นักวิชาการเสนอรัฐทำ'งบประมาณข้ามปี'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 26 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    นักวิชาการเสนอทำ "งบประมาณข้ามปี" เพิ่มงบลงทุนหลังซึมยาว-กู้ 2 ล้านล้านไม่ผ่าน

    แม้การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสามารถ "ปลดล็อค" ปมปัญหาเรื่อง "อำนาจ" ของรัฐบาลรักษาการได้ และเริ่มเดินหน้าปรับขบวนการบริหารราชการแผ่นดินให้เข้ารูปเข้ารอยมากที่สุด โดยงานแรกประเดิมจ่ายเงินชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว วันจันทร์ที่จะถึงนี้ เป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท

    ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจมีปัญหาถึงขั้นจ่ายเงินเดือนข้าราชการไม่ได้ เพราะไม่มีนายกรัฐมนตรีตัวจริง ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มนั้น ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงบประมาณก็ออกมายืนยันแล้วว่า การจัดทำงบประมาณน่าจะไม่มีปัญหา และไม่กระทบกับรายจ่ายประจำ

    อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่ประเทศไทยประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานกว่า 6 เดือน และมีแต่รัฐบาลรักษาการบริหารประเทศมานานถึงกว่า 5 เดือน ย่อมส่งผลกระทบต่องบลงทุนต่างๆ ที่เกิดความล่าช้าไปมาก หนำซ้ำร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท หรือ "กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน" ก็ไม่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีความเสี่ยงสูงที่ประเทศไทยอาจเจอภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าเป้า เพราะไม่มีงบสำหรับลงทุนขนาดใหญ่

    จากปัญหาดังกล่าว ดร.ปรีชา สุวรรณทัต นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินการคลัง จึงเสนอว่า รัฐบาลใหม่หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถจัดทำ "งบประมาณข้ามปี" แทนหรือคู่ขนานไปกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ได้ เพื่อให้โครงการระยะยาวที่ต้องอาศัยงบลงทุนหรือการก่อหนี้ สามารถใช้จ่ายผ่านระบบงบประมาณรายจ่ายข้ามปี มีกฎหมายรองรับ และผ่านการตรวจสอบจากสภานิติบัญญัติ

    ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ได้ให้คำนิยามของ "งบประมาณรายจ่ายข้ามปี" ว่า หมายถึงงบประมาณรายจ่ายที่ใช้ได้เกินปีงบประมาณ ตามวัตถุประสงค์และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย

    อาจารย์ปรีชา บอกว่า การจัดทำงบประมาณข้ามปี กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ อาจจะเป็น 18 เดือนหรือ 24 เดือนก็ได้ แต่ถ้าย้อนไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 70 ซึ่งอาจใช้เป็นกรอบเวลาในการจัดทำงบประมาณข้ามปีได้เหมือนกัน

    "ในกรณีพิเศษซึ่งสมควรจะมีแผนการต่อเนื่องกัน อันเป็นราชการแผ่นดินเกี่ยวกับสาธารณูปโภค และจำต้องจ่ายเงินแผ่นดินเป็นระยะเวลานานกว่าปีครึ่ง จะตราพระราชบัญญัติให้มีผลผูกมัดงบประมาณประจำปีก็ได้ แต่ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี"

    ถ้าใช้หลักนี้ก็สามารถจัดทำงบประมาณข้ามปีได้นานถึง 5 ปี ฉะนั้นกรอบเวลา 18 หรือ 24 เดือนย่อมไม่น่ามีปัญหา เป็นเรื่องที่สำนักงบประมาณสามารถเสนอรัฐบาลได้

    "ทราบว่าสำนักงบประมาณมีแนวคิดในเรื่องนี้ และผมก็เห็นด้วย ขอสนับสนุน เพราะจะสามารถแก้ปัญหางบประมาณรายจ่ายที่จะสิ้นสุดภายในวันที่ 30 ก.ย.ได้หลายประการ โดยเฉพาะงบลงทุน ถ้าใช้ตรงนี้จะมีผลช่วยได้มากทีเดียว และมีกฎหมายรองรับชัดเจน คือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 27(1) กับมาตรา 28 ซึ่งเขียนไว้ชัดเรื่องการกันเงินสำหรับงบประมาณรายจ่ายข้ามปีว่าสามารถกระทำได้"

    "นอกจากนั้น สมมติเรามี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายข้ามปี ให้ใช้ได้ 18 เดือน ปรากฏว่าเมื่อใกล้ๆ จะครบ 18 เดือน ยังมีบางรายการไม่สามารถจ่ายเงินได้ทัน ก็สามารถเอางบประมาณรายจ่ายข้ามปีกันเงินไว้ไปใช้อีก 3 เดือนปฏิทินต่อไปได้ด้วย"

    อาจารย์ปรีชา บอกอีกว่า เรื่องงบประมาณรายจ่ายข้ามปีนี้ ประเทศไทยควรใช้ตั้งนานแล้ว แต่กลับไม่เคยใช้เลย ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่รัฐบาลในอดีตอาจกลัวว่างบรายจ่ายข้ามปีต้องมีวงเงินสูงแน่ๆ อาจทำให้มีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นมาก แต่ปัจจุบันงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็เป็นงบขาดดุลอยู่แล้ว ฉะนั้นการใช้งบประมาณข้ามปีก็สามารถแก้ปัญหาได้ แล้วกู้เงินมาชดเชยงบประมาณรายจ่ายขาดดุล

    นักกฎหมายชื่อดัง กล่าวด้วยว่า ข้อติดขัดในขณะนี้คือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายข้ามปี ต้องออกเป็น พ.ร.บ. ฉะนั้นต้องรอจนกว่าจะมีสภานิติบัญญัติ

    "ปัญหาที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ถ้าย้อนไปดูสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีปีหนึ่ง ใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ให้ถือว่าเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยไม่ผ่านการกลั่นกรองของสภา เรื่องนี้แม้จะทำได้ แต่ก็ไม่ควรทำ ขัดกับระบอบประชาธิปไตย แต่ในทางกฎหมายสามารถทำได้ จริงๆ แล้วในความเห็นของผมควรให้วุฒิสภาทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร เหมือนระบบสภาเดียว แล้วพิจารณาเหมือนกับ 2 สภา เพื่อกลั่นกรองร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ แต่ขณะนี้ก็มีการยุบวุฒิสภาไปแล้ว จึงต้องรอดูว่า คสช.จะทำอย่างไร"

    Tags : นักวิชาการ • งบประมาณ • ปรีชา สุวรรณทัต

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้