"กบข."แจงข้าราชการมีสิทธิกลับไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิมได้ 7 แสนคน คาดลาออกจริงแค่ 2 แสนคน จ่ายเงินคืน 4 หมื่นล้าน ระบุหากลาออกจาก กบข. ก่อนอายุราชการ 35 ปี ไม่คุ้ม ได้รับเงินส่วนต่างจาก 2 ระบบไม่เกิน 15% กรมบัญชีกลางประเมินมีสมาชิก กบข. ยื่นกลับขอใช้สิทธิ์ระบบบำเหน็จบำนาญคาดไม่เกิน 10% มั่นใจไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะเริ่มทำความเข้าใจกับข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุน กบข. ทั้งหมดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญตามพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 เพื่อให้สมาชิกมีข้อมูลการคำนวณผลตอบแทนของตัวเอง ก่อนตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิกลับไปใช้ระบบเดิมหรือไม่ นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ข้าราชการที่มีสิทธิกลับไปใช้ระบบเดิม ต้องเป็นสมาชิกก่อน 27 มี.ค. 2540 ที่เข้ามาเป็นสมาชิก กบข. โดยสมัครใจ จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า มีประมาณ 7 แสนคนมีสิทธิกลับไปใช้ระบบเดิม จากสมาชิก กบข.ทั้งหมด 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครู 40% ข้าราชการพลเรือน 25% ตำรวจ 15% ทหาร 10% ที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นๆ คาดลาออกสูงสุดไม่เกิน3.5แสนคน นายสมบัติ ยังคาดด้วยว่า จะมีสมาชิกที่ลาออกประมาณ 2 แสนคน หรือ คิดเป็น 30% ของสมาชิกที่มีสิทธิคิดใหม่ได้ทั้งหมด ส่วนนี้ กบข. ต้องเตรียมเงินจ่ายคืนให้สมาชิกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือหากมีสมาชิกลาออกมากกว่าที่ประเมินก็ไม่น่าจะเกิน 50% หรือ 3.5 แสนคน คิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายคืนให้สมาชิกประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท "สมาชิกที่จะลาออกจาก กบข.แล้วไม่ขาดทุน ต้องมีอายุราชการมากกว่า 35 ปีขึ้นไป แต่ข้าราชการส่วนใหญ่จะมีอายุราชการต่ำกว่า 35 ปี ยกเว้นข้าราชการทหารที่มีอายุราชการ 40 ปีขึ้นไป เพราะนับอายุราชการตั้งแต่เริ่มเรียนทหาร หรือตั้งแต่อายุ 18 ปี ประกอบกับมีวันทวีคูณ ช่วงที่มีการออกรบ หรือการประกาศกฎอัยการศึก" นายสมบัติ กล่าว แจงส่วนต่างเงิน2ระบบไม่เกิน15% หากเปรียบเทียบผลตอบแทน หรือเงินที่ข้าราชการจะได้รับระหว่างการเป็นสมาชิก กบข.กับการกลับไปใช้ระบบเดิม แตกต่างกันไม่เกิน 15% โดยสมาชิก กบข.จะได้รับเงิน 2 ก้อน คือ 1.เงินบำนาญที่ได้รับเฉลี่ยรายเดือน กับ 2.เงินบำเหน็จเป็นก้อน ขณะที่ระบบเดิมข้าราชการจะได้รับแบบเดียว ซึ่งต้องเลือกว่า จะรับเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญ ซึ่งแตกต่างกันไม่มาก เช่น หากมีเงินเดือนเดือนสุดท้าย 4 หมื่นบาท และอายุราชการ 40 ปี เงินที่ได้รับต่อเดือน ของระบบเดิมจะมากกว่าของ กบข.ประมาณ 4 พันบาท หากเลือกรับเป็นระบบบำนาญ ทั้งนี้ข้าราชการมีสิทธิตัดสินใจว่าจะลาออก หรือเป็นสมาชิก กบข.ต่อไป จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2558 ระหว่างนี้จึงอยากให้สมาชิกหาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน เพราะหากตัดสินใจแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปได้ โดยการลาออกจะเริ่มมีผลในเดือน ต.ค. 2558 ซึ่งสมาชิกจะได้รับเงินในช่วงเดือนนี้ เปิด3แนวทางหาเงินจ่ายสมาชิก สำหรับการบริหารสภาพคล่องเพื่อนำเงินมาจ่ายคืนให้สมาชิกที่ลาออกนั้น กบข.เตรียมแผนงานไว้รองรับแล้ว อันดับแรก จะเลือกนำเงินจากส่วนที่ไปลงทุนในพันธบัตรก่อน ปัจจุบันมีอยู่ 3.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะสั้น อายุพันธบัตรเฉลี่ยเพียง 2 ปี 8 เดือน จากนี้ไป 12 เดือน มีพันธบัตรที่ครบไถ่ถอนประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนต่อมาที่สามารถบริหารเอาสภาพคล่องออกมาได้ คือ การขายหุ้นต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 14% ของพอร์ตการลงทุนรวม 4.8 แสนล้านบาท หรือ ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนที่มากกว่าระดับปกติ สามารถขายออกได้ ส่วนที่ 3 คือ การปรับพอร์ตการลงทุนหุ้นในประเทศ "กบข.บริหารสภาพคล่องได้ โดยมีผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศค่อนข้างน้อย ไม่ต้องห่วงว่า กบข. จะต้องถอนเงินจากตลาดหุ้นไทย หรือ ตลาดพันธบัตรจำนวนมาก มั่นใจได้ว่า กบข.บริหารได้ เพราะแต่ละปีก็จะมีเงินไหลเข้ามาปีละ 3 หมื่นล้านบาท" คาดมีขรก.ลาออกกบข.ไม่เกิน10% ด้านนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ประเมินว่า จะมีจำนวนข้าราชการบำนาญและข้าราชการที่ยังอยู่ในระบบสมาชิกกองทุน กบข. จะขอลาออกจากการเป็นสมาชิก และขอกลับไปใช้สิทธิในระบบบำเหน็จบำนาญจำนวนไม่มากนักหรือไม่เกิน 10% ของจำนวนสมาชิกที่มีสิทธิ์ทั้งหมด และด้วยจำนวนสมาชิกที่จะลาขอลาออกดังกล่าว จะไม่ทำให้เกิดภาระงบประมาณมากนัก ขณะเดียวกัน เมื่อบวกลบระหว่างเงินประเดิม และสมทบของรัฐบาลที่สมาชิกต้องนำมาคืนกับเงินที่รัฐบาลต้องจ่าย เมื่อสมาชิกกลับเข้าสู่ระบบบำนาญ รัฐบาลอาจจะมีเงินกลับคืนหลวงมาด้วย "ความน่าจะเป็นที่เราประเมิน ซึ่งเราได้เคยสอบถามเบื้องต้นจากสมาชิกนั้น คิดว่า จะมีจำนวนสมาชิกที่ลาออกจาก กบข. ไม่มากนัก เมื่อคำนวณผลตอบแทนโดยรวมระหว่างการเป็นสมาชิก กบข. กับการกลับเข้าสู่ระบบบำนาญ ไม่แตกต่างกันมากนัก" ส่วนสาเหตุที่มีการร้องเรียน เพื่อขอกลับมาเข้าสู่ระบบบำนาญ เพราะมีอยู่เพียง 1 ปีเท่านั้น ที่ผลตอบแทน กบข.อยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อรวมตลอดระยะเวลาการเป็นสมาชิกแล้ว ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในแง่ของจำนวนเงินที่สมาชิกเกษียณอายุราชการ ต้องนำเงินประเดิมมาคืนหลวงด้วยแล้ว คิดว่า จะมีจำนวนสมาชิกที่ต้องการนำเงินมาคืนไม่มากนัก ปัจจุบันผลตอบแทนการลงทุนของ กบข.อยู่ที่ประมาณ 6% และ กบข.คาดว่า ตลอดทั้งปีอัตราผลตอบแทนจะอยู่ที่ประมาณ 7% ถือว่า ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินในระบบสถาบันการเงินในขณะนี้ ลาออก20%ใช้เงิน433 ล้านต่อปี กรมบัญชีกลาง ได้คำนวณภาระค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการลาออกจากการเป็นสมาชิก กบข.ระหว่าง 10-20% ของจำนวนสมาชิก กบข.ที่เป็นข้าราชการในปัจจุบันและข้าราชการบำนาญ โดยพบว่า หากมีการลาออกจำนวน 10% หรือคิดเป็นประมาณ 9.7 หมื่นราย รัฐต้องจ่ายเงิน 217 ล้านบาทต่อปี หากลาออก 15% คิดเป็นจำนวน 1.46 แสนราย จะใช้เงิน 325 ล้านบาทต่อปี และหากลาออก 20% คิดเป็นจำนวน 1.94 แสนราย จะใช้เงิน 433 ล้านบาทต่อปี นายมนัส กล่าวว่าระหว่างนี้ กรมบัญชีกลางกับ กบข. จะร่วมกันประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของการลาออกจากการเป็นสมาชิก กบข. ขณะเดียวกัน กรมบัญชีกลาง อยู่ระหว่างการจัดทำระบบไอทีเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว "กรมบัญชีกลาง จะไม่ทำแบบรายการที่จะให้สมาชิกได้ลองคำนวณผลตอบแทนระหว่างการลาออกเป็นสมาชิก กบข. กับการเป็นสมาชิก กบข.เพราะจะถือเป็นการชี้นำ โดยสมาชิกจะต้องเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจด้วยตัวเอง" นายมนัส กล่าว Tags : สมบัติ นราวุฒิชัย • กบข. • บำเหน็จบำนาญ • มนัส แจ่มเวหา • ข้าราชการ