Cisco ร่วมมือกับ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.) พัฒนาโมเดลสมาร์ทซิตี้ครอบคลุมหลายด้าน โดยทำเป็นโครงการนำร่องเฟสแรกในเขตมหาวิทยาลัยก่อน Blognone มีโอกาสได้ลงไปยังพื้นที่และดูตัวอย่างสมาร์ทซิตี้ในด้านต่างๆ ด้วยจึงเขียนเป็นบทความมาฝาก ระบบรักษาความปลอดภัย เริ่มต้นจากทางเข้ามหาวิทยาลัย เรื่องจากในวิทยาเขตมีโรงพยาบาลด้วย จึงมีคนเข้าออกตลอดทั้งคนในและคนทั่วไป ตรงทางเข้าจึงมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรและนักศึกษาภายในวิทยาเขต ระบบกล้องมอนิเตอร์รถที่วิ่งเข้า-ออก บุคลากรที่เป็นคนในและนักศึกษาจะมีบัตรประจำตัวฝั่งชิปสามารถสแกนเข้าได้เลย ส่วนคนทั่วไปต้องใช้บัตรประชาชนมาสแกนเพื่อเก็บข้อมูลไว้ก่อน ข้อมูลจะแสดงผลเรียลไทม์ที่ war room ของมหาวิทยาลัย ในกรณีที่ตำรวจแจ้งลักษณะบุคคลและรถต้องสงสัยเข้ามา ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องความลอดภัยจะเข้าไปคีย์ข้อมูลดักไว้ก่อน ถ้ากล้องตรวจเจอระบบจะแจ้งเตือนเข้ามาได้ Smart Farm เนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่ จึงมีการจัดทำฟาร์มต้นแบบ smart farm ร่วมกับคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการเกษตรเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร โดยให้สามารถเพาะเลี้ยงผลไม้ ผลผลิตการเกษตรได้อย่างแม่นยำ ในที่นี้มีการเพาะเลี้ยง Melon ที่สามารถรองรับการสั่งตัดความหวาน และขนาดของผล ทราบระยะเวลาของการเลี้ยง การตัดผลผลิต โครงสร้าง Cisco ที่นำมาใช้คือ datalocker ติดบนหลังคา ไว้อ่านข้อมูลแสดงแดด ภูมิอากาศ ความชื้นในอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของเมล่อน ที่เกษตรกรต้องเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อมาวิเคราะห์การปลูกต่อไป อุปกรณ์ Premix ไว้แสดงข้อมูลจาก weight sensor ที่ติดตามต้นเมล่อน เกษตรกรจะรู้ว่าน้ำหนักผลเมล่อนในแต่ละแปลงมีน้ำหนักเท่าไร เพื่อจะได้คำนวณสูตรการให้ปุ๋ยและน้ำต่อไปได้ตามการเติบโตของพืช ป้องกันการให้ปุ๋ยและน้ำมากเกินไปซึ่งจะเป็นการสิ้นเปลิองทรัพยากร ปัจจุบันโครงการเกษตรดังกล่าวมีไว้ให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ทดลองงานก่อนจะเริ่มธุรกิจจริงเมื่อเรียนจบออกไป และยังได้ขยายผลไปยังแปลงสาธิตของคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คลองหอยโข่ง เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประชาชนต่อไปด้วย Smart Mobility ในโครงการนำร่องมีการติดตั้งป้ายรถบัส พร้อมกับจอแสดงผลระบบ smart transportation ที่สามารถแสดงตำแหน่งของรถโดยสาร EV ทำให้นักศึกษาสามารถทราบเวลาของรถที่จะมาถึงจุดจอดได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งนัศึกษาสามารถเช็คได้เองผ่านแอพพลิเคชั่น PSU ด้วย นอกจากนี้ยังติดตั้งเซนเซอร์จับค่ามลภาวะที่ป้ายรถบัส ในกรณีที่รถบัสอื่นๆ จอดรอผู้โดยสารนานเกินไป ค่าฝุ่นบริเวณนั้นก็อาจจะสูง คนที่มอนิเตอร์ก็จะแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่บริเวณนั้น หรือคนขับรถคันนั้นให้ออกรถ หรือดับเครื่อง ที่พื้นยังติดตั้งเซนเซอร์สีส้ม เพื่อตรวจจับการจอดรถ บุคลากรจะสามารถหาที่จอดรถว่างผ่านแอพได้ ไม่ต้องคอยวนขับหาจนกว่าจะเจอเอง Smart Energy ตามถนนทางเดินจะมีไฟถนน ที่ติดตั้งเซนเซอร์ควบคุมการใช้งานตามเวลาที่รถสัญจรไปมาเยอะได้ เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า เซนเซอร์ดังกล่าวยังสามารถแสดงพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไปได้ด้วย ในมหาวิทยาลัยก็เริ่มนำรถโดยสารสาธารณะ EV มาให้บริการนักศึกษา และเริ่มให้บริการจุดจอดรถ พร้อมที่ชาร์จไฟฟ้าแล้ว เริ่มทำเป็นโครงการนำร่องในเขตมหวิทยาลัยก่อน โดยติดตั้งบริเวณ Smart Pole เสาไฟอัจฉริยะที่ประกอบด้วยสิ่งจำเป็นสำหรับการเป็นโครงสร้างพื้นฐานบนท้องถนนในอนาคตประกอบด้วย WiFi, Signage (สื่อประชาสัมพันธ์แบบดิจิทัล), กล้อง, เซนเซอร์อากาศ ฝุ่น, EV Charger และ Emergency button ระบบการดูแลเมือง ภายใน war room มีการสาธิต City Data Platform เป็นการสร้าง Data Adapter เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากหน่วยงานและฝ่ายต่างๆ เข้าสู่ City Data Platform ทำให้สามารถเชื่อมข้อมูลในระบบเดิม และระบบใหม่เข้าด้วยกัน และรองรับการวิเคราะห์ ประมวลผลสำหรับเมืองในอนาคต ตัวอย่างเช่น ระบบมอนิเตอร์ดูน้ำตามคลองและที่ระบายน้ำ หากน้ำสูงก็จะได้สามารถเตือนประชาชนให้ยกของขึ้นที่สูงได้ทัน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับ Cisco ยังครอบคลุมถึงภาคการศึกษา ดำเนินการก่อสร้าง Learning Space รวบรวมเครื่องมือเรียนรู้ ได้แก่ 3D Printer, 3D Scanner, Robot ให้นักศึกษาเข้ามาใช้งาน ซึ่ง Learning Space จะเสร็จในเดือนกันยายนนี้ นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Cisco ระบุเพิ่มเติมนอกเหนือจากเนื้อหาในโครงการนำร่อาว่า ตอนนี้ Cisco มีโครงการ Cisco Network Academy ให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ม.อ. ที่ให้ความรู้เบื้องต้นทางด้าน IoT และ DevNet ซึ่งให้ความรู้เฉพาะทางด้านเน็ตเวิร์กจากนักพัฒนาซอฟแวร์ของ Cisco มีการจัดการอบรม แบ่งปันความรู้และทักษะให้กับบุคลากรของ ม.อ.เพื่อรองรับความต้องการของโลกดิจิทัลในอนาคต ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ระบุว่า ตอนนี้โครงการยังอยู่ในระยะแรก และยังมีอีกหลายเฟสต้องทำ ถ้าโครงการเฟสแรกที่ทำมันเข้มแข็งและทำได้จริง การของบมาลงทุนเพิ่มก็จะไม่ใช่เรื่องยาก ผศ. ดร.นิวัติ พูดถึงความร่วมมือกับ Cisco เพิ่มเติมว่า การที่ได้ร่วมมือกับ Cisco ทำให้การสร้างสมาร์ทซิตี้ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ มองว่าการทำสมาร์ทซิตี้ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการที่เอางบรัฐบาลไปลงแล้วจบ เพราะประชาชนจะได้ประโยชน์จากสมาร์ทซิตี้จริงๆ ต่อไปใครเดือดร้อนเรื่องอะไรก็จะมีข้อมูลให้รัฐท้องถิ่นได้รู้ ไม่ต้องรอช่องทีวีไปทำข่าวถึงจะได้รู้ นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Cisco และ ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ผศ. ดร. วรรณรัช สันติอมรทัต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์กายภาพ ม.อ. วิทยาเขตหาดใหญ่ พูดถึงการลงทุนเทคโนโลยีและสมาร์ทซิตีี้ในท้องถิ่น ว่าเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการศึกษา เพราะแม้โครงสร้างจะเป็นของ Cisco แต่บุคลากร คนที่พัฒนาต่อก็ยังเป็นคนท้องถิ่น เท่ากับตลาดงานเทคโนโลยีในท้องถิ่นจะกว้างขึ้น นักศึกษาในสายงานนี้ก็จะมีงานทำอยู่ที่ภาคใต้ได้ไม่ต้องสมองไหลไปกองอยู่กรุงเทพอย่างเดียว Topics: CiscoThailandSmart CityInternet of Things