จ่อออกบอนด์9แสนล.ล้างหนี้'จำนำ'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 20 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    จ่อออกบอนด์9แสนล.ล้างหนี้ จำนำข้าวกว่า5แสนล.-ภาคเกษตรอื่น2แสนล. 'ปรีดิยาธร'ชี้เป็นนโยบายเสียหายมากที่สุดในโลก

    รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตรระยะยาวล้างหนี้ที่เกิดจากนโยบายรับจำนำข้าวและมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรประเภทอื่น โดยใช้รูปแบบเดียวกับการออกพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในการแก้ปัญหาวิกฤติการเงินปี 2540

    การรวมหนี้เป็นก้อนเดียวและออกเป็นพันธบัตรระยะยาวจะทำให้ไม่เป็นภาระกับงบประมาณในแต่ละปีมากเกินไป จนส่งผลกระทบงบประมาณด้านอื่น เนื่องจากจะมีการแบ่งจ่ายชำระหนี้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี สัมภาษณ์"เครือเนชั่น"ว่าความเสียหายจากการรับจำนำข้าวและสินค้าเกษตรอื่น คาดว่าจะมีความเสียหายรวมถึง 8-9 แสนล้านบาท

    ความเสียหายจากการจำนำสินค้าเกษตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การตรวจสอบการปิดบัญชีในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรทุกชนิดของรัฐบาลที่ผ่านๆมาจนถึงปี 2553 พบขาดทุนงบประมาณ 2 แสนล้านบาท และความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554/2555 และปีการผลิต 2555/2556 รัฐบาลขาดทุนจากการรับจำนำข้าวสูงถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขขาดทุนดังกล่าวยังไม่รวมการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวในปี 2556/2557

    "หากเรารวมยอดการขาดทุนจากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรจนถึงปีการผลิต2556/2557 อาจจะรวมความเสียหายถึง 8 -9 แสนล้านบาท"

    รอผลสอบก่อนสรุปความเสียหาย

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจนในโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2556/2557 กำลังรอผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐเกี่ยวกับข้าวที่มีความเสียหายและหายไปจากสต็อก

    "ความเสียหายที่เกิดขึ้นถึง 8 - 9 แสนล้านบาทถือว่าเป็นนโยบายที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศมากที่สุดและในโลกยังไม่มีนโยบายอะไรที่สร้างความเสียหายได้ถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯด้วยงบประมาณเดียว (one single policy) ซึ่งในเรื่องนี้ เคยทักท้วงและขอให้รัฐบาลในขณะนั้น ทบทวนและยกเลิกนโยบายนี้"

    ออกพันธบัตร30ปีล้างหนี้

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาการขาดทุนจากการรับจำนำข้าวและสินค้าเกษตรในอดีตรัฐบาลจะใช้วิธีการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหรกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายหรือใช้สภาพคล่องของธนาคารในการแบกรับภาวะขาดทุนไปก่อนและรัฐบาลจะทยอยตั้งวงเงินใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยในระยะเวลา 5 ปี

    "คำนวณแล้วว่าหากรัฐบาลจะจ่ายหนี้คืนพร้อมภาระดอกเบี้ยภายใน 5 ปีจะต้องตั้งวงเงินไว้ประมาณปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่างบประมาณในการลงทุนภาครัฐที่มีอยู่ปีละ 4 แสนล้านบาทจะหายไปกว่า 50% และถือเป็นข้อจำกัดในการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ"

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าจึงต้องยืดระยะเวลาในการชำระหนี้เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณมากเกินไปด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลและเสนอขายให้กับประชาชนในรูปแบบเดียวกับที่เคยใช้แก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในอดีต

    “แนวคิดในเรื่องการบริหารหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวจะใช้หลักการเดียวกับการล้างหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลมาใช้หนี้โดยจะขายให้กับประชาชนโดยให้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่จะกู้เงินตกอยู่กับประชาชนผู้ออมเงิน ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งวิธีนี้ในระยะยาว - ระยะกลางก็จะไม่เป็นภาระต่องบประมาณมากนักโดยจะมีการออกพันธบัตรระยะไถ่ถอน 30 ปี แต่ก่อนจะดำเนินการได้ต้องรอผลที่ออกมากจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบสต็อกข้าว เพื่อให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯสรุปตัวเลขซึ่งต้องรวมข้าวที่เสียและหายไปจากสต็อกเพื่อให้ได้ที่แน่นอน เพราะการปิดบัญชีต้องใช้ตัวเลขจริง ไม่อย่างนั้นไม่มีหลักฐานพอที่จะออกพันธบัตรขายได้”ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

    'สมหมาย'สั่งประเมินความเสียหาย

    นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าแนวทางที่น่าจะทำได้ มีทั้งการออกพันธบัตรระยะสั้น และระยะยาว ผสมกันไปหลายอายุ คงจะไม่ออกพันธบัตรระยะยาวในหนี้ก้อนเดียวทั้งหมด

