"ธปท."แนะผู้ประกอบการ"นำเข้า-ส่งออก"ป้องความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน แนะเลิกยึดติด"เฟด"ขึ้นดอกเบี้ยดันเงินไหลออก นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยากแนะนำให้ผู้ประกอบการทั้งในส่วนของผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(เฮดจิ้ง) เพราะแนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังมีความผันผวนทั้งในทิศทางอ่อนค่าและแข็งค่าสลับกันได้ “ไม่อยากให้คิดว่าถ้าเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) เริ่มปรับดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติ แล้วจะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก เพราะอย่าลืมว่าเวลานี้ทั้งบีโอเจ (ธนาคารกลางญี่ปุ่น) และ อีซีบี (ธนาคารกลางยุโรป) มีแนวโน้มว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกก็ได้ หรืออาจจะทำให้เฟดไม่ได้เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นเร็วอย่างที่คาดก็ได้”นางผ่องเพ็ญกล่าว เธอกล่าวด้วยว่า การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดนั้น โดยปกติแล้วจะดูแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศอื่นประกอบด้วย เพราะถ้าเศรษฐกิจประเทศหลักอย่าง จีน ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น ยังชะลอตัว เฟดอาจยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เช่น เนื่องจากจะมีผลต่อทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ ตลอดจนภาคการส่งออก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐได้ “การปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับสมดุล เชื่อว่าเฟดคงดูการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ประกอบกันด้วย คงไม่ได้ดูแค่เฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอย่างเดียว จึงอยากให้ทั้งผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าดูแลตัวเอง อย่าคิดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างเดียว เพราะในภาวะที่เงินบาทอ่อน ก็อาจมีบางช่วงที่แข็งค่ากลับมาได้ จึงมีโอกาสที่ค่าเงินจะเคลื่อนไหวได้ทั้ง 2 ทิศทาง ควรต้องคำนึงถึงความเสี่ยงตรงนี้ด้วย”นางผ่องเพ็ญกล่าว นอกจากนี้ถ้าดูการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของทางเฟด จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาผู้บริหารของเฟดซึ่งมีทั้งในส่วนของคนที่สามารถโหวตได้กับคนที่ไม่สามารถโหวตได้ แต่ละคนออกมาให้ความเห็นไปคนละทาง ในขณะที่สัญญาณที่ออกมาเป็นทางการของเฟดเองก็เป็นไปในอีกทางหนึ่ง จึงเห็นได้ว่ามีสัญญาณที่ขัดแย้งในตัวเองอยู่ ตรงนี้จึงทำให้ตลาดการเงินมีความสับสน ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินด้วย ซึ่งตรงนี้ก็มีส่วนทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนเช่นกัน นางผ่องเพ็ญ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันการแลกเปลี่ยนค่าเงินโดยตรงระหว่างเงินบาทกับเงินจ๊าดของรัฐบางเมียนมาร์ว่า ธปท.อยู่ระหว่างผลักดันในเรื่องนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนไทย และเอกชนไทย เข้าไปลงทุนในประเทศพม่าได้สะดวกมากขึ้น "ปัจจุบันเราเห็นว่านักลงทุนไทย และเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในพม่าเยอะขึ้น ทำให้การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกันมีความสำคัญตามไปด้วย ซึ่งเราอยู่ระหว่างการเจรจาธนาคารพม่า เพื่อผลักดันให้เงินบาทไทย เป็นเงินสกุลหลักที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างกันได้โดยตรง จะช่วยให้เอกชนมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น" รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของประเทศพม่ายังไม่อนุญาตให้เงินบาทเป็นเงินที่ซื้อขายในพม่าได้โดยตรง มีเพียง 3 สกุลหลักเท่านั้นที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเงินพม่าได้ ได้แก่ เงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา เงินสกุลยูโร ของสหภาพยุโรป และเงินดอลลาร์ ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งนักลงทุนไทย ต้องแลกเปลี่ยนเงินบาท เป็นเงินดอลลาร์และยูโร ก่อนที่จะแลกเงินพม่าได้ ซึ่งแนวโน้มความต้องการใช้เงินจ๊าดของพม่าปรับเพิ่มขึ้นทำให้เราต้องผลักดันการแลกเปลี่ยนระหว่างกันเกิดขึ้นจริงให้ได้ อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้พยายามเจรจากับธนาคารกลางพม่า ให้อนุญาตให้เงินบาทเป็นสกุลเงินต่อไปในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราได้ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือทางการพม่า โดยอาจสามารถยืมเงินบาทจากไทยได้หากมีปัญหาในการแลกเปลี่ยน ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งนี้ที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่างธปท.กับธนาคารกลางพม่านั้นมีอย่างต่อเนื่อง โดยธปท.เคยให้ความรู้เขาในอัตราแลกเปลี่ยนของเงินพม่า ซึ่งเป็นเรื่องนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ทางการไทยพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือถ้าจะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ภาคการเงินของประเทศพม่ามีทิศทางที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีธนาคาพาณิชย์เข้าไปทำธุรกิจ อย่างธนาคารกรุงเทพก็ได้เข้าไปทำธุรกิจในพม่า ถ้าในอนาคตหากทางการพม่ามีการเปิดกว้างมากขึ้น ธปท.ก็อาจจะมีความร่วมมือกันมากกว่านี้ Tags : ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ • ธปท. • แบงก์ชาติ • ผู้ประกอบการ • นำเข้า • ส่งออก • อัตราแลกเปลี่ยน