"สรรพากร" เผย กฎหมายภาษีมรดกขึ้นโครงเรียบร้อย มั่นใจออกทันปีนี้แน่นอน ด้าน สุวรรณ แจงอุปสรรคในการจัดเก็บมาก นายสมชาย แสงรัตนมณีเดช ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและคดี กรมสรรพากร กล่าวบรรยายเรื่อง “เนื้อหาและรายละเอียดของภาษีมรดก” ที่จัดโดย ธนาคารกรุงเทพ ว่า ภาษีมรดกนี้จะมีกฎหมายขึ้นมาใหม่ฉบับหนึ่งเลยเป็นพ.ร.บ.ภาษีมรดกซึ่งกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนและน่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ในเดือนนี้และน่าจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกเป็นพ.ร.บ.ได้ในเดือนหน้าและน่าจะเกิดขึ้นได้ทันในปี2557 นี้แน่นอน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า แต่รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขยังคงไม่นิ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้ แต่ในเบื้องต้นในส่วนที่เป็นมรดกนั้นจะนับรวมทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์รวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่ไม่ต้องเสียภาษีแต่ส่วนที่เกินจากนั้นจะถูกเขียนไว้ในกฎหมายใหม่นี้ให้เก็บภาษีจากส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทไป โดยในเบื้องต้นอัตราภาษีเต็มที่จะไม่เกิน 10% แต่จะนับเป็นวงๆ ไปพ่อให้ลูกวงหนึ่ง ปู่ให้หลานวงหนึ่ง ก็จะได้รับยกเว้นทุกกองมรดกทุก 50 ล้านบาท เพราะถือเป็นคนละคนกัน ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ก็จะอยู่ในพ.ร.บ.ภาษีมรดกฉบับใหม่นี้ที่จะเข้ามาเก็บ ซึ่งตามปกติก็จะมีเวลาให้ประมาณ 90 วัน หลังจากที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว “สำหรับการให้โดยเสน่หา ซึ่งเป็นการให้ในขณะที่ผู้ให้ยังไม่ตาย จะไปแก้กฎหมายเดิมในมาตราที่เคยยกเว้นไว้ ให้ไม่ได้ออกเป็นกฎหมายใหม่แต่ประการใด ซึ่งหลักๆ จะไปแก้ในมาตรา42 และกฎกระทรวง126 ทั้งนี้ในส่วนที่เป็นการให้โดยเสน่หานั้นในหลักการใหม่จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์จะเก็บในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท (ตัวเลขจริงอาจจะเป็นตัวเลขระดับหนึ่งซึ่งปัจจุบันยังไม่นิ่ง) และสังหาริมทรัพย์อีกในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ที่จะต้องมีการเสียภาษีในอัตราประมาณ 5.0% ในเรื่องของตัวเลขและรายละเอียดต่างๆ ในตอนนี้ยังอาจไม่นิ่งแต่โดยหลักการแล้วจะเป็นไปในลักษณะนี้ ก็ขอให้รอกฎหมายที่ชัดเจนออกมาอีกครั้งจึงจะทราบรายละเอียดที่แน่นอน” นายสุวรรณ วลัยเสถียร ประธานชมรมคนออมเงินและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีมรดกนี้ในหลายประเทศยกเลิกไปแล้ว เช่น สิงคโปร์ หรือออสเตรเลีย แม้แต่ประเทศที่มีความเข้มในเรื่องของกฎหมายภาษีอย่างสหรัฐ ยังประสบกับปัญหาในการจัดเก็บ ประเมินว่าคนไทยที่มีเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท อาจมีไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งประเทศ การลงทุนระบบเพื่อจัดเก็บภาษีจากคนกลุ่มน้อยนี้อาจมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสูงพอๆ กับภาษีที่จะเก็บได้ซึ่งอาจไม่คุ้ม ที่สำคัญเป็นภาษีใหม่ที่ผู้เก็บและผู้เสียภาษียังไม่มีประสบการณ์ ดังนั้นจำเป็นต้องมีระบบในการจัดการที่ดีด้วยเช่นกัน “คนที่มีทรัพย์สินมากๆ ปัจจุบันมีใครที่ต้องสำแดงหรือเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สิน นอกจากบุคคลที่เข้าสู่ตำแหน่งการเมือง แม้รัฐบอกหลังจากนี้ต้องสำแดงแต่ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายนัก และในต่างประเทศปัญหาที่พบจากภาษีมรดกคือทายาทไม่มีเงินชำระภาษี สุดท้ายต้องขายสมบัติมาจ่ายภาษีแทน ในหลายประเทศจึงยกเลิกภาษีดังกล่าวไป ในไทยเองพ.ร.บ.ภาษีมรดกคงได้เห็นทันปี2557 นี้แน่ และคงใช้ได้ในปีหน้าคงต้องดูต่อไปว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไรด้วยเช่นกัน ในไทยเองเคยมีภาษีมรดกใช้ในปี2478 -2487 ก่อนจะยกเลิกไปมาแล้วครั้งหนึ่งเช่นกัน” Tags : สมชาย แสงรัตนมณีเดช • กรมสรรพากร • ภาษีมรดก • สุวรรณ วลัยเสถียร