ทีมงาน Facebook ออกมาให้รายละเอียดเชิงเทคนิคของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ Facebook Messenger ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม Facebook บอกว่าตอนแรกสุดนั้นสร้าง Messenger ขึ้นมาเป็นระบบส่งข้อความแบบเดียวกับอีเมล แต่สุดท้ายมันก็พัฒนาตัวเองกลายมาเป็นระบบส่งข้อความด่วนที่ใช้บนอุปกรณ์พกพา อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานทางไอทีกลับไม่ต่างไปจากแพลตฟอร์มดั้งเดิมมากนัก ทำให้เกิดปัญหาคอขวดและใช้ปริมาณข้อมูลมากเกินจำเป็น ทีมงานวิศวกรของ Facebook จึงต้องปรับปรุงระบบเบื้องหลังของ Facebook Messenger ใหม่ โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งปี การปรับปรุง Messenger แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การปรับปรุงฝั่งไคลเอนต์ เดิมที แอพ Messenger จะได้รับแจ้งจากเซิร์ฟเวอร์ผ่านระบบ push ว่ามีข้อมูลชิ้นใหม่ส่งเข้ามา จากนั้นแอพจะเข้าไปดึง (pull) ข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ผ่านโพรโทคอล HTTPS และได้ข้อมูลเป็น JSON ขนาดใหญ่กลับมา แอพจะนำข้อมูลนี้ไปปรับปรุงหน้าจอสนทนาให้ผู้ใช้เห็นข้อความใหม่ ระบบใหม่ของ Messenger จะดึงข้อมูลแบบ pull เฉพาะครั้งแรกที่ติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ หลังจากนั้นจะแจ้งบอกรับข้อมูล (subscribe) โดยรับเฉพาะส่วนต่าง (delta) ข้อมูลชิ้นใหม่จะถูกส่งมายังแอพ Messenger ด้วยระบบ push ผ่านโพรโทคอล MQTT ที่ใช้แบนด์วิธน้อยและกินพลังงานต่ำ การสื่อสารแบบใหม่นี้ทำให้แอพไม่ต้องร้องขอข้อมูลผ่าน HTTPS ทุกครั้งแบบเดิม Facebook ยังเปลี่ยนวิธีการเรียงข้อมูลจากเดิมที่ใช้ JSON มาเป็น Apache Thrift ซึ่งลดขนาดของการส่งข้อมูล (payload size) ลงได้ 50% การปรับปรุงฝั่งเซิร์ฟเวอร์ เดิมที ข้อความแชทถูกเก็บลงฮาร์ดดิสก์ทั้งหมด เมื่อผู้ใช้รายหนึ่งเริ่มส่งข้อความ เซิร์ฟเวอร์ของ Facebook จะต้องเขียนข้อความนี้ลงดิสก์ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยเรียกไคลเอนต์ของผู้รับข้อความมาอ่านข้อมูลที่อยู่บนดิสก์ ปัญหาของการเก็บข้อมูลแบบนี้คือไม่สามารถขยาย (scale) ได้ดีนัก เพราะดิสก์ตัวเดียวกันเก็บทั้งข้อความทั้งหมดที่คุยมา (conversation history) และข้อความล่าสุดที่คุยกัน (real-time data) ระบบการเก็บข้อมูลแบบใหม่จึงเปลี่ยนมาใช้ระบบคิวที่เรียกว่า Iris (ดูภาพประกอบ) โดยจะมีพอยเตอร์ 2 ตัวทำหน้าที่ต่างกัน พอยเตอร์ตัวแรกจะบอกว่าแอพมือถืออ่านข้อความไหนเป็นข้อความล่าสุด ส่วนพอยเตอร์อีกตัวจะบอกว่าข้อความล่าสุดที่อยู่ในดิสก์คือข้อความไหน เมื่อมีคนส่งข้อความมาหาเราขณะที่ออฟไลน์ เซิร์ฟเวอร์ของ Facebook จะรับข้อความนี้ไว้ในคิวแล้วเขียนลงดิสก์ พอยเตอร์ดิสก์จะเปลี่ยนตำแหน่งมายังข้อความล่าสุดที่ได้รับ เมื่อเราออนไลน์ แอพ Messenger จะสื่อสารกับระบบคิวบนเซิร์ฟเวอร์เพื่อดูว่าข้อความล่าสุดในแอพคืออะไร และข้อความล่าสุดบนเซิร์ฟเวอร์คืออะไร จากนั้นระบบคิว Iris จะส่งเฉพาะข้อความใหม่ไปยังแอพบนมือถือ ระบบคิว Iris ช่วยให้ Facebook สามารถเก็บข้อมูลลงดิสก์เป็น tier แยกตามความใหม่ของข้อความได้ ข้อความใหม่ล่าสุดจะถูกเก็บในหน่วยความจำของ Iris โดยตรง ข้อความในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเก็บไว้ในระบบเก็บข้อมูลหลังบ้านของคิว Iris ซึ่งเป็น MySQL ที่รันอยู่บนหน่วยความจำแบบแฟลช ข้อความที่เก่ากว่าหนึ่งสัปดาห์ (ที่มีโอกาสย้อนอ่านน้อยมาก) จะถูกเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์มาตรฐาน และอ่านข้อมูลเมื่อถูกเรียกใช้จากผู้ใช้เท่านั้น ผลของการแยกเก็บข้อมูลแบบ tier ทำให้การจัดการข้อความจำนวนมหาศาลของ Facebook มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมมาก ผลที่ได้คือระบบใหม่ที่ลดปริมาณการรับส่งข้อมูล (ไม่รวมรูปภาพหรือวิดีโอ) ลง 40% และลดจำนวนผู้ใช้ที่พบปัญหาข้อความส่งไม่ไปลงได้ 20% ที่มา - Facebook Engineering Blog Facebook Messenger, Facebook, High Performance Computing