นักวิเคราะห์คาดนโยบายปฏิรูปไอซีทีกระทบกำไรกลุ่มสื่อสาร โดยเฉพาะธุรกิจให้บริการเครือข่าย การปฏิรูปด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารของประเทศ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่าย เนื่องจากมีความเสี่ยงการประมูลคลื่นความถี่จะล่าช้าออกไปราว 1 ปี บล.เคเคเทรด กล่าวว่า นโยบายดิจิทัล อีโคโนมี จะมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดการสื่อสารช่วง 1 ปี อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กับภาคเอกชนมากขึ้น เนื่องจากงบรัฐค่อนข้างจำกัด โดยจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการวางระบบสื่อสาร ภารกิจกระทรวงไอซีทีปีนี้ จึงมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีไปให้บริการแบบบูรณาการ โดยเฉพาะบริการโครงข่ายสายไฟเบอร์ออฟติคเป็นโครงข่ายหลักเชื่อมการใช้งาน เพื่อรองรับนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี รวมทั้งปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดภารกิจซ้ำซ้อน ส่วนการแก้ไขข้อพิพาทสัมปทานดาวเทียม และสัมปทานโทรศัพท์มือถือ มีการตั้งคณะกรรมการมาตรา 72 เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ประเมินว่า ท่าทีของกระทรวงไอซีที ต่อประเด็นนี้ประนีประนอมกว่าปี 2549 บล.เคเคเทรด ระบุว่า จากการเข้าพบ นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ได้ระบุการผลักดันนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี (DIGITAL ECONOMY) จะมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทำให้ต้องปรับโครงสร้าง และต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับคาดอีก 2-3 เดือน จะเห็นทิศทางดำเนินงาน โดยจุดเริ่มต้นของดิจิทัล อีโคโนมี จะเริ่มจากการบูรณาการโครงข่ายหลัก ให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น รวมทั้งต่อยอดบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเออีซี แม้การขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างเป็นรูปธรรมต้องใช้เวลาเกิน 1 ปี แต่ฝ่ายวิจัยมองว่า เป็นโอกาสต่อการเติบโตของตลาดสื่อสาร รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน เพราะงบประมาณของรัฐค่อนข้างจำกัด มองว่า หุ้นที่เกี่ยวข้องและจะได้ประโยชน์ก่อนจากนโยบายนี้คือ กลุ่มผู้ให้บริการวางระบบสื่อสาร ได้แก่ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) บริษัท ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) และ บริษัท สามารถเทลคอม (SAMTEL) การปฏิรูปบริษัท ทอท. (TOT) และบริษัท กสท โทรคมนาคม (CAT) เป็นหนึ่งในภารกิจของกระทรวงไอซีที ที่ต้องดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง ปัจจุบันมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน และจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาแนวทางการปฏิรูป คาดการวางแนวทางปฏิรูป 2 หน่วยงานนี้ ใช้เวลา 5-6 เดือน ฝ่ายวิจัย จึงมองว่าความชัดเจนของการปฏิรูป ทอท. และ กสท. จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปิดประมูลคลื่น 900/1800 เมกะเฮิรตซ์ กรณีแย่สุด หากการปฏิรูปทอท. และ กสท ล่าช้าเกินกว่า 6 เดือน จะเป็นความเสี่ยงต่อการเปิดประมูลคลื่น 900/1800 เมกะเฮิรตซ์ จะล่าช้าเกิน 1 ปี หรือไม่สามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนก.ค. 2558 ซึ่ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จะถูกกดดันจากประเด็นนี้มากสุด ในทางกลับกันหากการประมูลคลื่นสามารถเกิดขึ้นภายใน ก.ค. 2558 เชื่อว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมากสุด เมื่อเทียบกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มสื่อสารเท่ากับตลาด เพราะการแข่งขันที่เข้มข้น และความไม่แน่นอนเรื่องกฎเกณฑ์ของทางการ ยังคงกดดันอยู่ในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งคาดว่าผลประกอบการของทุกบริษัทในกลุ่ม จะออกไปในแนวเดียวกับเมื่อไตรมาส 2 ปีนี้ แม้ช่วงที่ผ่านมาการแข่งขันเข้มข้น แต่การบริโภคก็กลับคืนมาแล้ว จึงคาดว่า กำไรสุทธิของผู้ประกอบการทุกราย จะทรงตัว หรือดีขึ้นเล็กน้อย ฝ่ายวิจัยยังคงชอบหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนสม่ำเสมออย่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ในช่วงที่ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ "ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มสื่อสารเท่ากับตลาด เพราะกังวลกับการเลื่อนประมูลคลื่น 4จี และความไม่แน่นอนเรื่องกฎเกณฑ์ของทางการ คิดว่าความคืบหน้าเรื่องการประมูลคลื่น 4จี และการที่ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่บริการด้านข้อมูล ถึงจุดอิ่มตัว จะช่วยปลดล็อกมูลค่าหุ้นกลุ่มสื่อสาร ดีแทค ยังคงเป็นหุ้นเด่นในระยะสั้นกลุ่มสื่อสาร เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่าคู่แข่ง และประหยัดต้นทุนที่จ่ายให้ทางการได้มากกว่า โดยได้รับผลจากการแข่งขันน้อยกว่า และใช้เงินลงทุนน้อยกว่า" Tags : ปฏิรูปไอซีที • กำไร • กลุ่มสื่อสาร