พาณิชย์ถกอุตฯยางพารา

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 18 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ฉัตรชัยถกอุตสาหกรรมยาง ช่วยดันยอดส่งออก-ผลิตในประเทศ เตรียมจัดกลุ่มคลัสเตอร์เร่งแก้ไขปัญหา


    กระทรวงพาณิชย์ หารือกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา คือ ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพารา และผู้ประกอบอุตสาหกรรมถุงมือยาง เพื่อหามาตรการแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ

    พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยได้ทำความเข้าใจให้ภาคเอกชนช่วยกันผลักดันการส่งออกและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการใช้ยางภายในประเทศ ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มไปจัดแบ่งคลัสเตอร์ และนำข้อเสนอมาประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในรอบต่อไป คาดว่าประมาณสัปดาห์หน้า และจะมีการจัดประชุมหารือในลักษณะแบบนี้อย่างต่อเนื่อง

    “เป็นครั้งแรกที่ได้มีการพูดคุยกับบริษัทใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาง ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะเป็นการประชุมกลุ่มใหญ่ แต่ให้แบ่งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์และมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง โดยจากการหารือภาคเอกชนเข้าใจประเด็นของภาครัฐที่ต้องการให้ช่วยกันผลักดันการส่งออกและเพิ่มมูลค่าในประเทศ เพื่อผลักดันให้ราคายางในประเทศปรับตัวดีขึ้น” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

    เตรียมแก้อุปสรรคส่งออกยางพารา

    พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่าในที่ประชุมได้มีการหารือถึงปัญหาและอุปสรรคของการส่งออกและการผลิตยางพารา ทางภาครัฐก็จะช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้ ทั้งการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมาย และหากเกี่ยวข้องกับกระทรวงใด ก็จะมีการเชิญมาหารือร่วมกับผู้ประกอบการ เช่นถุงมือยางมีประเด็นที่ต้องหารือกับทางองค์การอาหารและยา (อย.) ก็จะเชิญมาหารือในกลุ่มคลัสเตอร์ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต้องมาทำความเข้าใจกับกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางพาราต่อไป

    “การช่วยเหลือเกษตรกร ทางรองนายกรัฐมนตรีก็ได้มีมาตรการในการช่วยเหลือไปในระดับหนึ่ง โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็จะเข้ามาดูแลด้านการตลาด เพื่อผลักดันให้มีปริมาณการใช้ยางเพิ่มมากขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมายราคา" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

    กลุ่มศรีตรังเพิ่มสัดส่วนใช้ยางพาราผลิต

    นายอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามเซมเพอร์เมด ในกลุ่มศรีตรัง กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตถุงมือยางอันดับ 1 ในไทยและมียอดส่งออกถุงมือยางติด 1 ใน 5 ของตลาดโลก โดยแนวทางที่บริษัทจะเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อผลักดันให้มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติมาผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น โดยจะเพิ่มสัดส่วนให้มีการใช้ยางพารามาผลิตสินค้าจาก 50% เพิ่มเป็น 60% อีก 40% ยังเป็นการผลิตสินค้าจากยางสังเคราะห์

    เชื่อว่าแผนดังกล่าวจะทำให้ปีนี้เพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติมาผลิตสินค้าจาก 6-7 หมื่นตัน เป็น 1 แสนตัน หรือเพิ่มอีก 40% เชื่อว่าน่าจะทำให้ราคารับซื้อยางในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยราคารับซื้อยาง 60 บาท/กก. น่าจะเป็นระดับที่ภาครัฐและเกษตรกรพอใจ

    “ส่วนยอดการส่งออกถุงมือยางนั้น ไม่ได้มีปัญหาเรื่องตัวเลขส่งออกลดลง โดยแต่ละปีมียอดส่งออกเพิ่มขึ้นปีละ 5% มูลค่าส่งออกประมาณ 1หมื่นล้านบาท แต่ปัญหาคือการใช้ยางภายในประเทศ ที่ต้องเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งในการประชุมรอบหน้าของกลุ่มจะเสนอมาตรการระยะสั้น ในเรื่องของการใช้วัตถุดิบให้มากขึ้น และเสนอวิธีการที่ต้องนำยางส่วนเกิน 5 แสนตัน ออกจากตลาด เพื่อผลัดดันด้านราคายาง” นายอนันต์ กล่าว

    ส.อ.ท.เสนอโรดแมพส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง

    นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ทำโรดแมพเสนอต่อรัฐบาลแล้ว โดยวางเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจากปัจจุบัน 6 แสนล้านบาท ให้ถึง 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 โดยในแผนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ได้เสนอให้รัฐสนับสนุนการพัฒนาและวิจัย ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ด้วยการตั้งหน่วยวิจัยยางพาราแปรรูปกลาง เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมและการเรียนรู้ เพราะปัจจุบันใช้ยางพาราเพื่อการแปรรูปแค่ 12.5% ของกำลังผลิตรวม และ 87.5% ยังเป็นการพึ่งพาการส่งออก

