พลังงานชง กพช. ชี้ขาด 22ต.ค. ปรับโครงสร้าง เลิกเพดานเบนซิน 30 บาท ทยอยปรับราคาก๊าซ ห้ามใช้กองทุนฯอุดหนุนราคา นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2557 ว่าที่ประชุม กบง. เห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลขึ้น 0.90 บาท/ลิตร จากเดิม 2.10 บาท/ลิตร เป็น 3.00 บาท/ลิตร เพื่อเก็บรายได้เข้ากองทุนน้ำมันฯ และเพื่อให้ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะที่น้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดยกเว้น E85 นั้นจะมีการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลง 0.10 บาท/ลิตร ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในกลุ่มเบนซิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดยกเว้น E85 ลดลง 0.60 บาท/ลิตร เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2557 ทั้งนี้ ผลจากการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซลจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เป็นวันละ 175.9 ล้านบาท หรือ ประมาณ 1,380 ล้านบาท/เดือน จากเดิมมีรายรับ 3,897 ล้านบาท/เดือน เป็นมีรายรับ 5,277 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 5 ต.ค. 2557 ยังคงมีฐานะสุทธิติดลบประมาณ 3,321 ล้านบาท คาดว่าจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ กลับมาเป็นบวกได้ภายใน 20 วัน “ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างเร็วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์เอาไว้ ในขณะที่กลุ่มโอเปคซึ่งมีสัดส่วนประมาณ1ใน 3 ของน้ำมันที่ใช้ทั้งหมด ไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง จึงเป็นจังหวะที่กองทุนน้ำมันที่ยังคงติดลบอยู่มาก จะได้เรียกเก็บเงินจากดีเซล ในอัตรา 90 สตางค์ต่อลิตรเข้ากองทุนเพื่อให้สถานะของกองทุนกลับมาเป็นบวกให้ได้เร็วที่สุด โดยที่ราคาขายปลีกของดีเซล ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง “ นายณรงค์ชัย กล่าว ตีกรอบกองทุนรักษาเสถียรภาพราคา นายณรงค์ชัย กล่าวว่า หลังจากที่กองทุนน้ำมันกลับมาเป็นบวก ในแนวนโยบายของกระทรวงพลังงาน จะใช้กองทุนน้ำมันเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาเพียงอย่างเดียว คือจะเข้าไปช่วยรับภาระไม่ให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงขาขึ้น และจะทยอยเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของราคา "การใช้กองทุนน้ำมันเพื่อไปอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม เหมือนอย่างในอดีต จากเหตุผลปัจจัยทางด้านการเมือง ที่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกการใช้ ก็จะต้องพิจารณาหาจังหวะที่จะยกเลิก เพียงแต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ในช่วงใด โดยตั้งรอนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในวันที่ 22 ต.ค.นี้เสียก่อน" ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงเดือน ก.ย. 2557 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินเพื่ออุดหนุน ส่วนต่างราคาแอลพีจีที่ต้องนำเข้าในราคาแพงเพื่อมาขายในราคาควบคุม คิดเป็นเงินประมาณ 164,800 ล้านบาท ตั้งเป้า'เบนซิน-ดีเซล'เสียภาษีอัตราเดียว แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ผลจากการเรียกเก็บเงินจากดีเซล เข้ากองทุน อีก 90 สตางค์ต่อลิตร จาก 2.10 บาทต่อลิตร เป็น 3 บาทต่อลิตร ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสม ที่จะโยกรายได้จากกองทุนน้ำมันในส่วนนี้เข้าไปเป็นภาษีสรรพสามิต โดยที่ไม่ต้องมีการปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ทั้งนี้ เป้าหมายของกระทรวงพลังงานต้องการที่จะให้ทั้งเบนซิน และดีเซล มีอัตราการเสียภาษีสรรพสามิตที่เท่ากันคือ ประมาณ 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันที่น้ำมันเบนซิน ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ประมาณ 5.60 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91และ 95 จ่ายอยู่ที่ 5.04 บาทต่อลิตร และดีเซล อยู่ที่0.75บาทต่อลิตร เตรียมเสนอยกเลิกเพดานดีเซล30บาท ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่22 ต.ค. นี้ คาดว่ากระทรวงพลังงาน จะเสนอให้มีการยกเลิกเพดานราคาดีเซล ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และปรับภาษีสรรพสามิตดีเซลขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อลิตร โดยที่ไม่มีผลต่อราคาขายปลีกดีเซล ซึ่งเป็นการเพิ่มภาษีสรรพสามิต แต่ปรับลดอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนลง ส่วนราคาเบนซิน ก็จะมีการปรับอัตราภาษีลดลง มาอยู่ที่ระดับ 3 บาทเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกเบนซินลดลงมาได้อีก 2.60 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ 91และ95 ลดลงมาได้ประมาณ 2 บาทต่อลิตร ขณะที่จะมีการทยอยปรับขึ้นราคาแอลพีจีให้สะท้อนต้นทุนจริง เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุน ที่จะทำให้กองทุนน้ำมันเหลือบทบาทในการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาเพียงอย่างเดียว ตามนโยบายได้ในที่สุด "ประยุทธ์"ยันกระจายโรงไฟฟ้าทุกภาค ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" วานนี้ (10 ต.ค.) เกี่ยวกับนโยบายพลังงาน ต้องการให้ลงไปกระจายทุกภูมิภาค ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการไฟฟ้า หน่วยงานกำกับดูแลพลังงาน กำลังพิจารณาให้เป็นระบบให้ได้ "ผมไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าอยู่ที่โน้นที่นี่เป็นแห่ง ๆ อยู่ที่ภาคกลางเป็นหลักแล้วเดินสายส่งไปภาคใต้ ไปภาคเหนือ ภาคตะวันออก ผมไม่ต้องการอย่างนั้น ความมั่นคงพลังงานไม่มีเลย ถ้ามีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย มีความขัดแย้งกันตามแนวชายแดน แล้วจะทำอย่างไร ต้องปิดไฟกันหมดหรืออย่างไร วันนี้เราก็ต้องซื้อพลังงานจากเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ถ้าเรากระจายโรงไฟฟ้าไปได้ในทุกพื้นที่ ทุกภาคให้เพียงพอในแต่ละภาค ๆ ส่วนกลางก็เตรียมไว้เป็นกองหนุนคิดได้ไหม" ต้องใช้ถ่านหินสะอาดผลิตไฟฟ้า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าภายในปีนี้ต้องชัดเจน ต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าโดยเร็ว โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าที่ประจำพื้นที่ ประจำท้องถิ่น ไม่อย่างนั้นเราต้องไปลงทุนสายไฟฟ้าแรงสูงเท่าไร วันนี้ก็ปักเสาไฟเข้าผ่านไร่นา ชาวบ้านก็ประท้วงกันไปหมด แล้วจะทำอย่างไร "ท่านจะสร้างจากตรงกลางไปทางใต้อีกหรือ ไปสร้างในพื้นที่โน้น ก็ต้องร่วมมือต้องเข้าใจ วันนี้อาจจำเป็นต้องใช้ถ่านหินหรือเปล่า จะดีหรือไม่ดี ถ่านหินสะอาดไหม ก็จะอยู่ที่คุณภาพของถ่านหินที่จะนำมาใช้ด้วย ถ่านหินบางอันมลภาวะน้อย วันนี้เขาเอาถ่านหินที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ไปเอาถ่านหินไม่มีคุณภาพมา ผมไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี" Tags : ณรงค์ชัย อัครเศรณี • พลังงาน • ต้นทุน • กพช.