สมาคมผู้ตรวจสอบภายใน หวังยกระดับการตรวจสอบภายในบริษัทจดทะเบียน หวังลดความเสี่ยงก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ นายสุรพงษ์ ชูรังสฤษฎิ์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย (สตท.) กล่าวว่า สตท. เตรียมจัดโครงการผู้สนับสนุนการตรวจสอบภายในให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงบริษัทที่เตรียมเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ (ไอพีโอ) เพื่อช่วยให้ฝ่ายตรวจสอบภายในของบริษัทนั้นๆ มีการตรวจสอบภายในที่ดี ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการช่วยลดความเสี่ยงภายในที่อาจจะเกิดขึ้น คาดสามารถให้บริการได้ในไตรมาส 2 ปี 2558 สตท.คาดว่า จะเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าวได้หลังจากไตรมาส 1 ปี 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาผู้ตรวจสอบเพื่อดำเนินงานโครงการดังกล่าว และมีแนวทางที่จะให้ผู้ตรวจสอบภายในอาวุโสที่เกษียณอายุไปแล้วเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะการใช้ผู้ตรวจสอบภายในที่จบใหม่ต้องใช้เวลาฝึกฝน ส่วนผู้ตรวจสอบภายในที่มีประสบการณ์มาแล้ว 3-4 ปี ก็จะมีต้นทุนสูง รูปแบบการส่งผู้ตรวจสอบภายใน ช่วยชี้แนวทางการตรวจสอบและป้องกันความเสี่ยงภายในบริษัท จะใช้เวลา 6 เดือน "บจ.ขนาดกลาง และขนาดเล็กส่วนใหญ่ จะเอ้าท์ซอร์สมาตรวจสอบภายใน ซึ่งเขาไม่เข้าใจการตรวจสอบภายใน ต้องเข้าไปดูอะไรบ้าง โดย สตท. เตรียมทำโครงการเป็นพี่เลี้ยง และทำให้ฝ่ายตรวจสอบภายในทำงานมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นจะเข้าไปพบกับตลาดหลักทรัพย์ เพื่อช่วยเป็นตัวกลางเชื่อมกับบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่เตรียมเข้าตลาด คาดเริ่มให้บริการไตรมาส 2 ปี 2558" นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ ประธานบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่เตรียมตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ 200 บริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังต้องปรับโครงสร้างภายใน เพื่อให้เกิดระบบน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะระบบตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ และระบบบัญชี ต้องใช้เวลาเตรียมตัว 1-2 ปี หลังจากนั้นบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี จึงจะรับเข้าทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ในฐานะผู้ตรวจสอบจากภายนอก ซึ่งจะช่วยทำให้มุมมองต่อความเสี่ยงของบริษัทแตกต่างออกไป การสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นภายในบริษัท ที่สำคัญสุดคือผู้บริหาร รองมาคือคณะกรรมการตรวจสอบ และผู้ตรวจสอบภายใน บริษัทที่มีประสิทธิภาพทั้ง 3 ปัจจัย รวมถึงผู้ตรวจสอบบัญชีรายอื่นๆ ก็มีความพร้อมจะร่วมงานด้วย "ยอมรับว่าบริษัทจดทะเบียน และบริษัทขนาดใหญ่ปัจจุบันมีอัตราการเกิดการฉ้อโกงขึ้นมาก เพราะมีเทคโนโลยี เอื้อให้เกิดการฉ้อโกงขึ้น โดยมักจะเกิดจากเจตนาของผู้บริหาร ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการฉ้อโกง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็กระทบต่องบการเงิน ผู้ถือหุ้น และราคาหุ้น ความเสี่ยงเรื่องการฉ้อโกงจึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ" นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบแก้ไขหลักเกณฑ์ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ เช่น กรรมการ ผู้บริหารของบริษัทที่ออกหุ้น ได้รับจัดสรรหุ้นที่เสนอขายได้ โดยต้องแบ่งสัดส่วนหุ้นที่จะจัดสรรให้ไว้ชัดเจน เปิดเผยการจัดสรรไว้ในแบบไฟลิ่ง และหนังสือชี้ชวน การเสนอขายหุ้นไอพีโอให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับจัดสรรไม่เกิน 25% ส่วนกรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เสนอขายหุ้น หรือวอร์แรนท์แบบพีโอ จัดสรรให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ แต่ต้องระบุการจัดสรรไว้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะเสนอวาระอนุมัติการออกหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรู้ทิศทางการเข้ามาถือหุ้นของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และระวังการออกเสียงของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย ส่วนหุ้นกู้ ตั๋วเงิน และ DW เปิดให้บุคคลเกี่ยวข้องรับจัดสรรตามหลักเกณฑ์เดียวกับผู้ลงทุนทั่วไป Tags : สุรพงษ์ ชูรังสฤษฎิ์ • สตท. • สมาคมผู้ตรวจสอบภายในฯ • ตลาดหุ้น • บจ. • ไอพีโอ