รัฐบาลเร่งแก้กฎหมาย หนุน'ศูนย์กลางการค้าภูมิภาค'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 17 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "..ต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์และกฎหมายให้เป็นสากล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคให้ได้.." ปรีดิยาธร

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยจะไปรุ่งหรือไปยุ่ง” จัดโดยมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ซึ่งถือเป็นทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจในระยะต่อไปของรัฐบาล มีรายละเอียดดังนี้

    ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีนี้อย่างแน่นอนโดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ประมาณ 4% ขณะที่ในปี 2557 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ไม่เกิน 2% เท่านั้นเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองมายาวนานหลายเดือน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกก็อยู่ในภาวะชะลอตัวจึงทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างมาก

    “เศรษฐกิจโลกขณะนี้อยู่ในภาวะชะลอตัวแต่ไม่ใช่ภาวะถดถอยซึ่งจริงๆแล้วในภาวะเศรษฐกิจโลกแบบนี้เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ถึง 3-4% แต่เรามีปัญหาภายในและกลายเป็นการชะลอตัวเองทำให้ในปีนี้จีดีพีจะขยายตัวได้ไม่เกิน 2% ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจในปีนี้เป็นฐานที่ต่ำดังนั้นในปีหน้าเมื่อมีการทำงานอย่างเต็มที่จากนโยบายที่มีการกระตุ้นทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ การช่วยเหลือเกษตรกร และเร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งมีการเร่งรัดการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เศรษฐกิจไทยก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

    ประเทศไทยถือว่ามีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเนื่องจากมีภาคเกษตรที่ดีมีพืชหลายชนิดที่ส่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก เช่น ข้าว ยาง อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งการส่งเสริมภาคเกษตรให้สามารถยกระดับได้จะต้องมีการสนับสนุนให้มีการนำสินค้าเกษตรไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่นการนำอ้อยไปผลิตพลังงานทดแทนเพื่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัดมากขึ้นเนื่องจากประเทศไทยมีการใช้เชื้อเพลิงสูงถึง 19% ของจีดีพี

    ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสินค้าหลายชนิดที่ผลิตในประเทศและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งในภิภาคอาเซียน หรือส่งออกอันดับต้นๆของโลก เช่นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กระเบื้อง และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งตนมองว่าผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่งทั้งในเรื่ององค์ความรู้และเงินทุนเปรียบเทียบเป็นเหมือนกับกองทัพขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมจะรุกไปลงทุนในอาเซียน ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นสำหรับทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคตที่จะต้องมีการขยายการลงทุนออกไปภายนอกเพื่อหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้น

    ดังนั้นในส่วนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องมีบทบาทเพิ่มเติมในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้นเหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่นเคยทำสำเร็จมาแล้วในการส่งเสริมเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ

    ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติเข้ามาขยายฐานการผลิตสินค้าในประเทศไทยเป็นจำนวนมากแต่กลับไม่ค่อยมีการตั้งสำนักงานใหญ่ทางด้านการค้าหรือ “Trading headquarter” ในประเทศไทย

    เมื่อไปตรวจสอบดูแล้วพบว่าเป็นเพราะประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องของกฎหมาย กฎเกณฑ์ทั้งในส่วนที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีที่ไม่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนภายในระยะเวลา 1 เดือน จะต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และกฎหมายต่างๆทางการค้าการลงทุนให้เป็นสากลใกล้เคียงกับสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคให้ได้

    “รัฐบาลให้ความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเป็นเทรดดิ้ง เฮดควอเตอร์ เพราะในอนาคตสินค้าจำนวนมากจากฝั่งตะวันออกของอาเซียนจะไหลผ่านไปฝั่งตะวันออกโดยมีประเทศไทยอยู่ตรงกลางที่สินค้าไหลผ่านไปมา ซึ่งถ้าเรามีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆให้ดีและสะดวกขึ้น เช่น การแก้ปัญหาการขอวีซ่าของนักธุรกิจ การขอใบอนุญาตการทำงาน ต้องมีการแก้ไขซึ่งถ้าทำได้เราจะเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาค ประเทศจะร่ำรวยจากโอกาสนี้ได้มาก” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

    สำหรับเรื่องของการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยจัดเก็บภาษีได้เพียง 19% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าน้อยกว่าหลายๆประเทศที่ส่วนใหญ่เก็บภาษีได้มากกว่า 20% ของจีดีพี ซึ่งการเก็บภาษีได้ในอัตราที่ต่ำทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณในการลงทุนเรื่องต่างๆ ตัวอย่างเช่นในปี 2558 งบประมาณ 2.575 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณในการลงทุนเพียง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น

    ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมโดยขยายฐานภาษีจากเดิมที่เคยจัดเก็บเฉพาะภาษีจากการค้าและบริการอย่างเดียวเป็นการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สิน เช่น การจัดเก็บภาษีมรดก และการเก็บภาษีที่ดินและที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีจากทรัพย์สินจะมีความเป็นธรรมและไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนมากนัก

    “การเก็บภาษีจากฝั่งทรัพย์สิน อย่างภาษีมรดกพอจะทำคนก็ตกใจเพราะเราไม่เคยทำในเรื่องนี้ แต่ขอย้ำว่าจะเก็บอย่างแฟร์ และเก็บในอัตราที่ต่ำ จนคนที่โดนเก็บแทบจะไม่รู้สึก เป็นการเก็บจากคนที่มีฐานะดีในประเทศนี้มาคนละนิดละหน่อย แต่เมื่อมารวมกันหลายๆคนประเทศก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก”

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าววิจารณ์นโยบายประชานิยมว่าในระยะยาวเป็นอันตรายต่อการพัฒนาระบบประชาธิปไตยของประเทศ เนื่องจากจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยตัวอย่างในหลายๆประเทศในยุโรป เช่น กรีซ ฝรั่งเศส ที่มีการใช้นโยบายประชานิยมโดยการเพิ่มระบบสวัสดิการให้กับประชาชน จนมีระดับหนี้สาธารณะสูงเกินกว่า 100% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศไทยระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ต่ำกว่า 50% ของจีดีพี

    "แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะหากพรรคการเมืองต่างๆยังมีการใช้นโยบายประชานิยมอยู่ระดับหนี้สาธารณะอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต"

    Tags : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล • รองนายกรัฐมนตรี • ปาฐกถาพิเศษ • เศรษฐกิจไทย • จีดีพี • บีโอไอ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้