ยูเรกาตั้งบอร์ดคุมเสี่ยง

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 26 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ยูเรกา ดีไซน์ ตั้งคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงรับมือยุคเศรษฐกิจผันผวน พร้อมปรับแผนประเมินธุรกิจเป็นปีต่อปีรับมือออเดอร์ลูกค้าไม่เป็นตามคาด

    บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ (EUREKA) หนึ่งในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการออกแบบและผลิตเครื่องจักร สำหรับการประกอบและทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์จับยึดใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมการประกอบ และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จัดเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ยอมรับว่า ความเสี่ยงด้านธุรกิจในปัจจุบันมีเพิ่มขึ้น และเกิดขึ้นถี่กว่าเมื่อเทียบกับอดีต บริษัทจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงภายในบริษัท เพื่อหาวิธีรับมือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

    นายนรากร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ (EUREKA) กล่าวว่า หน้าที่หลักของคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงภายในคือการมอนิเตอร์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และหาวิธีแก้ไข ภายในคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงประกอบจากหัวฝ่ายต่างๆ ที่มากประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยกันคิดหาวิธีรับมือความเสี่ยง โดยปัจจุบัน คณะกรรมการมองว่าบริษัทมีความเสี่ยงอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจภายในประเทศ และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศ

    ขณะเดียวกัน ในส่วนของคณะกรรมการบริหาร ก็จะมีการประเมินภาพรวม และแผนธุรกิจกันถี่ขึ้น จากเดิมที่บริษัทจะวางแผนธุรกิจและกำหนดเป้าหมายในระยะ 3-5 ปี ปัจจุบันคงไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ เพราะปัจจัยเสี่ยงมีค่อนข้างมาก จึงปรับเป็นการกำหนดแผนธุรกิจและเป้าหมายในระยะ 1 ปี

    เขากล่าวว่า บริษัทมีกลยุทธ์รับมือความเสี่ยง 2 วิธีการหลักคือ การเพิ่มสินค้าของบริษัทเพื่อเข้าถึงลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเครื่องจักรประกอบชิ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีระดับสูง โดยล่าสุด ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป ( General Mandate ) โดยเป็นการจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวนหุ้นไม่เกิน 10% รวมเป็นจำนวน 17 ล้านหุ้น

    “การเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และเป็นการรองรับโอกาสและการขยายงานในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต โดยที่ผ่านมาเราได้มีการเจรจากับพันธมิตรญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปี คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้” นายนรากรกล่าว

    ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตร 3 ราย รายแรกเป็นพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นการพูดคุยเรื่องการร่วมทำธุรกิจเครื่องจักรประกอบและทดสอบในส่วนที่บริษัทไม่เคยทำมาก่อน เพื่อทดแทนการสั่งซื้อเครื่องจักรประกอบและทดสอบจากต่างประเทศ หวังผลเพื่อเพิ่มลูกค้าและมาร์จินโดยรวม

    รายที่สองเป็นพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน คุยเรื่องความมือทำธุรกิจแปรรูปชิ้นส่วน ซึ่งบริษัทยังไม่เคยทำธุรกิจแปรรูปวัตถุมาก่อน หวังผลเพื่อรองรับลูกค้าเทียร์ 2 และ 3 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้อยู่ในเทียร์ 2 และ 3 ถึง 1,000 บริษัท

    ส่วนรายที่สามเป็นนักลงทุนจากตะวันตกซึ่งเริ่มขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน ทั้งนี้ หากบริษัทได้ข้อสรุปกับพันธมิรายที่สาม จะสามารถหวังผลด้านการขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น

    “ถ้าตกลงได้กับรายใดรายหนึ่งแล้ว พันธมิตรก็จะเข้ามาถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 10% และจะมีความร่วมมือกันโดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจ บริษัทต้องการถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 50% ส่วนจะต้องใช้เงินสำหรับธุรกิจใหม่เท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับขนาดการลงทุนและความสามารถในการลงทุนของบริษัทเป็นหลัก ซึ่งบริษัทจะไม่ลงทุนเกินกำลังตัวเองเพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงเพิ่ม”

    อีกหนึ่งกลยุทธ์คือการขยายสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่ม เน้นการลงทุนในประเทศที่มีขนาดอุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างใหญ่ อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม ปัจจุบันบริษัทมีการจัดตั้งสาขาในต่างประเทศอินโดนีเซียแล้ว ในเดือนก.ค.2557 จะเปิดสาขาที่ประเทศอินเดีย ส่วนประเทศเวียดนาม จะมีการจัดตั้งสาขาในปี 2558 ทั้งนี้ เป้าหมายของการไปจัดตั้งสาขาก่อนคืองานบริการ เนื่องจากบริษัทเข้าใจธรรมชาติของผู้ซื้อเครื่องจักรประกอบว่าต้องการงานบริการหลังการขายที่มีประสิทธิภาพ

    นายนรากร กล่าวเพิ่มอีกว่า บริษัทตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศไว้ 30% ของรายได้รวมภายในปี 2558 และกำหนดแผนธุรกิจในต่างประเทศไว้ว่า ภายในปี 2559 ใน 3 ประเทศที่บริษัทขยายการลงทุนออกไปนั้น จะต้องมีโรงงานที่มีขนาดเท่ากับบริษัทในปี 2556 ในแง่ของความพร้อมด้านสายการผลิตและบริการลูกค้า

    อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอาจจะพลาด เนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก และแม้จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ด้านความต้องการชิ้นส่วนก็ยังมีปัญหา เพราะค่ายผู้ผลิตรถยนต์ใช้วิธีเกลี่ยชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศหลักของบริษัทแม่ให้กับบริษัทในเครือ ทำให้คำสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ไม่เพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดได้ตามเป้าหมาย

    สำหรับเป้าหมายธุรกิจเดิม ในระยะ 3 ปี (2556-2558) บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ในปี 2558 ที่ 680 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่ต้องปรับเป้าหมายใหม่ เนื่องจากปีนี้การเติบโตไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท โดยเชื่อว่ารายได้น่าจะเติบโตเพียง 5% หรือมีรายได้เพียง 420 ล้านบาทเท่านั้น สาเหตุหลักมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

    อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคาดหวังว่า ภายในปี 2560 รายได้รวมของบริษัทจะถึงระดับ 1,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเริ่มมีวงจรขาขึ้น และบริษัทลูกในต่างประเทศมีรายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

    Tags : ยูเรกา ดีไซน์ • นรากร ราชพลสิทธิ์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้