"เอชเอสบีซี" ชูหยวนอีก 3 ปีสกุลเงินหลักแลกเปลี่ยนเสรีเทียบชั้นดอลลาร์กับยูโร เอื้อการค้าจีนในตลาดโลกโตเร็ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง จัดสัมมนาหัวข้อ "Hong Kong-Thailand Renminbi Business Forum" เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการทำธุรกรรมเงินหยวนในไทย และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง รวมทั้งใช้เป็นทางเลือกชำระเงินเพื่อการค้าและการลงทุนนอกเหนือจากการใช้เงินสกุลหลัก นายกิล ซิลวา ผู้อำนวยการบริหาร กลุ่มธุรกิจบริหารเงินและตลาดทุน ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ภายในปี 2560 หรืออีกใน 2-3 ปี หยวนจะขึ้นเป็นสกุลเงินหลักที่แลกเปลี่ยนได้เสรีในตลาดโลก เทียบเท่าดอลลาร์และยูโร โดยการใช้หยวนในการค้าระหว่างประเทศของจีน เพิ่มขึ้นจาก 3% ของการค้าจีนในต่างประเทศทั้งหมดเมื่อปี 2553 มาเป็น 18% ในปี 2556 และคาดจะเพิ่มเป็น 30% ในปี 2560 ขณะที่สถิติการค่าระหว่างประเทศด้วยเงินหยวนเพิ่มขึ้นจากอันดับ 4 ที่ระดับ 1.89% ในเดือนม.ค.ปี 2555 มาอยู่อันดับ 2 ในเดือนต.ค.2556 ด้วยสัดส่วนการใช้ 8.66% ของทั้งหมด แซงหน้ายูโรที่ตกมาอยู่อันดับ 3 จากสัดส่วนที่ใช้ 6.64% นอกจากนี้หยวนเป็นสกุลเงิน ที่มีการซื้อขายกันมากสุดอันดับ 9 ของโลกในปัจจุบัน และมีเงินฝากในตลาดโลกที่เป็นเงินหยวนรวมกันกว่า 1.7 ล้านล้านหยวน ขณะเดียวกันหากพิจารณาจากรายงานของธนาคารกลาง 20 ประเทศทั่วโลกรวมไทยพบว่า มีแผนที่จะถือครองเงินหยวนไว้ในทุนสำรอง ซึ่งความต้องการเช่นนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เงินหยวนในต่างประเทศสามารถแลกเป็นสกุลเงินอื่นได้เสรี และทำธุรกรรมถ่ายโอนจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งได้ ซึ่งนายซิลวา เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ตลาดใช้เงินหยวนภายในจีนกับตลาดเงินหยวนในต่างประเทศ จะร่วมเป็นตลาดเดียวกันได้ "แผนการเชื่อมโยงตลาดหุ้นฮ่องกงกับตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ของจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นการวางรูปแบบที่เอื้อให้นักลงทุนจากฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ สามารถซื้อขายหุ้นใช้เงินหยวนในตลาดหุ้นทั้งสองตลาดได้คล่องตัว ช่วยส่งเสริมการใช้เงินหยวนในระดับสากลได้อีกขั้นหนึ่ง" นายซิลวา อธิบาย ปัจจุบันไทยจัดสรรเงินซื้อตราสารหนี้ 7 พันล้านหยวน และอีก 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อตราสารหนี้สกุลเงินหยวนในจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนมาเลเซียเป็นธนาคารกลางแห่งแรกในอาเซียนที่ถือครองหยวนใช้เป็นทุนสำรองส่วนหนึ่ง ส่วนอังกฤษออกพันธบัตรสกุลเงินหยวนไว้เป็นทุนสำรอง ออสเตรเลียลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจีน 5%ของทุนสำรองทั้งหมด ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และซาอุดีอาระเบีย มีแผนจะกระจายทุนสำรองระหว่างประเทศมาถือครองเงินหยวนมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางจีน คาดการณ์ว่า ทุนสำรองของกลุ่มประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาจะใช้เงินหยวนเป็นทุนสำรองในสัดส่วน 20% แนวโน้มการใช้หยวนชำระเพื่อการค้าทั่วโลกจากนี้ไปและใน 2558 มีแต่จะเพิ่มขึ้น ซึ่ง 30% ของการค้าของจีนทั้งหมด หรือ 50% ของการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในรูปเงินหยวนจะเท่ากับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นการช่วยหนุนบทบาทของเงินหยวนในตลาดการค้าโลก ขึ้นเป็นสกุลเงินหลักสำคัญที่สุดอันดับ 3 รองจากดอลลาร์และยูโรได้ จีนถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 12% การส่งออกและนำเข้าของไทยส่วนใหญ่อยู่ในรูปของดอลลาร์คิดเป็นกว่า 80% ของเอกสารการทำธุรกรรมการค้า แต่การทำธุรกรรมในรูปเงินหยวนมีเพียง 0.08% ของการส่งออกไทยไปจีน และ 1% ของการนำเข้าจากจีน สะท้อนมีโอกาสอีกมากที่ไทย จะเพิ่มการทำธุรกรรมการค้าในรูปเงินหยวนให้มากขึ้น "เอชเอสบีซีสำรวจได้จากบริษัท 1,400 แห่งทั่วโลก พบว่าครึ่งหนึ่งใช้เงินหยวนทำธุรกรรมแล้วอีกครึ่งหนึ่งอยากจะใช้ และเหตุผลที่อยากใช้หยวน คือสามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น ลดความผันผวนกับความเสี่ยงกับค่าใช้จ่ายด้านอัตราแลกเปลี่ยน และทำให้แข่งขันได้มากขึ้น จากการทำการค้ากับจีน รวมทั้งมีโอกาสได้ส่วนลดกับราคาซื้อขายที่ดีกว่า" ด้านนายวินเซนต์ ลี ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกิจการต่างประเทศ ธนาคารกลางฮ่องกง กล่าวว่า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทย ในทางทฤษฎี การใช้หยวนเทรดช่วยลดความเสี่ยงค่าเงิน และมองในภาพใหญ่การค้าระหว่างไทยกับจีนขยายตัวในอัตราเร่ง การใช้หยวนเทรดจะช่วยเชื่อมโยงให้การค้าระหว่างไทยกับจีน ให้ขยายตัวได้มากขึ้น นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. พยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย หันมาใช้เงินหยวนในการค้าและการลงทุนที่มากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินสกุลหลัก นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินหยวนน้อยมากโดยไม่ถึง 1% แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของการค้าระหว่างไทย-จีน สำหรับมูลค่าการค้าไทย-จีนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 25,256.38 ล้านดอลลาร์ ไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 10,403.57 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปจีนมูลค่า 14,852.81 ล้านดอลลาร์ นายสิทธิชัย จิวัฒน์ธนากุล ผู้จัดการทั่วไป สาขาฮ่องกง ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ความนิยมเงินหยวนเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนผ่านธุรกรรมผ่านเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ที่ฮ่องกงในแต่ละปีเริ่มมีการเติบโตขึ้นประมาณ 20-30% แต่การซื้อขายด้วยเงินหยวนเพื่อการค้าหรือการลงทุน ปัจจุบันยังมีอุปสรรคพอสมควร เพราะไม่สามารถแลกเงินแล้วนำไปลงทุนได้อย่างเสรี หาอนาคตมีความคล่องตัวตรงนี้มากขึ้น เชื่อว่าเงินหยวนจะยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น Tags : ธปท. • เงินหยวน • ยุโรป • จีน • ดอลลาร์