คลังชี้ปฏิรูปดันเครดิตไทย'ขยับ'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "สมหมาย"ระบุต่างชาติเข้าใจสถานการณ์ไทยมากขึ้น สนบ.แจงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เน้นกู้เงินในประเทศ

    กระทรวงคลังมั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแกร่ง เชื่อปีหน้าฟื้น แก้ปัญหาคอร์รัปชัน-ความเชื่อมั่น มีโอกาสขยับขึ้นระดับ “เอ” ชี้ต่างชาติเข้าใจการเมืองไทย ด้านแบงก์ชาติ มั่นใจแนวโน้มบริโภคดีขึ้น หลังการเมืองคลี่คลาย มองปีหน้าเศรษฐกิจโตตามศักยภาพ ขณะยอดขอบีโอไอ เพิ่มต่อเนื่อง

    กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้จัดประชุมประจำปี 2557 ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าร่วมประชุมด้วย

    ทั้งนี้ รมว.คลังและผู้ว่าการฯธปท. ได้หารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นนำต่างๆ เช่น ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ แบงก์ และธนาคารเฮชเอสบีซี

    นอกจากนี้ ยังได้เข้าพบสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ(เครดิต)ของโลก 3 แห่ง คือ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ ฟิตช์ เรตติ้ง โดยทั้ง 3 แห่ง ได้จัดอันดับความน่าเชื่อของไทยไว้ที่ระดับเดียวคือกัน คือ BBB+

    นายสมหมาย กล่าวว่าหากไทยมีความเข้มแข็งในเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ และมีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศสามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่สถาบันจัดอันดับทั้ง 3 แห่งจะปรับเครดิตไทยเพิ่มขึ้นเป็นระดับ A ในปี 2558

    นายสมหมาย กล่าวว่าในช่วงรัฐบาลชุดนี้ เครดิตไทยจะไม่ถูกปรับลดลงอย่างแน่นอน และมีโอกาสที่ปรับขึ้น ซึ่งหากได้ปรับขึ้นจะเป็นหน้าตาของประเทศ สิ่งที่จะตามมาคือทำให้ดอกเบี้ยที่รัฐบาล หรือเอกชนไปกู้เงินต่ำลง

    “ผมได้ขอบคุณไปทางสถาบันจัดอันดับเครดิตที่มีความอดทนไม่ลดเครดิตไทยปีที่แล้ว ซึ่งการพิจารณาเครดิตไทยนั้นดูโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจพบว่าของไทยยังดีอยู่ และมีความมั่นคงด้านการเงิน รวมถึง ความมั่นคงของค่าเงินบาท แม้คนไทยจะทะเลาะกัน ถือมีดถือดาบ แบ่งเป็น 2-3 สี แต่การเงินและการคลังของไทยยังดี ทำให้เครดิตไทยไม่ถูกปรับลดลง”นายสมหมายกล่าว

    เชื่อต่างชาติเข้าใจการเมืองไทย

    จากการหารือกับนักลงทุนของสหรัฐ ธนาคารต่างๆ รวมถึงสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ พบว่า เขาเข้าใจไทยมากขึ้นว่าทำไมถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งนักลงทุนเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับไทย และนักลงทุนพอใจกับการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ที่ทำในแบบรูปแบบประชาธิปไตยแม้จะไม่ผ่านการเลือกตั้ง แต่มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)

    “ผมบอกกับนักลงทุน และกลุ่มที่ไปพบว่า ถ้าไทยไม่ทำอย่างนี้ไทยก็จะดีลำบาก และนายกฯดีๆ ที่มาในลักษณะนี้ทั้ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เข้ามาพัฒนาประเทศมาก และผมก็หวังว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะไม่ต่างจาก 2 ท่านที่ถูกยกชื่อขึ้นมา”นายสมหมาย กล่าว

    มั่นใจเศรษฐกิจโตเกิน1.5%

    อย่างไรก็ตาม นายสมหมาย ยอมรับว่า การเดินทางไปครั้งนี้ รู้สึกไม่สบายใจที่รู้ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยสุดในอาเซียน โดยธนาคารโลกมองว่า เศรษฐกิจไทยจะโตได้แค่ 1.5% แต่ส่วนตัวมองว่า เศรษฐกิจของไทยโตได้มากกว่า 1.5% และหากการส่งออกขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี และผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจโตได้ใกล้ระดับ 2%

    “ผมต้องขอโทษประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่ไทยเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจในปี 2557 ของอาเซียนต่ำจากระดับที่ควรจะเป็น แม้แต่ลาวยังโตถึง 7% ผมรู้สึกอายที่เศรษฐกิจไทยโตในอัตราต่ำที่สุดในอาเซียน”นายสมหมาย กล่าว

    แม้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ต่ำ แต่ไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งอัตราการว่างงานต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ซึ่งนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่มุ่งเน้นการสร้างความโปร่งใสทางการคลังการปฏิรูปภาษีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วมรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนสหรัฐฯ

    ยกระดับ‘AMRO’เป็นองค์กรระหว่างปท.

