"ปรีดิยาธร "มั่นใจโครงการทวายเดินหน้าต่อเนื่องได้หลังนายกฯเยือนพม่า ส่งผลดีต่อการลงทุน พร้อมปรับกลไกเร่งทำงาน ลดความซ้ำซ้อน ด้าน"ไอทีดี" ส่งแผนพัฒนาด้านเทคนิครัฐบาลพม่าพิจารณาเฟสแรก 3 หมื่นไร่ คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน คาดใช้เวลาพัฒนา 3 ปี เงินลงทุนรวม 3 หมื่นล้าน ระบุรัฐบาลไทยจะต้องสนับสนุนซอฟต์โลน ให้กับโครงการ ส่วนปัจจัยหลักของความสำเร็จอยู่ที่รัฐบาลพม่า การเดินทางไปเยือนประเทศพม่าอย่างเป็นทางการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.นี้ เป็นครั้งแรกถือเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้นำทั้งสองประเทศจะมีการหยิบยกโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ขึ้นมาหารืออีกครั้ง เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ต่อไป หลังจากโครงการดังกล่าวมีความล่าช้ามามาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า ว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่ไทยจะสนับสนุนให้มีการเดินหน้าโครงการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน คาดว่าโครงการนี้จะสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างดีหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เจรจาพูดคุยกับประธานาธิบดีของพม่าระหว่างการไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 9 - 10 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดได้มีการเปิดประมูลการลงทุนในโครงการฯทวายในระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าจะทราบผลเอกชนที่ชนะประมูลภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งผู้ชนะการประมูลระยะที่ 1 จะเป็นผู้ลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมในระยะแรกบนพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ทั้งหมด 190 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งลงทุนพัฒนาถนนที่เชื่อมต่อจากชายแดนประเทศไทยไปยังโครงการ “สิ่งที่ไทยจะเสนอกับรัฐบาลพม่าคือเมื่อการเปิดประมูลเฟสที่ 1 เสร็จแล้วจะร่วมกันเดินหน้าโครงการเฟสที่ 2 ทันที ซึ่งเฟสที่ 2 จะมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะมีการลงทุนสาธารณูปโภคต่างๆของโครงการ เช่น ท่าเรือน้ำลึกโรงไฟฟ้าและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งการผลักดันเรื่องนี้เราจะไม่ได้ทำฝ่ายเดียวแต่จะชวนญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนด้วย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว พม่าสั่งแบ่งพื้นที่ทวายเฟสแรก3หมื่นไร่ นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ผู้บริหารโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการคือรัฐบาลพม่าออกเทอม ออฟ เรฟเฟอเรนซ์ คือความต้องการพื้นฐาน กำหนดจะให้เราพัฒนาอะไรในระยะแรก เรียกว่าเป็นเฟสเริ่มต้น (Initial Phase) จากพื้นที่เดิม 2 แสนไร่แบ่งเป็น 3 หมื่นไร่แรก เพื่อให้เล็กลง เรียกว่าแบ่งเป็นส่วนๆ โดยกำหนดปัจจัยองค์ประกอบ ให้ส่งเอกสารด้านเทคนิค เงื่อนไขการเงินไปให้ ฝ่ายไทยทำเสร็จ ยื่นไปแล้ว ช่วงนี้เป็นการเจรจาเนื้อหาสาระที่ส่งไป ตรวจสอบเนื้อหาประเด็นด้านเทคนิค การอ่านแบบให้ตรงกัน สเปค หากรัฐบาลพม่ายอมรับรูปแบบรายการ เนื้องาน คาดใช้เวลาการพิจารณา 1 เดือน จาดนั้นคาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี ในการพัฒนา ควบคู่ไปกับการเชิญชวนผู้ประกอบการ โรงงานมาลงทุนเคียงข้างกันได้ ปกติขั้นตอนนี้จบปีแรกก็เชิญชวนโรงงานเข้ามาลงทุนได้ ส่วนแหล่งเงินทุนเป็นกลุ่มธนาคารหลายๆ แห่ง (syndicate)จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งหมดเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ถือเป็นภาระการลงทุนของภาคเอกชน ที่มีองค์ประกอบคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี เป็นผู้ร่วมทุนหลัก (Grand Venture) ซึ่งลงทุนไปแล้ว 7-8 พันล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมโรจนะที่เข้าร่วม