หนุนปฏิรูปเศรษฐกิจ-ต้าน'คอร์รัปชัน'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 13 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ชงแผนเร่งด่วนเพิ่มขีดแข่งขัน-ลดเหลื่อมล้ำภาคเกษตร หนุนปฏิรูปศก.ควบต้าน"คอร์รัปชัน"

    สปช.กลุ่มแบงก์ผลักดันปฏิรูปเศรษฐกิจ ควบคู่ต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมเร่งเพิ่มขีดความสามารถแรงไทย สปช.เศรษฐกิจเล็งดันประเด็นลดเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้-ประสิทธิภาพชาวนา และระบบการค้าที่เป็นธรรม

    "กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจความเห็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)กลุ่มที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ โดยแต่ละกลุ่มเตรียมผลักดันการปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งคอร์รัปชัน การศึกษา ที่ดินทำกิน พัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการค้าที่เป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง

    นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการ "ต่อต้านคอร์รัปชัน" และ "ปฏิรูปการศึกษา" เพราะขณะนี้การศึกษาไทย ไม่ได้ผลิตแรงงานที่ตรงความต้องการ และยังขาดแคลนแรงงานฝีมือที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ

    แผนเร่งด่วนที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าต่างๆ ที่ได้เปรียบเพื่อนบ้าน จะต้องรักษาจุดแข็ง หรือความสามารถในการแข่งขันไม่ให้สูญเสียไป โดยต้องทิ้งช่วงห่างจากคู่แข่งให้ได้ โดยเฉพาะในภาคเกษตร

    ขณะเดียวกันอุตสาหกรรม ที่ไทยกำลังจะเสียความสามารถในการแข่งขัน ก็ต้องเร่งปฏิรูป เช่น อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ และสิ่งทอ

    ส่วนแผนในระยะกลางต้องทำให้ไทย เป็นศูนย์กลางของอาเซียนตอนบน รวมกลุ่มกับประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) ที่ไทยมีความได้เปรียบอยู่แล้ว

    ขณะเดียวกันต้องผลักดันให้ไทย พ้นจากการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และ "ปฏิรูปการศึกษา" ที่เป็นมาตรการระยะยาวที่สำคัญที่สุด เพื่อยกระดับการผลิตของประเทศที่มีแรงงานเข้มข้นไปสู่การใช้นวัตกรรมการผลิต ด้วยการเพิ่มการวิจัยและพัฒนา

    หนุนลงทุนผ่านกลไกผ่าน"ตลาดทุน"

    นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ กล่าวว่า ในส่วนของตลาดทุน ควรผลักดันให้การลงทุนต่างๆ ใช้เครื่องมือในตลาดทุนมากขึ้น เพราะมองว่าปัจจุบันภาครัฐบาลใช้ประโยชน์กับตลาดทุนน้อยมาก ทั้งที่เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญทดแทนการกู้เงิน เพราะในอนาคตไทย ยังต้องลงทุนมหาศาล

    นอกจากนี้ ยังตั้งใจจะผลักดันให้รัฐบาลนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะมองว่าส่งผลดีต่อทุกส่วน การนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียน จะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการดำเนินงาน ความโปร่งใสการประกอบธุรกิจได้เต็มรูปแบบ ช่วยพัฒนาตลาดทุนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

    "การนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนนั้น สามารถที่จะแยกได้ว่า องค์กรไหนมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ก็จะไม่นำเข้ามาจดทะเบียน เพื่อป้องกันผลประโยชน์ของประเทศชาติไม่ให้ได้รับความเสียหาย"

    เร่งจัดทำ"แผนแม่บท"ปฏิรูปที่ดิน

    นางอัญชลี ชวนิชย์ อดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่าในฐานะที่เป็นอดีตผู้ว่ากนอ. มองว่าหัวใจสำคัญของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่สุด คือ "การปฏิรูปที่ดินอย่างบูรณาการ" ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ที่จะต้องแบ่งโซนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า ตั้งแต่ ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม

    ที่ผ่านมายอมรับว่า การทำงานในเรื่องนี้ยังแยกส่วนทั้งในเรื่องข้อกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ขาดการมอง "องค์รวม" ถึงเป้าหมายของการพัฒนาในอนาคต จากนี้ไปจึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ โดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันกับที่ดิน เช่น การจัดสรรที่ดินเพื่อคนยากจน หรือการจัดเก็บภาษีที่ดิน เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน

