ธปท.เตรียมดึง "สหกรณ์ออมทรัพย์-ธ.ก.ส." เข้าระบบเครดิตบูโร หวังเป็นเครื่องมือช่วยดูแลหนี้ครัวเรือน ปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องภาคการเงินไม่มีข้อมูลครอบคลุมมากพอ และอาจก่อให้เกิดปัญหาหนี้ในอนาคต โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เตรียมให้สหกรณ์ออมทรัพย์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)รายงานข้อมูลกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(ซูเปอร์บอร์ด) มีนโยบายให้ธปท.เข้าไปดูแลสถาบันการเงินของรัฐมากยิ่งขึ้น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่ามีแนวคิดที่จะดึงสหกรณ์ออมทรัพย์และธ.ก.ส.)เข้าสู่การรายงานข้อมูลกับเครดิตบูโรเพื่อให้การดูแลหนี้ครัวเรือน มีข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลัง จะเป็นการสร้างหนี้ผ่าน สหกรณ์ออมทรัพย์มากที่สุด ดังนั้น หากมีข้อมูลของผู้ให้กู้และผู้กู้ที่ครอบคลุมชัดเจนมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนลดลงได้ "ตอนนี้ ที่เราจะทำคือการดูข้อมูลเครดิต เพราะตัวการที่สร้างหนี้มากในตอนนี้ คือสหกรณ์ออมทรัพย์ ถ้าดึงให้เข้ามาอยู่ในระบบเครดิตบูโรก็อาจจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้กู้และผู้ให้กู้" นายประสารกล่าว นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารรัฐเป็นขนมเค้กของทุกพรรคการเมืองเป็นโจทย์ของระบบการเงินประเทศ ที่ต้องมีการจัดการให้กลับไปสู่หลักการในการจัดตั้ง ซึ่งบทบาทหนึ่งที่ธนาคารรัฐควรเข้ามามีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ เพื่อช่วยเหลือรากหญ้ามากขึ้น "ขณะนี้ ซูเปอร์บอร์ด เปิดทางให้แบงก์ชาติเข้าไปตรวจสอบแบงก์รัฐ เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเงินดีที่สุด แต่สุดท้ายแล้วผลการตรวจสอบออกมาอย่างไร ต้องกลับมาพิจารณาว่า อำนาจการสั่งการจะอยู่ที่ใคร ส่วนจะกลับไปเหมือนในอดีตหรือไม่ ต้องรอธปท.ตรวจสอบ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้" "ธีระชัย"เสนอออกกฎหมายกำกับ ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนา “ภาคการเงินกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาประจำปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำการศึกษาระบบแบงก์รัฐของไทย ซึ่งผลศึกษาชี้ว่า แบงก์รัฐเริ่มมีขนาดที่ใหญ่เกินไป โดยระยะหลังเริ่มทำธุรกิจแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ จนละเลยพันธกิจของตัวเอง ซึ่งถึงจุดที่ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง นายธีระชัย กล่าวว่า ในจังหวะที่ประเทศไทยมีซูเปอร์บอร์ด และมีแนวคิดที่จะปฏิรูปแบงก์รัฐ โดยส่วนตัวจึงทำหนังสือเปิดผนึก เพื่อร่วมเสนอถึงแนวทางในการกำกับดูแลแบงก์รัฐ โดยข้อเสนอ คือ ต้องการให้ออกกฎหมายกำกับดูแลการทำธุรกิจของแบงก์รัฐ ให้ดำเนินธุรกิจเป็นไปตามพันธกิจของตัวเอง สำหรับข้อเสนอที่ส่งไปนั้น เสนอให้มีการว่าจ้างผู้สอบบัญชีจากภายนอกมาร่วมตรวจสอบบัญชีของแบงก์รัฐ ขณะเดียวกัน ควรมีการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่น้อยไปกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในส่วนของภาครัฐเอง ก็ควรขายหุ้นที่ถืออยู่ในธนาคารพาณิชย์ออกไป เพราะรัฐไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกิจการที่ได้มาโดยไม่ตั้งใจ โดยปัจจุบันหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่ภาครัฐถืออยู่มี ธนาคารกรุงไทย กับธนาคารทหารไทย "การทำ เคพีไอของสถาบันการเงินของรัฐ ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีเข้ามาประเมินการเงิน และสถาบันการเงินของรัฐ ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเพื่อสร้างหลักเกณฑ์ในการเพิ่มทุนอย่างเป็นธรรม พร้อมกันนี้ควรให้ภาครัฐขายหุ้นออกจากธนาคารพาณิชย์ทั้งธนาคารกรุงไทยและทหารไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของระบบสถาบันการเงิน"นายธีระชัย กล่าว แบงก์รัฐปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน3-5ล. นอกจากนี้ นายธีระชัย ยังเสนอให้ ออกกฎหมายควบคุมการปล่อยสินเชื่อของภาครัฐโดยให้ปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3-5 ล้านบาท เพื่อตีกรอบการดำเนินงานของตัวเองว่า เป็นการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการรายย่อยจริง ไม่ได้ไปแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ ส่วนข้อเสนอเรื่องการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองนั้น เรื่องนี้เคยหารือกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตประธานกรรมการธปท.ว่า ธปท.