คลังชงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หวังดึงเศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวมากกว่า 2% นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยหลัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เข้ามาบริหารประเทศว่า นับจากนี้เศรษฐกิจไทยจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ สามารถเดินหน้าได้ ได้แก่ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะต่างๆ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 รวมถึงพิจารณากฎหมายเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการต่ออายุจัดเก็บอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% การคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% และปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งหมดนี้ต้องมีการปรับแก้กฎหมาย และไม่สามารถทำได้ในรัฐบาลรักษาการ "หลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ไม่สามารถทำได้ในรัฐบาลรักษาการ แต่ขณะนี้ ถือว่ามีความชัดเจนที่สามารถทำได้ และคสช. ก็ประกาศแล้วว่า เรายังเป็นประเทศเปิดเหมือนเดิม และนโยบายการดูแลเศรษฐกิจก็มุ่งให้เศรษฐกิจเติบโต แต่หากมองในมุมของต่างประเทศ คงเห็นไปในทางไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาการเมือง แม้ความขัดแย้งทางการเมืองจะยังไม่จบจริงในระยะยาวก็ตาม" นายสมชัย กล่าวว่า สศค.เตรียมประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยถือว่าความชัดเจนทางการเมืองระดับนี้ เป็นปัจจัยบวกที่จะหนุนเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะเมื่อ คสช.สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และกำหนดนโยบายการดูแลเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่ขณะนี้โดยการประมาณการเศรษฐกิจเดิมประเมินว่า ทั้งปีจะขยายตัวได้ที่ 2.6% "เรามีเวลาในการดูแลเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลืออีก 6 เดือน ก็หวังว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้มากกว่า 2% แต่ต้องดูทิศทางคณะรัฐบาลใหม่ รวมถึงนโยบายการดูแลเศรษฐกิจต่างๆ" เขากล่าว ในส่วนสศค.พร้อมเสนอมาตรการทางการคลังในการดูแลเศรษฐกิจทุกระยะ โดยเฉพาะในระยะสั้น ซึ่งสศค.เห็นว่า มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจขณะนี้ และหากคสช.ต้องการที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เราก็พร้อมเสนอแนวทางการปฏิรูป รวมถึงหลากหลายร่างกฎหมายที่สำคัญและไม่สามารถผ่านได้ในรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีต่างๆเป็นต้น นายสมชัย กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากนโยบายการคลังที่ต้องพร้อมในการดูแลเศรษฐกิจขณะนี้ ในส่วนนโยบายการเงินต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้ ถือว่า เป็นจังหวะที่ดีและมีช่องที่จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับลดที่ไม่ได้ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก Tags : สศค. • คลัง • กระตุ้น • เศรษฐกิจ • จีดีพี