เมื่อสี่ปีก่อน มีการจัดแข่งขันให้ AI มาทำข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้น ม.2 ชิงเงินรางวัล 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตอนนั้นมีนักวิจัยเข้าร่วมแข่งขันกว่า 700 คน แต่กลับไม่มีใครชนะเลย แม้แต่ AI ที่เก่งที่สุดก็ทำคะแนนได้เพียง 60% เท่านั้น แต่มาวันนี้เป้าหมายนั้นบรรลุแล้ว นักวิจัยจากสถาบันปัญญาประดิษฐ์อัลเลน (Allen Institute for Artificial Intelligence หรือ AI2) ซึ่งก่อตั้งโดย Paul Allen ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ ได้เปิดเผยว่า AI ของพวกเขาชื่อ Aristo ประสบความสำเร็จในการทำข้อสอบวิทยาศาสตร์ชั้น ม.2 ได้ถูกต้องกว่า 90% และมากกว่า 80% ในข้อสอบชั้น ม.6 ความพิเศษของ Aristo ไม่ใช่แค่การโหลดข้อมูลจำนวนมากเข้าไปแล้วตอบออกมาเป็น fact (แบบ IBM Watson) แต่เป็นความสามารถในการเข้าใจคำถามและสามารถให้คำตอบที่ต้องใช้ตรรกะในการคิดคล้ายมนุษย์ได้ด้วย ภาพโดย AI2 Aristo ถูกออกแบบมาให้ทำข้อสอบที่เป็นตัวเลือก (multiple-choice) โดยใช้ข้อสอบมาตรฐานของนักเรียนที่เมืองนิวยอร์ก แต่ตัดข้อสอบส่วนที่เป็นรูปภาพออก เพราะยังไม่มีระบบประมวลผลภาพ ตัวอย่างคำถามที่ต้องใช้ตรรกะในการคิดคือ การเปลี่ยนแปลงด้านใดต่อไปนี้น่าจะเป็นสาเหตุให้จำนวนกระรอกในพื้นที่ลดลง? (1) จำนวนผู้ล่าลดลง (2) การแข่งขันในกลุ่มกระรอกลดลง (3) มีอาหารมากขึ้น (4) เกิดไฟป่าบ่อยขึ้น จากคำถามข้างต้น สังเกตได้ว่าถึงจะมีความรู้เยอะ แต่หากขาดการคิดด้วยตรรกะก็ไม่น่าจะตอบคำถามได้ นักวิจัยจากสถาบันอัลเลนเริ่มพัฒนา Aristo มาตั้งแต่ปี 2013 โดยมีแนวคิดว่าเราควรจะวัดความสามารถของ AI ด้วยข้อสอบวิทยาศาสตร์มากกว่าการวัดด้วยการให้เล่นหมากรุกหรืองานอื่นๆ ที่ออกแบบมาเพื่อเครื่องจักรโดยเฉพาะ เพราะ "วิทยาศาสตร์" นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเก่งได้ด้วยการเรียนรู้กฎต่างๆ เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมีการใช้ตรรกะร่วมด้วย จุดเริ่มต้นของ Aristo มาจากระบบชื่อ Bert ของกูเกิลที่เก็บข้อมูลจากบทความวิกิพีเดียหลายพันบทความ รวมถึงอ่านนิยายโรแมนติก, นิยายวิทยาศาสตร์ และหนังสืออื่นๆ ในจุดนี้ Bert สามารถเดาคำที่หายไปจากประโยคได้ ทำให้มีพื้นฐานว่าภาษานั้นประกอบขึ้นมาได้อย่างไร นักวิจัยได้พัฒนา Bert ต่อจนกลายมาเป็น Aristo ในปัจจุบันด้วยการป้อนคำถามและคำตอบจำนวนมากเข้าไปและให้มันเรียนรู้ที่จะตอบคำถามเอง ในตอนแรกๆ ก็ต้องมาแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยมืออยู่ แต่หลังๆ ระบบก็เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนเอง ทีมนักวิจัยเคยพยายามทำระบบที่สามารถทำข้อสอบเข้าปริญญาโท แต่พบว่าสกิลการให้เหตุผลในคณิตศาสตร์นั้นยากเกินกว่าจะทำได้ ที่มา - The New York Times Topics: Artificial Intelligence