    นอกจากนี้ นายสมหมาย ยังได้ลงนามในความตกลงเพื่อการจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO)ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศ ความตกลงฉบับนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้แก่ ประเทศกลุ่มอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับ AMRO จากสถานะบริษัทจำกัดขึ้นเป็นองค์การระหว่างประเทศ

    “การยกระดับ AMRO เป็นองค์การระหว่างประเทศนี้ จะส่งผลดีต่อทั้งประเทศไทยและต่อภูมิภาคอาเซียน+3 โดยจะเป็นการสร้างความมั่นใจว่าประเทศสมาชิกอาเซียน+3 จะมีองค์กรถาวรในการเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ มีสถานะและความสำคัญเท่าเทียมกับองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ รวมทั้ง ยังสามารถดึงดูดให้บุคลากรที่มีคุณภาพสูงมาทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และติดตามภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและของภูมิภาค”เขากล่าว

    ธปท.เชื่อศก.ปี58โตตามศักยภาพ

    ด้าน นายจิรเทพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธปท. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ผู้ว่าการธปท. มีโอกาสพบกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยโดยหนึ่งในประเด็นที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ความสนใจ คือ เรื่องความมั่นใจของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ดีขึ้นว่า เป็นเพียงชั่วคราวหรือไม่

    "ผู้ว่าฯการธปท. ชี้แจงว่า สถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลงน่าจะทำให้การบริโภคกลับสู่แนวโน้มปกติ อีกทั้งความต้องการใช้จ่ายที่ชะลอไว้ในช่วงก่อนหน้านี้น่าจะกลับมาเป็นปกติด้วย"

    นายจิรเทพ กล่าวว่าภาคเอกชนจะได้อานิสงส์จากการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพในปี 2558 นอกจากนี้ รัฐบาลเร่งดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปรับโครงสร้างพลังงาน รวมทั้งดูแลภาคเกษตรโดยไม่ใช้นโยบายการอุดหนุนราคา ทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ดีขึ้น ในภาพรวมในช่วงปีหน้ายังไม่เป็นห่วงเรื่องความมั่นใจทางธุรกิจ เพราะการปฏิรูปการเมืองเดินตามโรดแมพ 3 ช่วงตามที่ประกาศไว้

    เผยยอดขอ‘บีโอไอ’เพิ่มชัดเจน

    สำหรับประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนั้น ผู้ว่าการธปท. ได้ชี้แจงว่า หากมองจากตัวเลขโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นโครงการที่สำคัญ เช่น อีโคคาร์ การแปรรูปอาหาร และที่เกี่ยวกับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน(renewable energy) โดยเป็นนักลงทุนจากหลายประเทศไม่ใช่เฉพาะจากญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้ภาพรวมการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศสุทธิรวมตั้งแต่ต้นปีเป็นบวก

    นายจิรเทพ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการดูแลเศรษฐกิจปี 2558 ผู้ว่าการธปท.ยืนยันว่า นโยบายการเงินขณะนี้มีความเพียงพอในการช่วยดูแลเศรษฐกิจ และไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อถึงแม้จะมีการปรับราคาพลังงานบ้าง มองไปข้างหน้า ธปท. จะติดตามทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างใกล้ชิด แต่ก็เป็นข้อมูลที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว

    ชี้‘ทุนสำรอง’แกร่งรับมือบาทผันผวน

    ส่วนในเรื่องเสถียรภาพเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่อาจผันผวนในปี 2558 จากอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันในประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ว่าการธปท.ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอและมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นที่ช่วยเป็นด่านแรกในการดูแลความผันผวนนี้ได้

    สำหรับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา เงินสำรองระหว่างประเทศมีจำนวน 1.61 แสนล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันยังมีฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ 2.43 หมื่นล้านดอลลาร์

    สบน.แจงแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    ด้าน นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า การหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเรทติ้งทั้ง 3 แห่ง ในครั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี นโยบายและแนวทางในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่เน้นแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยและแนวทางการระดมทุน เพื่อสะท้อนให้บริษัทฯ เห็นว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งและสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต

    ส่วนการหารือทวิภาคีระหว่าง สบน. กับสถาบันการเงินต่างประเทศ ได้แก่ แบงก์ออฟโตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ, ซิตี้แบงก์, มิซูบิชิ ยูเอฟเจ, มอร์แกนแสตนเลย์, โนมูระ และ ยูบีเอส อินเวทเมนท์แบงก์ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย และการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ การบริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้ต่างประเทศ

    เน้นกู้เงินในประเทศลงทุน

    นายกฤษฎา กล่าวว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศยังคงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยจะพิจารณาจัดทำแผนการลงทุนของโครงการที่มีความพร้อมและแผนการระดมทุนเพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละโครงการ

    แหล่งเงินสำหรับโครงการประกอบด้วย เงินงบประมาณ รายได้ของรัฐวิสาหกิจ เงินกู้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(พีพีพี) และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

    ทั้งนี้ การกู้เงินส่วนใหญ่จะเป็นการกู้เงินในประเทศ สำหรับการกู้เงินและการออกตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะพิจารณาต้นทุนการกู้เงินเปรียบเทียบกับการกู้เงินในประเทศ รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการใช้เงินและแนวทางการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนติดตามประเมินสภาวะตลาด

    Tags : ไอเอ็มเอฟ • เวิลด์แบงก์ • ความเชื่อมั่น • เศรษฐกิจไทย • พีพีพี • เครดิต • ปฏิรูป • สมหมาย ภาษี • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้