ห่วงหนี้ครัวเรือนฉุดบริโภค สหกรณ์ออมทรัพย์ "คงค้าง" สูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้นำผลศึกษาปัญหาหนี้ครัวเรือน ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หัวข้อ "การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน : นัยต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ" โดยมีนักเศรษฐศาสตร์วิจารณ์ผลการศึกษาดังกล่าว มีประเด็นดังนี้ นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ครัวเรือนที่เริ่มมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงเกินกว่า 40% ขึ้นไป จะเริ่มมีความกังวลใจต่อการชำระหนี้ในอนาคต และส่งผลต่อการบริโภคที่ปรับลดลง ขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของภาคครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 27% "เพียงแต่มีกลุ่มที่น่าเป็นห่วงอยู่บ้าง คือ ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือนลงมา ซึ่งครัวเรือนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ประมาณ 50% ดังนั้นในกรณีที่ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ครัวเรือนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบที่มากขึ้นตามไปด้วย สำหรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินในกรณีที่ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น นายอธิภัทร กล่าวว่า ความเสี่ยงระยะสั้นต่อเสถียรภาพการเงินยังมีค่อนข้างน้อย แต่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่สูง อาจจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง จึงเป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างต่อเนื่อง "จากการศึกษาเราพบว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนยังไม่ได้สร้างความเสี่ยงต่อภาพรวมระบบการเงินในระยะสั้นมากนัก เพราะหนี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง เพียงแต่กรณีที่ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ครัวเรือนกลุ่มนี้อาจมีความกังวล จนทำให้การบริโภคมีแนวโน้มว่าจะลดลงได้" นายอธิภัทร กล่าว ดบ.ขึ้น1% ภาระหนี้ต่อรายได้เพิ่ม4% ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบหลักฐานที่ชัดเจนว่า การเร่งตัวขึ้นของหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน เริ่มมีผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนบ้างแล้ว "ระดับหนี้ที่ภาคครัวเรือนอาจกังวลใจในการชำระหนี้ ที่พบ คือ สัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงกว่า 40% ซึ่งถ้าสูงกว่านี้จะยิ่งทำให้ครัวเรือนเกิดความกังวลใจจนไม่กล้าที่จะใช้จ่ายมากนัก" นายพชรพจน์กล่าว นายพชรพจน์ กล่าวด้วยว่า ครัวเรือนที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูงกว่า 40% ไม่ได้มีเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเท่าไร แต่ยังพบในครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงด้วย เพียงแต่สัดส่วนของกลุ่มนี้มีน้อยกว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อย นอกจากนี้ถ้าดูในมิติของสภาพคล่อง พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อหนี้เพียง 4.8% เท่านั้น เทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง มีสินทรัพย์สภาพคล่องต่อหนี้สินประมาณ 17% นายพชรพจน์ กล่าวต่อว่า จากการวิจัยยังพบว่า กรณีที่ดอกเบี้ยขึ้น 1% จะทำให้ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 4% ส่วนครัวเรือนกลุ่มรายได้ปานกลาง จะมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงขึ้นประมาณ 2% "ความแตกต่างตรงนี้อธิบายได้ว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หนี้ส่วนใหญ่จะอ่อนไหวกับดอกเบี้ยมากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมมาทำการค้าหรือเป็นการกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลางหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อรถยนต์หรืออสังหาริมทรัพย์” นายพชรพจน์กล่าว จี้ดูแลไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดลดเสี่ยง แม้ระดับหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น แต่สามารถดูแล หรือลดความเสี่ยงไม่ให้หนี้เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวมได้ ผ่านการดูแลไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืด เพราะถ้าเกิดภาวะเงินฝืดเท่ากับว่า รายได้จะลดลง ขณะที่ภาระหนี้คงที่ ดังนั้นนโยบายการเงินควรต้องดูแลความเสี่ยงตรงนี้ด้วย นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดภาระหนี้โดยไม่ตั้งใจ เช่น เกิดการเจ็บป่วยต้องกู้ยืมเงินมากใช้จ่าย ซึ่งทำได้ผ่านการทำประกันชีวิตประกันภัยต่างๆ และต้องให้ความรู้การวางแผนการเงินที่ดี สุดท้าย คือ ดูแลให้ฐานะการคลังแข็งแกร่ง เพื่อรองรับในกรณีที่ปัญหาหนี้เหล่านี้ส่งผลกระทบ นโยบายการเงินจะสามารถเข้ามาช่วยดูแลได้ ยอดหนี้คงค้างสหกรณ์ออมทรัพย์มากสุด นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการก่อหนี้ ขณะเดียวกันยังเกิดจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ด้วย สำหรับหนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 พบว่า มียอดคงค้างอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยกลุ่มที่มีการให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก คือ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 มียอดคงค้างอยู่ที่ 1.5ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.3 แสนล้านบาท "ถ้าดูระดับการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนกลุ่มสหกรณ์ จะเห็นว่า ขนาดของหนี้แม้จะมียอดคงค้างอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แต่มียอดเพิ่มขึ้นถึง1.3 แสนล้านบาท ถ้าเทียบกับเงินให้กู้ยืมของแบงก์รัฐ ที่มียอดคงค้างที่ 3 ล้านล้านบาท แต่มียอดการเพิ่มขึ้น 1.6 แสนล้านบาท จะเห็นว่าการเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกันแต่ฐานต่างกันมาก" นายสุรพลกล่าว ชี้ซื้อสินทรัพย์ราคาถดถอยก่อหนี้ครัวเรือนพุ่ง นายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเฉพาะประเทศไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก สาเหตุเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินกู้มากขึ้น สิ่งที่ต้องระวังในระยะต่อไป คือ หนี้ครัวเรือนจะมีปัญหาได้มาก หากมีการกระจายตัวของปัญหาผ่านตัวแปรอื่นๆ เช่น ราคาของสินทรัพย์ที่ลดลง ขณะเดียวกัน ต้องดูว่าหนี้ที่กู้ยืมมาครัวเรือนเอาไปใช้ทำอะไรด้วย ถ้าเป็นการนำไปซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย ความมั่งคั่งตรงนี้อาจไม่ได้รับผลกระทบนัก แตกต่างจากการนำไปซื้อรถยนต์ที่ผลต่อความมั่งคั่งได้ เนื่องจากรถยนต์มีแต่จะเสื่อมราคาลง ห่วงหนี้ภาคครัวเรือนเกษตรกร นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากอัตราการปรับขึ้นชะลอตัวลง แต่ห่วงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในภาคเกษตรที่มองไม่เห็นว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงทั้งข้าวหรือยางพารา "การแก้ปัญหาควรบูรณาการทั้งระบบ หรือทำให้หนี้นอกระบบเข้ามาเป็นหนี้ในระบบ เช่น ใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านที่มีข้อมูลรากหญ้าและเชื่อมข้อมูลเหล่านั้น เข้ามากับระบบสถาบันการเงิน และให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้าน ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้รากหญ้า เพราะสถาบันการเงินในระบบ ไม่สามารถลงลึกถึงรากหญ้าได้ หากเชื่อมข้อมูล และเห็นความสัมพันธ์ของระบบการเงินท้องถิ่นจะช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นระบบมากขึ้น" นายเบญจรงค์ กล่าว Tags : หนี้ครัวเรือน • สหกรณ์ออมทรัพย์ • ไทยพาณิชย์