ควรเร่งรัดให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากมีแบงก์ต่างประเทศเข้ามาก็น่าจะช่วยในเรื่องนี้ได้ ขณะเดียวกันธปท.ควรมีกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองด้วย "หน้าที่สถาบันการเงินของรัฐ ทำหน้าที่ผิดวัตถุประสงค์มาโดยตลอด ดังนั้นเพื่อให้การเป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาลอย่างแท้จริง จึงยื่นหนังสือเปิดผนึกให้ซูเปอร์บอร์ด เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของสถาบันการเงินของรัฐใหม่ อาทิ จะต้องกำหนดให้ปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 3-5 ล้านบาทต่อราย เพื่อให้สถาบันการเงินของรัฐต้องกลับมาทำหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากอย่างแท้จริง จะทำให้การขับเคลื่อนภาคการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"นายธีระชัย กล่าว แนะเชื่อมโยงศก.จริงกับภาคการเงิน นายสมเกียติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การทำให้ภาคเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงกับภาคการเงินเข้าด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ยังมีช่องว่างใน 3 ส่วน คือ ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) แม้จะเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น แต่ยังมีกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้อีกจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ รวมทั้งภาคครัวเรือนที่ต้องการเงินทุนไปใช้ในการทำธุรกิจ ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เช่นกัน สำหรับแนวทางการปิดช่องว่างตรงนี้ นายสมเกียรติ เสนอว่า เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ เป็นผู้รับจ้างประกอบชิ้นส่วนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ดังนั้นควรเอาออเดอร์ที่มีอยู่มาใช้ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ แบงก์รัฐควรปล่อยกู้ไมโครไฟแนนซ์ ด้านนายบัณฑูร ถึงการให้สินเชื่อกับกลุ่มเอสเอ็มอีว่าเป็นยุทธศาสตร์หลักทุกธนาคาร เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ในระดับสูง แต่ความสำคัญในการให้สินเชื่อ อยู่ที่โอกาสในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี ที่ทำให้ธนาคารเข้าใจได้ว่า จะสามารถอยู่รอดได้ แม้จะมีกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. หรือการออกกฎหมายหลักประกันธุรกิจออกมา แต่หากธนาคารไม่สามารถประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ กลไกเหล่านั้นก็ช่วยได้แค่ส่วนหนึ่งของการพิจารณาเท่านั้น เพราะธนาคารไม่ควรทำหน้าที่โรงรับจำนำ ธุรกิจควรมีอนาคตตัวเอง "ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่ได้เงินไม่ใช้เพราะแบงก์ไม่สนใจ ทุกคนต้องทำกำไรในตลาดทุนนิยม แต่หากเราเข้าไปแล้วอ่านไม่ออก ธุรกิจไม่มีอะไรชัดเจนขาดไอเดียใหม่ๆ ก็แข่งกับรายใหญ่ที่ได้เปรียบในเรื่องความประหยัดต่อขนาด ดังนั้นเอสเอ็มอี ต้องทำในสิ่งที่รายใหญ่นึกไม่ถึง หากบริการเหมือนกันถึงจุดหนึ่งก็รอวันตาย" เช่นเดียวกับธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ที่ธนาคารไม่มีความเข้าใจวัฏจักรธุรกิจมากพอ จึงไม่สามารถเข้าไปทำตลาดนี้ได้ แม้ทางการจะพยายามผลักดันก็ตาม คงต้องเป็นหน้าที่ของธุรกิจท้องถิ่น ที่มีการปล่อยสินเชื่อรากหญ้าอยู่แล้ว และสามารถทำกำไรได้ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจเหล่านี้ไม่ต้องรายงานธปท.เพราะไม่ได้มีหน้าที่ในการรับเงินฝากจากประชาชน "ภาคธุรกิจควรสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยในระดับไมโครไฟแนนซ์ แต่แบงก์พาณิชย์ไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่ เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งความรู้ ความเข้าใจในวัฏจักรรายย่อย โดยจำเป็นที่ต้องประกอบกิจการที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้ การเข้าไปลงทุนในไมโครไฟแนนซ์ โดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ยิ่งเป็นภาระต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายและความเสี่ยง ผมมองว่า รัฐควรต้องเข้ามามีบทบาทในการวางนโยบาย และให้ธนาคารรัฐเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้เป็นหลัก เชื่อว่าจะเข้าถึงประชาชนระดับล่างได้มากกว่า"นายบัณฑูร กล่าว สำหรับประเด็นการตั้งราคาค่าธรรมเนียมของธนาคารนั้น หาก ธปท. เห็นว่า มีความไม่เป็นธรรม หรือเก็บในอัตราที่สูงเกินไป ก็สามารถเรียกเก็บเงินจากกำไรของธนาคารเพิ่มเติมได้ ซึ่งการตั้งราคาของธนาคารพาณิชย์แม้จะเป็นการตกลงรวมกันของสมาคมธนาคารไทย Tags : ธปท. • สหกรณ์ออมทรัพย์ • ธ.ก.ส. • เครดิตบูโร