พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ได้ฝากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดูแลเรื่องสื่อโซเชียลมีเดีย (ไอซีที) ที่มีการใช้งานจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษ ถ้าไม่มีการดูแลให้ดี บางครั้งกระทบกับความมั่นคง จึงขอให้ไอซีทีหารือกับกระทรวงอื่นๆว่าจะดูแลผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลอย่างไร "นายกฯเน้นย้ำว่าเป็นการดูแลไม่ใช่การควบคุม ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน เพื่อจะทำให้สังคมดูดีขึ้น จึงฝากดูข้อกฎหมายเรื่องนี้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ต่อมาคือเรื่องของการอ้างแหล่งข่าวของสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อหลักที่ตรวจสอบที่มาไม่ได้ อันจะมีผลกระทบด้านความมั่นคงเช่นกัน ซึ่งนายกฯจึงรวมเรื่องนี้ไปด้วย โดยให้ลองไปกำหนดแนวที่ทางชัดเจน ยืนยันว่าไม่ใช่ควบคุมแต่เป็นการดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ละเมิดซึ่งกัน ซึ่งต้องประสานข้อมูลกัน เพราะบางเรื่องคาบเกี่ยวแต่ละกระทรวง ต้องมาคุยหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน เมื่อถามว่า แหล่งข่าวในความหมายของนายกฯ หมายถึง แหล่งข่าวที่ปรากฎในโซเชียลมีเดีย หรือแหล่งข่าวที่ปรากฎอยู่ในสื่อทั่วไป พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ท่านพูดรวมๆกันไป เพราะในสื่อหลากหลายรูปแบบก็มีการพูดถึงแหล่งข่าว ซึ่งตนก็เข้าในว่าแหล่งข่าวอาจจะไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยตัว ก็ไม่เป็นอะไร แต่นายกฯหมายถึงว่ากรณีบางข่าวที่มีผลกระทบกับความมั่นคง เมื่อเวลาผ่านมาแล้วไม่เป็นจริงอย่างที่แหล่งข่าวได้ให้ข่าวไว้ นายกฯถามว่าใครจะรับผิดชอบ นายกฯจึงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการประชาสัมพันธ์ไปคุย ไม่ว่าจะเป็นสำนักนายกฯ กระทรวงไอซีที ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสร้างความเข้าใจแบบไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน ดูแลกันแบบไม่ให้เกิดผลกระทบ แต่ไม่ได้ควบคุม ติดต่อขอข้อมูลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ คงจะต้องมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงสื่อสารมวลชนมาพูดคุยกัน เมื่อถามว่า มีกฎหมายหมิ่นประมาทใช้อยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่ใช้กฎหมายดังกล่าวดำเนินการ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า จะไปฟ้องใครได้ ในเมื่อใช้เป็นแหล่งข่าว และที่ผ่านมาก็ไม่มีใครค้าความ ผ่านแล้วก็ผ่านไป ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบ นายกฯได้บอกว่า ขอให้ทำใจร่มๆ แล้วมองว่าเราอยากจะทำให้สังคมได้รับการดูแล ไม่ได้จ้องที่จะจับผิดใคร แต่อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพราะการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ก็ต้องมีทุกเรื่องด้วย เมื่อถามต่อว่า การเสนอนโยบายอย่างกว้าง เมื่อลงไปถึงภาคปฏิบัติเขาจะเร่งสร้างผลงานเพื่อตอบสนองนโยบายหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่หรอก นายกฯเน้นว่าในสมัยก่อนๆที่ผ่านมา เวลากำหนดนโยบายแล้วผู้ที่รับผิดชอบกลายเป็นผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบาย ระดับผู้ขับเคลื่อน หรือระดับผู้ปฏิบัติจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น ทุกระดับจุต้องเข้าใจซึ่งกันและกันว่าแค่ไหนอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ และไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน "นายกฯบอกว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นดูแลเรื่องงานประชาสัมพันธ์ สำนักนายกฯ กระทรวงไอซีทีเชิญองค์กรสื่อ ไปคุยกันว่าจะทำอย่างไรแบบไม่ละเมิดกันและกัน ดูแลกันแต่ไม่ได้ควบคุม" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว