ราคาน้ำมันร่วงหนักรอบ2ปี เมิน'สงครามตะวันออกกลาง'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 11 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ราคาน้ำมันร่วงหนักรอบ2ปี ราคาในตะกร้าโอเปคดิ่งต่ำสุดตั้งแต่ปี 2553 คาดสหรัฐลดผลิตเชลออยล์

    ราคาน้ำมันโลกร่วงแตะระดับต่ำสุดรอบกว่า 2 ปี ท่ามกลางสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโลกซบเซาและการผลิตนอกกลุ่มโอเปกเพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์คาดว่ามีโอกาสร่วงต่อเนื่อง แตะระดับ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงการซื้อขายระหว่างวัน ถือว่าเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซา ประกอบกับอุปทานที่ล้นตลาด จากปริมาณการผลิตหินน้ำมัน หรือ เชลออยล์ ระดับสูงในสหรัฐ ขณะนักวิเคราะห์มองว่าราคาจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป หากซาอุดีอาระเบียยังไม่มีทีท่าปรับลดกำลังการผลิตลง

    ราคาน้ำมันดิบร่วงท่ามกลางสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งปกติแล้วหากเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น แต่ในปีนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันกลับลดลง เนื่องจากความต้องการและปริมาณการผลิตจากแหล่งอื่นเพิ่มขึ้น

    ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับลดลงเช่นกัน แตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯที่ปิดเมื่อ วันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นถึง 5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล จากการนำเข้าน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นและการลดกำลังการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ประกอบกับแรงกดดันจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินที่เบาบาง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินในตลาดล่วงหน้าของสหรัฐฯ ปรับลดลงใกล้ระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี

    สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เตรียมพิจารณาปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปีนี้ลง หลังหลายฝ่ายยังกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการขยายตัวที่ลดลงของจีนและหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่าสภาพอากาศในฤดูหนาวปีนี้จะอบอุ่นกว่าฤดูหนาวปีที่แล้ว ทำให้อุปสงค์น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (heating oil) อาจปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

    บริษัท ไทยออยล์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 83-88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 87-92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    ขณะที่ บริษัทปตท. คาดว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 92.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สืบเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า และอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาดโลก

    ราคาน้ำมันตกต่ำส่งผลกระทบกับประเทศผู้ผลิตทั้ง กลุ่มโอเปค และ กลุ่มนอกโอเปค กล่าวคือสมาชิกโอเปคสายอิหร่านต้องการให้กลุ่มลดเพดานการผลิตลง ขณะที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย การ์ต้าและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยแต่ละประเทศมีราคาน้ำมันดิบที่กำหนดไว้ เพื่อให้ประเทศมีงบประมาณสมดุล (Break-Even Budget)

    อิหร่านมีงบประมาณสมดุลที่ระดับ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซาอุดีอาระเบีย ที่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    คาดสหรัฐลดผลิตเชลออยล์

    สำหรับประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปค ผู้ผลิตรายใหญ่คือสหรัฐ โดย Deutsche Bank ประมาณการว่าสหรัฐจะลดกำลังการผลิตเชลออยล์(Shale Oil) ประมาณ 9% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากราคาน้ำมันดิบโลกลดสู่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะลดลงกำลังการผลิต 39% หากราคาลดอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    ส่วนรัสเซียอาจจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ หากราคาน้ำมันทรงตัวที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นเวลา 2-3 เดือน

    ล่าสุด Goldman Sachs ประมาณการราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ระยะปานกลาง (2-3 เดือน) ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในระยะ 1 ปีที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    อย่างไรก็ตามยังคงไม่มีข่าวคราวจากกลุ่มโอเปคในเรื่องการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งอิหร่าน หนึ่งในกลุ่มโอเปคได้เคยออกความคิดเห็นการปรับลดแล้วก็ตาม

    กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานว่าอัตราการผลิตน้ำมันดิบใน ก.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.9% มาอยู่ที่ 10.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถึงแม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรจากทางสหรัฐ และยุโรปก็ตาม

    มาตรการคว่ำบาตรทางพลังงานของสหรัฐ บังคับให้บริษัทจากประเทศตะวันตกยกเลิกโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทพลังงานในรัสเซีย ส่งผลให้บริษัท Shell หยุดโครงการขุดเจาะน้ำมัน Shale ในแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Bazhenov Formation ในทางตะวันตกของไซบีเรีย ซึ่งเป็นโครงการที่ซับซ้อนทำให้ยากที่กลับมาเริ่มดำเนินการต่ออีกครั้ง

    ราคาในตะกร้าโอเปคดิ่งต่ำสุดตั้งแต่ปี 2553

    ราคาอ้างอิงหลักสำหรับน้ำมันดิบส่งออกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2010 เมื่อวานนี้(10 ต.ค.) โดยร่วงลงตามราคาน้ำมันดิบอ้างอิงในตลาดโลก

    ราคาตะกร้าโอเปค ซึ่งครอบคลุมน้ำมันดิบที่แตกต่างกัน 12 ประเภทจากสมาชิกกลุ่มโอเปค ดิ่งลงแตะ 88.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยร่วงผ่านจุดต่ำสุดของช่วงกลางปี 2555 ที่ 88.74 ดอลลาร์ลงไป โดยมีแนวโน้มว่าราคาตะกร้าโอเปคอาจดิ่งลงไปหลังจากราคาสัญญาล่วงหน้าของน้ำมันดิบร่วงลง

    ราคาตะกร้าโอเปคดิ่งลงมาแล้ว 20 % นับตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย. และสอดคล้องราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ซึ่งถือเป็นราคาน้ำมันดิบอ้างอิงในตลาดโลก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงกว่า 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้วนับตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.

