เตือนรัฐรอบคอบเลิก'แอลทีเอฟ'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 19 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เตือนรัฐรอบคอบเลิก "แอลทีเอฟ" ชี้กระทบการออม-ตลาดหุ้นป่วนแน่

    รายการ Ringside สังเวียนหุ้น ทางสถานีโทรทัศน์ NOW26 ตอน "จุดจบ LTF ผลกระทบต่อกองทุน" กับทัศนะของผู้บริหารกองทุนต่อนโยบายยกเลิกแอลทีเอฟของรัฐบาล

    นายสมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การเติบโตของกองทุนรวมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12% ต่อปี และเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการเงินทั้งหมด กองทุนรวมจะเติบโตในอัตรา 2 เท่าของอุตสาหกรรมการเงินอื่นๆ อาทิ ธนาคารโต 5-6% กองทุนรวมจะโตประมาณ 10-12%

    ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนเติบโตมากขึ้น มาจากความต้องการออมของประชาชน เนื่องจากปัจจุบันการออมเงินผ่านธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำกว่าการออมเงินผ่านกองทุน ขณะที่การปรับลดภาษีก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทุนรวมเติบโตด้วยเช่นกัน

    "ตอนเด็กๆ ฝากธนาคารดอกเบี้ย 10-12% ตอนนี้เหลือไม่กี่บาท ประชาชนก็เลือกที่จะลงทุนในรูปแบบอื่นที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า ทั้งจากการลงทุนในตลาดหุ้น และการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งได้ผลตอบแทนมากกว่า" นายสมิทธ์ อธิบาย

    ไทยเข้าสู่สังคมคนชรา

    กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทยในขณะนี้ คือ ในอีกไม่กี่ปีสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมคนชรา (สังคมผู้สูงอายุ) โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ มีกลุ่มคนที่เข้าสู่วัยชราน้อยมากที่มีเงินออมเพียงพอที่จะใช้จ่ายตอนแก่ ไม่ว่าจะเงินในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือเงินที่ใช้ในยามเจ็บป่วย

    ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่น บังคับให้มีการออมอย่างเข้มงวด เมื่อประชาชนเข้าสู่วัยชราก็ไม่เป็นภาระสังคม กรณีของประเทศสิงคโปร์มีกฎบังคับการออมที่ระดับ 16% มาเลเซีย 11% ขณะที่ประเทศไทยออมเพียง 2% เท่านั้น

    "มีหลายประเทศในโลกที่รัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วยของประชาชน เพราะประชาชนไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลยามชรา แต่ก็มีหลายประเทศที่ไม่มีปัญหาเหล่านี้ เพราะประชาชนมีเงินออมเพียงพอที่จะดูแลตัวเอง ซึ่งเราก็ต้องตระหนักในเรื่องนี้เป็นสำคัญ และควรฝึกให้ประชาชนรู้จักออม" กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ ระบุ

    เลิก"แอลทีเอฟ"เสียมากกว่าได้

    นายสมิทธ์ กล่าวอีกว่า การออมผ่านแอลทีเอฟ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมตลาดหุ้น เห็นได้จากในอดีตตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นหรือลงจะขึ้นอยู่กับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด เมื่อนักลงทุนเทขาย ตลาดหุ้นไทยก็ร่วงไม่เป็นท่า แต่ในปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติไม่ได้มีผลกับตลาดหุ้นเหมือนในอดีต เพราะนักลงทุนสถาบันเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดูได้จากการรัฐประหารครั้งล่าสุด ดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวนน้อยมาก เพราะนักลงทุนสถาบันเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทย จึงไม่มีแรงเทขายออกมา

    "สิ่งสำคัญที่ผมมองว่าแอลทีเอฟยังสำคัญ นอกจากจะเป็นการออมเงินของมนุษย์เงินเดือนแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมตลาดหุ้น ทั้งช่วยพยุงตลาดในช่วงที่ผ่านมา หากเทียบกับการรัฐประหาร 4 ครั้งในอดีต ตลาดหุ้นจะปรับลดลงไม่ต่ำกว่า 100 จุด แต่ครั้งนี้ผันผวนน้อย เพราะนักลงทุนสถาบันเข้าใจการเมืองไทย ไม่เทขายออกมา"

