สมาชิก สปช. ทยอยรายงานตัวต่อเนื่อง ขณะ 'บัญชา' ทนายความ ยิ่งลักษณ์ รับมีชื่อ ปธ.สปช.ในใจแล้ว หวังปฏิรูปคานอำนาจองค์กรอิสระ บรรยากาศการรับรายงานตัวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. วันที่ 4 ยังมีสมาชิกทยอยรายงานตัวต่อเนื่อง อาทิ พล.อ.วัฒนา สรรพานิช นายจรัส สุทธิกุลบุตร นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร นอกจากนี้ นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตสมาชิกทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เดินทางเข้ารายงานตัวเป็นสมาชิก สปช. แล้ว สำหรับจุดรับหนังสือของสมาชิก เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมข้อปฏิบัติในการทำหน้าที่ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 รวมถึงการสรุปสาระสำคัญของแนวทางปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน โดยให้สมาชิกศึกษาข้อมูลล่วงหน้า นายบัญชา กล่าวภายหลังการรายงานตัวเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ตนเองมีรายชื่อบุคคลที่จะมานั่งเป็นประธาน สปช.ในใจแล้ว พร้อมยืนยันทำหน้าที่ดีที่สุด เพื่อบรรลุผลในการปฏิรูปประเทศ ส่วนตัวต้องการปฏิรูปองค์อิสระให้มีการคานอำนาจเพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนว่า กระบวนการยุติธรรม ต้อง โปร่งใส และให้ความเป็นธรรมได้ ทั้งนี้ นายบัญชา ยังได้ปฏิเสธว่า ไม่ได้กล่าวหา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลั่นแกล้ง อดีตนายกรัฐมนตรี จากโครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด พล.อ.เลิศรัตน์เตรียมเสนอตั้งวิปสปช.ชั่วคราว การรับรายงานตัวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. วันที่ 4 โดยในช่วงบ่าย มีสมาชิกเข้ามารายงานตัวเป็นระยะ ไม่คึกคักเหมือนช่วงเช้า อาทิ นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ สมาชิกลำดับที่ 89 นายกงกฤช หิรัญกิจ สมาชิก สปช. ลำดับที่ 5 นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิก สปช. ลำดับที่ 51 ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งแรกวันที่ 21 ต.ค.นี้ จะหารือเพื่อยกร่างข้อบังคับ สปช. รวมทั้งให้มีการตั้งกรรมการประสานงานชั่วคราว เพื่อให้งาน สปช. เดินไปก่อนได้ เพราะคาดว่า การยกร่างข้อบังคับ สปช. อย่างน้อยต้องใช้เวลา 1 เดือน สำหรับคุณสมบัติ ผู้ที่จะเป็นประธาน สปช. ต้องเป็นกลาง รอบรู้และเด็ดขาด เพื่อควบคุมการประชุมและการดำเนินงาน สปช. ตามกรอบเวลาที่กำหนดได้