    “ทุกส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ภาคการเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ล้วนเกี่ยวข้องกันกับการจัดสรรที่ดิน ดังนั้นจึงต้องวางแผนปฏิรูปที่ดินอย่างบูรณาการ เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ที่จะต้องคิดยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ควรจัดวางให้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล พึ่งพากัน ทั้งภาคเกษตร การศึกษา รวมถึงธุรกิจ เพราะอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศถึง 30-40%”

    ทั้งนี้แนวทางการปฏิรูปที่ดินจะนำมาหารือกันใน สปช.เพื่อจัดทำแผนแม่บท โดยคาดหวังว่าในปีแรก จะต้องวางแผนแม่บทในการพัฒนาเชิงบูรณาการด้านที่ดินทั้งประเทศ ตั้งแต่ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาในเชิงโครงสร้าง เป็นแนวทางที่วางไว้ให้รัฐบาลชุดต่อไปเข้ามาสานต่อ

    ลด"เหลื่อมล้ำ"ในสังคม

    ว่าที่ ร.ท.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองเลขาธิการประธานหอการค้า เขต 5 กล่าวว่า ต้องการผลักดัน "ลดความเหลื่อมล้ำ" ทางเศรษฐกิจในสังคม เริ่มจากการผลักดันการทำนาให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้ให้ชาวนาอย่างยั่งยืน คาดใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี เริ่มจากสินค้าข้าวเพราะชาวนาในประเทศมีจำนวน 3.7 ล้านครัวเรือน รวม 17 ล้านคนมีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 71 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มี 43.9 ล้านไร่ที่เป็นพื้นที่เหมาะสมปลูกข้าว

    ขณะที่พื้นที่ที่เหลือไม่เหมาะสม เช่น ดินไม่ดี น้ำน้อย ควรจัดสรรให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่น เช่น อ้อย มันสำปะหลังและยางพารา เป็นต้น

    สำหรับแนวทางผลักดันให้การทำงานให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องเริ่มจากการบริหารจัดการพื้นที่ โดยชาวนาที่มีพื้นที่น้อยจะนำโครงการ 1 ไร่ 1 แสนที่หอการค้าไทยได้เคยทดลองและผลักดันให้ชาวนาดำเนินการพบว่า การบริหารจัดการพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ให้หลากหลายทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นได้

    ขณะที่ชาวนาที่มีพื้นที่มากกว่า 10 ไร่ขึ้นไป ต้องรวมตัวกันเพื่อให้ได้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50 ไร่ เพื่อสามารถนำเครื่องจักรทางการเกษตรมาใช้ซึ่งจะคุ้มกับประสิทธิภาพและได้ปริมาณผลผลิตจำนวนมาก ประหยัดเวลาและต้นทุน โดยชาวนาสามารถรวมตัวกันและใช้ระบบจัดสรรผลประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม

    ว่าที่ ร.ท.จิตร์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ก็จะต้องทำคู่กันไป โดยจะเน้นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก และจะผลักดันให้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษตรงความต้องการตลาด เช่น มีวิตามินมากกว่าข้าวทั่วไป เช่น ไรท์เบอรี่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

    ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการพัฒนาตลาด เน้น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟต) ซึ่งจะช่วยชี้นำราคาและกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตได้

    ถกโมเดิร์นเทรดวันนี้เน้น"ค้าเป็นธรรม"

    ว่าที่ รท. จิตร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นด้านการค้าทั่วไป ยังคงเดินหน้าดูแลผู้ค้ารายย่อย (โชห่วย) แต่จะเน้นการสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายใหญ่อยู่ร่วมกันได้ เบื้องต้นจะหารือกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ในวันนี้ (13 ต.ค.) เพื่อให้การขายสินค้าต่ำกว่าทุนในหลายรายการไม่ต้องจำกัดจำนวนชิ้นเพื่อให้โชห่วย สามารถเข้าไปเหมาซื้อและนำมาขายต่อ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

    "ความพยายามระบุว่าการขายต่ำกว่าทุนเป็นความผิดแต่โมเดิร์นเทรดก็มีเหตุผลที่ชี้แจงได้ว่าไม่ได้เป็นการขายต่ำกว่าที่อย่างที่ถูกกล่าวหา"