    "อีกอย่าง คือ นักลงทุนสถาบันช่วยกำกับธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนด้วย ซึ่ง ก.ล.ต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ได้สั่งให้ บลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม) ต้องเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นเสียงใหญ่ สามารถออกเสียงที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนได้" นายสมิทธ์ กล่าว

    ปัดข้อหาอุ้มคนรวย

    เขายังเห็นว่า การที่มีบางฝ่ายระบุว่าการลดภาษีให้กับผู้ถือแอลทีเอฟเป็นการอุ้มคนรวยนั้น เป็นความเชื่อที่ผิด โดยปัจจุบันมูลค่ากองทุนแอลทีเอฟอยู่ที่ 245,357 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีที่ลงทุนประมาณ 1 ล้านบัญชี เท่ากับมีเงินลงทุนประมาณ 2 แสนบาทต่อบัญชี เท่ากับมีการลงทุนประมาณปีละ 4-5 หมื่นบาทเท่านั้น

    ยกตัวอย่างว่า หากผมมีรายได้ประมาณ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน ผมจะต้องเสียภาษีปีละประมาณ 120,000 บาท แต่หากผมลงทุนแอลทีเอฟ ผมจะประหยัดภาษีได้ประมาณ 50% แต่หากกรณีของอีกบุคคลหนึ่งมีรายได้ประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีปีละ 3 ล้านบาท หากลงทุนในแอลทีเอฟแล้ว จะสามารถลดภาษีได้ประมาณ 11% เท่านั้น เพราะมีกรอบกำหนดไว้ว่าจะลดภาษีได้ไม่เกิน 5 แสนบาท เพราะฉะนั้นเมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้ว คนที่มีรายได้ปานกลางจะประหยัดมากกว่า

    แนะรัฐคิดให้รอบคอบ

    นายตรีพล ภูมิวสนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจยกเลิกแอลทีเอฟ ต้องพิจารณาหลายอย่างให้รอบด้าน เช่น ถ้าหากไม่มีแอลทีเอฟ รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการออมของประชาชนอย่างไร หากไม่มีแอลทีเอฟ ตลาดหุ้นจะผันผวนอย่างมาก เพราะเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาทจะหายออกไปจากตลาดหุ้นไทย รัฐบาลมีมาตรการจัดการในเรื่องนี้อย่างไร

    ที่สำคัญหากยกเลิกแอลทีเอฟ เงินภาษีที่รัฐบาลเอามาลดในส่วนนี้ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท รัฐจะเอาไปทำอะไร และสิ่งที่จะทำนั้นดีกว่ามาช่วยมนุษย์เงินเดือนหรือไม่

    "รัฐต้องตอบ 3 ข้อนี้ให้ได้ เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพิจารณาร่วมกันว่าถ้าไม่มีแอลทีเอฟ เราออมเพียงพอหรือยัง ผลประโยชน์ทางด้านภาษีใครได้ใครเสีย รัฐได้เท่าไร เสียเท่าไร" นายตรีพล ระบุ

    มนุษย์เงินเดือนได้ประโยชน์

    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวอีกว่า ประโยชน์ของการลงทุนในแอลทีเอฟที่ดีที่สุด คือ การได้ออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ยามจำเป็นในอนาคต ขณะที่การลดภาษีเป็นเพียงปัจจัยประกอบอย่างหนึ่งเท่านั้น

    หลายคนอาจมองว่าการลงทุนในแอลทีเอฟ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ คนรวย แต่จริงๆ แล้วคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ "มนุษย์เงินเดือน" เพราะการปรับลดภาษีในการลงทุนแอลทีเอฟนั้นมีกรอบจำกัด ใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ในแต่ละปี แต่ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท ต่อให้มีเงินเดือนมากเท่าใด การลดหย่อนภาษีก็จะได้ไม่เกิน 5 แสนบาทเท่านั้น

    ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ผู้ลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลาง ตั้งแต่ 50,000-1,000,000 บาทต่อเดือน และ 1 ใน 3 ของผู้ลงทุนจะซื้อต่อเนื่องระยะยาว ซึ่งข้อมูลนี้น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด

    Tags : Ringside • NOW26 • กองทุน • แอลทีเอฟ • LTF • สังคมคนชรา • มนุษย์เงินเดือน • สมิทธ์ พนมยงค์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้