    อย่างไรก็ดี ราคาตะกร้าโอเปคสามารถสะท้อนผลกระทบที่ประเทศสมาชิกโอเปคได้ รับได้อย่างถูกต้องกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ดังนั้นการร่วงลงของราคาตะกร้าโอเปคจึงอาจสร้างความกังวลเป็นอย่างมากต่อกลุ่มโอเปค

    ประเทศสมาชิกโอเปคบางประเทศเริ่มแสดงความเห็นเรื่องความจำเป็นในการปรับลด ปริมาณการผลิตน้ำมันลงเพื่อช่วยพยุงราคา อย่างไรก็ดี ประเทศกลุ่มหลักในอ่าวอาหรับ ซึ่งรวมถึงซาอุดีอาระเบียไม่ได้แสดงแนวโน้มว่าจะดำเนินมาตรการใดๆ ก่อนการประชุมกลุ่มโอเปคในวันที่ 27 พ.ย.

    ตะกร้าโอเปคประกอบด้วยน้ำมันดิบหลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงน้ำมันที่มีความหนาแน่นสูงอย่างเช่นน้ำมันเมเรย์ของเวเนซุเอลา และน้ำมันที่มีความหนาแน่นต่ำ อย่างเช่นน้ำมันซาฮาราน เบลนด์ของแอลจีเรีย

    นอกจากนี้ น้ำมันดิบอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบของตะกร้าโอเปคยังรวมถึงน้ำมันดิบจิราสซอล (แองโกลา), โอเรียนเต (เอกวาดอร์), อิหร่าน เฮฟวี (สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน), บาสรา ไลท์ (อิรัก), คูเวต เอ็กซ์พอร์ท (คูเวต), เอสไซเดอร์ (ลิเบีย), บอนนี ไลท์ (ไนจีเรีย), กาตาร์ มารีน (กาตาร์), อาหรับไลท์ (ซาอุดีอาระเบีย) และมูร์บาน (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

    ชี้ราคาร่วงลงอีกหากซาอุฯลดผลิตไม่มากพอ

    นายแกรี รอส ซีอีโอของบริษัทไพรา เอ็นเนอร์จี กรุ๊ปกล่าวว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มดิ่งลงต่อไป หลังจากรูดลงมานานหลายเดือนติดต่อกันเพราะว่าซาอุดีอาระเบียไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงในระดับที่มากพอที่จะทำให้ปริมาณน้ำมันส่วนเกินในตลาดหายไป

    นายรอสกล่าวว่า ถึงแม้เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ปัจจัยพื้นฐานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในตลาดน้ำมันดิบปัจจุบันบางตลาด การปรับขึ้นใดๆ ของราคาน้ำมันก่อนการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ในวันที่ 27 พ.ย.ก็จะดำเนินไปได้เพียงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้ กลุ่มโอเปกกำลังประสบปัญหาในการปรับสมดุลตลาดน้ำมันโลก และมีแนวโน้มว่าน้ำมันจะล้นตลาดในระดับราว 1.0-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า

    นายรอสกล่าวว่า "ตลาดน้ำมันมีอุปทานมากเกินไป หากพิจารณาในเชิงโครงสร้าง ดังนั้นจึงต้องมีบางอย่างที่ปรับลดลง และเราก็คิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นราคาน้ำมัน"

    นายรอสกล่าวว่า "ราคาน้ำมันที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลถือเป็นระดับที่สูงเกินไปอย่างเห็นได้ชัด และแม้แต่ราคาน้ำมันในปัจจุบันนี้ก็อยู่ในระดับที่สูงเกินไป"

    คาดไม่แทรกแซงมีโอกาสร่วงแตะ75ดอลลาร์

    ถ้าหากพิจารณาจากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน และถ้าหากกลุ่มโอเปคไม่เข้ามาแทรกแซงตลาด ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็จำเป็นจะต้องร่วงลงสู่ 75 ดอลลาร์ ถึงจะสามารถทำให้ตลาดเข้าสู่ภาวะสมดุล

    อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริง เพราะมีการคาดการณ์กันว่าซาอุดีอาระเบียจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงสู่ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า

    นายรอส คาดว่าซาอุดีอาระเบียจะปรับลดปริมาณการผลิต "แต่นั่นจะไม่มากพอ" ที่จะสกัดกั้นการดิ่งลงต่อไปของราคาน้ำมัน

    นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ดิ่งลงมาแล้วกว่า 20 % หรือเกือบ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และลงไปแตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 ที่ 88.11 ดอลลาร์

    ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลง มีสาเหตุมาจากภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดในแอ่งแอตแลนติก ซึ่งเกิดจากการที่อุปสงค์หยุดเติบโต, ปริมาณการผลิตหินน้ำมันที่ระดับสูงในสหรัฐ และคลังเก็บน้ำมันที่เต็มแล้ว

    Tags : สงคราม • ตะวันออกกลาง • ราคาน้ำมัน • เวสต์เท็กซัส • สหรัฐ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้