    “ได้เสนอให้เพิ่มแรงจูงใจให้เอกชน โดยลดภาษีการดำเนินการเพื่อการวิจัยจากเดิม 200% เป็น 300% และ ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเชื่อว่าจะเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมได้ทันที 1 แสนตัน โดยสัปดาห์หน้ากลุ่มอุตสาหกรรมก็จะหารือเพื่อจัดทำรายละเอียดและนำเสนอรัฐต่อไป”

    นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว ดูแนวโน้มความต้องการและราคายางโลก ไม่น่าจะลดลงกว่านี้เพราะที่ผ่านมาราคายางพุ่งสูงผิดปกติ เนื่องจากหลายประเทศกังวลความต้องการใช้ยางจะสูงขึ้น ทำให้เร่งซื้อเก็บเข้าสต็อก เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติราคายางก็เริ่มลดลง

    แต่แนวโน้มความต้องการใช้ยางในอนาคต จะยังเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ราคาในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

    ราคายางเพิ่มรับ5มาตรการรัฐ

    นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่าราคายางพาราในตลาดวานนี้ (17 ต.ค.57) ปรับตัวเพิ่มขึ้นกิโลกรัม (กก.) ละ 1.40 บาท ทำให้ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่กก.ละ 47.90 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ กก. ละ 50.55 บาท โดยปรับเพิ่มขึ้นทันทีหลังคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) อนุมัติวงเงิน 58,500 ล้านบาท ดำเนิน 5 มาตรการกระตุ้นราคายางให้เพิ่มขึ้นไปถึงกก.ละ 60 บาทและถือว่าเป็นมาตรการที่ชาวสวนยางค่อนข้างพึงพอใจ เพราะดีกว่ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซงราคายางโดยตรง ซึ่งจะทำให้ตลาดปั่นป่วนในที่สุด

    “สำหรับการจ่ายเงินช่วยชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ยอมรับว่ามีชาวสวนยางบางส่วนอาจยังไม่พอใจ เพราะคิดว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไป แต่เรื่องนี้สภาการยางแห่งประเทศไทย ได้เตรียมประสานไปยังกลุ่มชาวสวนยาง และเครือข่ายชาวสวนยาง ทุกกลุ่มทั่วประเทศให้ส่งผู้แทนมากลุ่มละ 3 คน มาประชุมทำความเข้าใจกัน เพื่อร่วมติดตามผลของมาตรการกระตุ้นราคายางของรัฐบาลก่อน” นายอุทัย กล่าว

    นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมฯ จะเร่งปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางที่จะเข้าร่วมโครงการของรัฐบาล ซึ่งจากการดำเนินโครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตชาวสวนยางในรัฐบาล ที่ผ่านมามีชาวสวนยางมาขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการประมาณ800,000 ราย พื้นที่ในโครงการรวมประมาณ 10 ล้านไร่ โดยเบื้องต้นได้คาดว่า กรอบจำนวนชาวสวนยางที่มาขึ้นทะเบียนรับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000บาท จะมีทั้งสิ้นประมาณ 850,000 ราย โดยกรมฯ จะเริ่มขึ้นทะเบียนทันทีที่โครงการ 5 มาตรการกระตุ้นราคายางผ่านการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือประมาณสัปดาห์แรกของเดือนพ.ย.นี้เป็นต้นไป

    สั่งติดตามเก็บเงิน'เซส'

    นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการส.ก.ย.ที่มีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธานว่า รมว.เกษตรฯ ได้มอบหมายให้สกย. ไปติดตามการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ยาง (เงินเซส) หลังจากสกย.ประเมินว่า ในปี 2559 รายรับจากเงินเซส จะมีไม่เพียงพอกับรายจ่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

    ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่าในปี 2558 ส.ก.ย. คาดว่าอัตราการจัดเก็บเงินเซสจะอยู่ที่กก.ละ 1.40 บาท โดยปริมาณการส่งออกยางไทยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านตัน ทำให้จัดเก็บเงินเซสเข้ากองทุนได้รวมประมาณ 4,900 ล้านบาท ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายช่วยเหลือชาวสวนยางจะต้องใช้เงินประมาณ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การสนับสนุนเพื่อโค่นต้นยางแก่ 400,000 ไร่ งบประมาณ 4,850 ล้านบาท การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชาวสวนยางประมาณ 200 ล้านบาท และยังมีงบค่าบริหารจัดการองค์กรของสกย.ประมาณ 2,000 ล้านบาท เมื่อมีเงินเซสไม่พอ กระทรวงการคลังก็ต้องรับภาระนำงบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุนสกย. แทน

    “ตอนนี้มีเงินสะสมในกองทุนสกย.อยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ต่อไปสิ้นปี 2559 สกย อาจไม่มีเงินทุนมาดำเนินการ” นายประสิทธิ์ กล่าว

    Tags : พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ • พาณิชย์ • ยาง

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้