    ผุด"มัคคุเทศก์ท้องถิ่น"เพิ่มรายได้ชุมชน

    นายกงกฤช หิรัญกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในสปช.ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เตรียมผลักดัน "การปฏิรูปอุตสาหกรรมท่องเที่ยว" เพื่อวางรากฐานการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน โดยเฉพาะ "การสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกัน" ในการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่างๆ ไม่ให้กระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะเมืองใหญ่ รวมถึงการกระจายผลประโยชน์ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่เสียเปรียบรายใหญ่

    อย่างไรก็ตาม แนวทางส่งเสริมการปฏิรูปดังกล่าว เคยนำเสนอแผนระหว่างที่เป็น สนช.ไปแล้ว คือ โครงการ "มัคคุเทศก์ท้องถิ่น" ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการเป็นรูปธรรม จึงเตรียมผลักดันเรื่องนี้อีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าหากสามารถผลักดันให้มีกฎหมายรองรับ ทำให้ต่อไปจะกำหนดพื้นที่พิเศษ เพื่อให้มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นมาให้บริการนำเที่ยว เท่านั้น ถือเป็นช่องทางให้ชุมชนเจ้าของพื้นที่มีโอกาสเพิ่มรายได้โดยตรง ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็จะเข้าถึงและสัมผัสกับชุมชนได้มากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตสินค้าในท้องถิ่นก็จะได้ประโยชน์ หากมีการกำหนดให้มีการแวะเที่ยวชมการจำหน่ายสินค้าชุมชน เป็นต้น

    ก.ม.ท่องเที่ยวต้อง "ไม่กีดกันรายเล็ก"

    นายกงกฤช กล่าวว่าการดูแลผู้ประกอบการรายย่อย จะเสนอให้พิจารณามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ดูแลจัดทำในขณะนี้ ไม่ให้มีระเบียบข้อบังคับใดที่เป็นการ "กีดกัน" ผู้ประกอบกันรายเล็กไม่ให้เข้าสู่ตลาด อาทิ แนวคิดการเพิ่มวงเงินประกันบริษัทที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ อาจต้องทบทวนให้เหมาะสม รวมถึงทบทวนแนวคิดที่จะยกเลิกใบอนุญาต "ประกอบธุรกิจนำเที่ยวของบุคคลธรรมดา" ว่าสมควรหรือไม่

    เนื่องจากปัจจุบันยังมีการท่องเที่ยวตามพื้นที่ต่างจังหวัด อาทิ การเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างชายแดน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจบริการในรูปแบบดังกล่าว นอกจากนี้ยังจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจไม่ถูกกฎหมาย เข้ามาอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะ "ธุรกิจโรงแรม" ที่ปัจจุบันมีปัญหาการแข่งขันไม่เป็นธรรมจากห้องพักที่ผิดกฎหมายจำนวนมากที่หันมารับลูกค้ารายวัน

    ประเด็นต่อมา คือ การแก้ไขปัญหาแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมให้จัดการโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีไม่เพียงพอ

    ศึกษาแยกก.ท่องเที่ยวออกจากกีฬา

    นายกงกฤช กล่าวอีกว่าในประเด็นสุดท้าย คือ เตรียมศึกษาและเสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ในหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่งเห็นด้วยกับที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่เคยมีแนวคิดจะทบทวนการจัดโครงสร้างของการท่องเที่ยวและกีฬาใหม่ เพราะโดยส่วนตัวมองว่า แม้ว่าด้านการท่องเที่ยวและกีฬาจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในบางมิติ แต่ก็ไม่สามารถแนบสนิทกันได้ทั้งหมด เพราะโดยธรรมชาติของการท่องเที่ยวไม่ได้เกี่ยวข้องกับกีฬาโดยตรง แต่จะไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆทั้งหมด อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม

    ดังนั้น หากจะขับเคลื่อนนโยบายท่องเที่ยวให้รวดเร็วเป็นรูปธรรม และได้ผลในเชิงการปฏิบัติ เห็นว่าโมเดลที่จะทำงานให้คล่องตัวที่สุดน่าจะเป็นการเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง

    "ในเบื้องต้นต้องการให้ทุกฝ่ายยอมรับกันได้แล้วว่า การรวมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไม่ได้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันได้มากนัก"

    Tags : คอร์รัปชัน • ธวัชชัย ยงกิตติกุล • กรุงเทพธุรกิจ • ไพบูลย์ นลินทรางกูร • สปช. • ปฏิรูป • อัญชลี ชวนิชย์ • จิตร์ ศิรธรานนท์ • กงกฤช หิรัญกิจ • สนช.

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้