    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่านายสมหมาย ได้สั่งการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินแผนการชำระหนี้โครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้งจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นผู้กู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว และสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องตั้งงบประมาณมาชำระดอกเบี้ย และกรณีที่เกิดความเสียหาย จะต้องตั้งงบประมาณมาชดเชยเงินกู้

    นายสมหมาย แต่งตั้งให้นางพรรณี สถาวโรดม อดีตผู้อำนวยการสบน. และที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของนายสมหมาย มาดูแลเรื่องนี้ คาดว่าจะสรุปแผนการชำระหนี้ภายใน 1 สัปดาห์นี้

    ชี้พาณิชย์ต้องเร่งระบายข้าว

    แหล่งข่าวกล่าวว่าในหลักการของการชำระหนี้โครงการจำนำข้าวนั้น คือ กระทรวงพาณิชย์จะต้องนำเงินที่ได้จากการขายข้าวที่รับจำนำไปมาคืนเงินรัฐบาล โดยธ.ก.ส.เป็นผู้กู้ทั้งจำนวน แต่หากเกิดผลขาดทุนของโครงการ ภาระจะไปตกอยู่ที่งบประมาณที่ต้องนำมาชำระ ซึ่งการปิดบัญชีโครงการใน 3 ฤดูการผลิต เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ผลปรากฏว่า มีผลขาดทุนราว 50% ของเงินที่ใช้ในโครงการ ซึ่งเป็นภาระเงินกู้จะตกอยู่กับงบประมาณที่ต้องนำมาชำระในแต่ละปี

    "ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เรื่องงบ หรือ การออกพันธบัตร แต่อยู่ที่การระบายข้าวและการปิดบัญชี เพื่อรู้ว่าขาดทุนจากโครงการนี้เท่าไร"

    แหล่งข่าวกล่าวว่าการขาดทุนที่เกิดขึ้น ภาระต้องตกอยู่กับงบประมาณ ขณะที่การจัดวงเงินในงบประมาณรายจ่ายเพียงปีเดียวเพื่อมาชดเชยผลขาดทุนโครงการคงไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจึงมีแผนที่จะออกพันธบัตร เพื่อยืดอายุของหนี้ให้มีระยะเวลาที่สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณ ขณะเดียวกัน ก็จะต้องสอดคล้องกับสภาพคล่องของธ.ก.ส.ในแต่ละปีด้วย

    คลังรอข้อมูลระบายข้าว

    ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา กล่าวว่าขณะนี้อนุกรรมการปิดบัญชี ยังไม่สามารถนัดประชุมเพื่อปิดบัญชีโครงการดังกล่าวได้ เพราะต้องรอข้อมูลเกี่ยวกับการระบายข้าว และจำนวนข้าวในสต็อกจากกระทรวงพาณิชย์ ทั้งจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)

    ขณะนี้ยังส่งข้อมูลมาให้ไม่ครบ ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการฯยังต้องรอข้อมูลการตรวจสอบสต็อกข้าวจากชุดม.ล.ปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อคส.และอ.ต.ก.ส่งมาให้

    ข้อมูลไม่ครบ-ปิดบัญชีไม่ได้

    นางรังสรรค์ กล่าวว่าคณะอนุกรรมการฯนัดประชุมในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่เมื่อข้อมูลยังไม่พร้อม จึงยังไม่สามารถนัดประชุมได้ และ ต้องเลื่อนออกไปก่อน โดยจะพยายามนัดประชุมอนุกรรมการฯ และปิดบัญชีให้ได้ภายในเดือนต.ค.นี้ เพื่อส่งให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้พิจารณา

    "อนุกรรมการปิดบัญชีฯ ประชุมครั้งแรกเมื่อ 27 ส.ค.ที่ผ่านมานัดแรก จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถนัดประชุมเป็นครั้งที่ 2 ได้ เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบ โดยอนุกรรมการชุดนี้จะดูการปิดบัญชีเพิ่มเติมจากที่ชุดก่อนทำไว้ถึง 31 พ.ค.2556 โดยดูไปอีก 3 รอบบัญชี คือ ตั้งแต่ 1 ส.ค.-30 ก.ย.2556 เป็นวันสุดท้ายของปีงบ 2556 และตั้งแต่ 1 ต.ค.2556-22 พ.ค.2557 ก่อนการยึดอำนาจ และหลังจาก 23 พ.ค.-30 ก.ย.2557ว่า ตัวเลขในแต่ละรอบจะเป็นอย่างไร" นายรังสรรค์ กล่าว

    แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวใน 5 ฤดูการผลิต หรือ นับตั้งแต่ปีการผลิต 2554-2557 ใช้เงินไป 8.81 แสนล้านบาท โดยจะต้องเร่งปิดบัญชีให้ครบ เพื่อดูว่ามีผลขาดทุนเท่าไร เพื่อที่รัฐบาลจะพิจารณาแนวทางการชดใช้หนี้ที่ขาดทุน

    "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ต้องการให้คลังออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ข้าวดังกล่าว จะได้ไม่เป็นภาระต่อการตั้งงบประมาณใช้หนี้"

    Tags : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล • รองนายกรัฐมนตรี • เครือเนชั่น • จำนำข้าว • แสนล้าน • บอนด์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้