คลังเล็งชงร่างกม."หลักประกันทางธุรกิจ" เพื่อช่วยภาคธุรกิจรายย่อยถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น ไม่ต้องยืมเงินนอกระบบ คลังเตรียมเสนอร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อช่วยภาคธุรกิจรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น และช่วยปิดความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ขณะที่ สศค.และธปท.ยังจับตาหนี้ครัวเรือน แม้จะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอก็ตาม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.เตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจให้ระดับนโยบายและรัฐบาลได้พิจารณา โดยขณะนี้ ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียดร่วมกันโดยคณะกรรมการร่วมสถาบันภาคเอกชน (กกร.) สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวคือ จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย โดยในร่างจะมีการกำหนดขอบเขตของหลักประกันที่จะใช้ในการขอแหล่งทุน ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นจากปัจจุบันมากขึ้น "กฎหมายดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย เช่น ผู้ประกอบการรถเข็น อย่างชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ที่บุคคลไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ สามารถทำให้มีหลักประกันอื่นๆ มาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องยืมเงินนอกระบบ" นายเอกนิติ กล่าว แม้ว่า ขณะนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยายตัวชะลอลง ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับกว่า 80% ต่อจีดีพี แม้เทียบกับต่างประเทศยังไม่น่ากังวลมากนัก เช่น มาเลเซีย อยู่ที่ 81% และสหรัฐอยู่ที่กว่า 100% แต่อย่างไรก็ดียังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด แม้ว่าตามมาตรฐานโลก ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่จะทำให้มีความเสี่ยงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้จะอยู่ที่ 120-130% ก็ตาม "รัฐบาลได้สั่งให้สศค.และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามและประเมินสถานการณ์ในภาพรวมของหนี้ครัวเรือน และแม้ธปท.จะมีมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่รัดกุม แต่เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราจึงเตรียมที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันธุรกิจ พ.ศ..." นายเอกนิติ กล่าว นอกจากนี้ นายเอกนิติ ยังประเมินแนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในอนาคตด้วยว่า มีโอกาสลดลง แต่จะลดลงอย่างช้าๆ และต้องอาศัยระยะเวลา โดยประเมินจากจีดีพีที่เริ่มขยายตัวกลับมาเป็นบวกในระยะที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเริ่มลดลง จากมาตรการคุมสินเชื่อเข้มงวดขึ้น อีกทั้ง มาตรการพิเศษทั้งสินเชื่อช่วยน้ำท่วมและรถยนต์คันแรกได้หมดไปแล้ว ทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง "หนี้เสียของสถาบันการเงินมีน้อยมาก โดยทั้งระบบอยู่ที่ 2% เป็นหนี้เสียที่หักสำรองแล้วจำนวน 1% หนี้เสียที่ 2% มาจากหนี้ครัวเรือนเพียง 0.4% เท่านั้น ขณะที่แบงก์ทั้งระบบยังมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 16 เท่า จากเกณฑ์ของธปท.กำหนดไว้ที่ 8.5%" เขากล่าว Tags : เงินนอกระบบ • คลัง • เงินทุน • รุกธุรกิจรายย่อย • นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ • สศค. • กกร.