของตลาดลาว ส่วนธุรกิจประกันชีวิตยังไม่ค่อยดีมาก นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ด้วยความแข็งแกร่งของไทยทางด้านรถยนต์ และยังเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ทำให้ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจหลักที่จะขยายในต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยของไทยได้ออกไปดูลู่ทางการทำธุรกิจในตลาดซีแอลเอ็มวีเป็นหลัก ขณะเดียวกันภาครัฐควรสนับสนุนกฎระเบียบต่าง ๆ และช่วยเจรจาในระดับรัฐบาล เพื่อเอื้อให้ธุรกิจ อย่างไรก็ตามมองว่าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า การควบรวมกิจการยังเป็นเรื่องที่จำเป็น “ประเทศเพื่อนบ้านล้วนกำหนดเงินกองทุนขั้นต่ำในระดับสูงเช่นพม่า 50 ล้านดอลลาร์ มาเลเซีย 1,000 ล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยยังกำหนดธุรกิจประกันภัยที่ 30 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเพิ่มเป็น 500 ล้านบาทใน 5 ปี และประกันชีวิตจะต้องมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท ทำให้การควบรวมจะต้องเกิดขึ้น แต่จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวและหาผู้ร่วมทุนใหม่หรือเพิ่มทุนได้” ส่วนเมืองไทยประกันภัยยอมรับว่าแนวทางของคปภ.ที่จะลดจำนวนธุรกิจลง ในส่วนของบริษัทคงมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มด้วยการซื้อพอร์ตมากกว่าการเข้าไปซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการที่จะมีความยุ่งยากด้านกฎระเบียบและภาษี ในส่วนของการออกไปลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) บริษัทจะขยายไปกับกลุ่มเมืองไทยและธนาคารกสิกรไทย โดยเน้นกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง(CLMV) นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยมีจำนวน 64 ราย ขณะที่ประกันชีวิตมี 24 ราย ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้เฉลี่ยปีละ 13-14% มีความแข็งแกร่งเพียงพอและเป็นที่สนใจของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรกำหนดยุทธศาสตร์การทำธุรกิจและมองหาพันธมิตรหรือคู่ค้าเพื่อเข้าไปหาโอกาสในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี Tags : ประกันไทย • ประเวช องอาจสิทธิกุล • พม่า • อานนท์ วังวสุ • คปภ. • เออีซี • ธุรกิจ • ไบรอัน สมิธ • ทิพยลาว