และประเทศข้างเคียงที่อาจเป็น ไต้หวัน หรือซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ข่าวญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนนั้น หากเป็นการลงทุนของญี่ปุ่นระดับรัฐบาลจะเป็นการสนับสนุนด้านเทคนิค นโยบาย และเงินกู้ แต่การจะให้กู้เงินประเทศที่จะพัฒนา คือพม่า ต้องมีส่วนร่วมในการกู้ ซึ่งรัฐบาลพม่าอาจเห็นว่าฝ่ายไทยมีความพร้อม อาจไม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมก็ได้ เชื่อผลดีกรอบใหญ่การลงทุนทวาย ส่วนการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปเยือนพม่ามีประโยชน์ที่แสดงให้เห็นว่า กรอบใหญ่ของความร่วมมือยังคงอยู่ รัฐบาลเห็นความสำคัญว่าทวายมีผลกระทบตรงกับไทยและพม่า ที่รัฐบาล 2 ฝ่ายให้ความสำคัญ เป็นพื้นที่เชื่อมโยง 4 ประเทศ คือไทย พม่า กัมพูชา และเวียดนาม หากรัฐบาลไทยและพม่าจับมือกันเต็มที่จะสร้าง"คอร์ริดอร์ อาเซี่ยน" ตีตารางทะลุลาว ถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย ครอบคลุม 10 ประเทศอาเซียน มีความหมายต่อรัฐบาลทั้งสองประเทศ ที่ต้องเห็นว่าเป็นการยืนบนจุดยุทธศาสตร์ของมหาสมุทรอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็สนับสนุน ส่วนสถานะทางการเงินปัจจุบันเอกชนแสวงหาซอฟต์โลน กลไกนี้รัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายสนับสนุน โครงการนี้ต้องเกิดแต่จะเป็นเมื่อไรนั้น มีรัฐบาลพม่าเป็นปัจจัยหลัก ถ้าเห็นผลกระทบเชิงบวกได้ก็จะเกิดได้ ซึ่งผลกระทบดังกล่าว ได้แก่ เกิดการจ้างงาน การยกระดับค่าแรงจาก 90 บาท เป็น 300 บาท การนำเข้าเงินตราต่างประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อรวมโรงงานเป็นกลุ่มก้อนจะดูแลง่ายกว่าปล่อยกระจัดกระจายอยู่ในเมือง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจะมีสมดุลอย่างยั่งยืน นายกฯเยือนพม่าผลดีสองประเทศ นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ กล่าวว่า การเดินทางไปพม่าของนายกรัฐมนตรีเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือระหว่างประเทศ ภาคเอกชนต้องการเห็นการเจรจากันเรื่องโลจิสติกส์ ความสัมพันธ์ด้านการค้า ทำให้นักธุรกิจ 2 ฝ่ายสัมพันธ์กันมากขึ้น "นักธุรกิจไม่เคยมองพม่าเป็นคู่แข่ง เป็นคู่ค้ากันมากกว่า เอามาเป็นพวก เป็นทีมงาน ไม่ได้คิดเอามาทำของถูก เพราะอนาคตแบรนด์จะเป็นโกลบอลไปหมดแล้ว ไม่ได้มองว่าเป็นของประเทศใด ถ้ามองการแข่งขันจะปวดหัวเปล่าๆ" เช่นเดียวกับนายสมเจตน์ ที่ระบุว่าพม่าเป็นพันธมิตรมากกว่าคู่แข่ง ทฤษฎีแข่งกันทำให้เครียดเปล่าๆ การส่งเสริมสนับสนุนทำให้โลกมีผลผลิตมาแบ่งกันจะมีประโยชน์มากกว่า นายปณิธาน กล่าวว่า ตลาดที่น่าสนใจในพม่าได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง รถยนต์-อะไหล่ โทรคมนาคม โลจิสติกส์ สิ่งที่เคยรุ่งเรืองในไทยเมื่อ 10 ปีก่อนมีโอกาสไปรุ่งในพม่า ไทยเสนอพม่าปรับกลไกคณะกรรมการ ก่อนหน้านี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าสศช.ได้สรุปความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่า ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้วโดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาโครงการในระยะที่ 1 และการตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) ของโครงการที่ไอทีดี ได้มีการลงทุนไว้ก่อนหน้านี้ นายอาคม ระบุด้วยว่าฝ่ายไทยจะเสนอให้มีการปรับกลไกของคณะกรรมการร่วมไทย-พม่า เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้โครงการเดินหน้าได้รวดเร็วขึ้นและลดการซ้ำซ้อนในการทำงาน โดยเสนอว่าควรมีการปรับกลไกการทำงานของคณะกรรมการฯจากเดิมที่มี 3 ระดับเหลือ 2 ระดับ ในส่วนของคณะทำงานร่วมระดับสูงไทย-พม่า (Joint High-Level Committee : JHC) นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นประธานร่วมกับรัฐบาลพม่า "โครงการทวายเป็นโครงการระยะยาว แต่การเดินหน้าโครงการจะต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้เพื่อประโยชน์ในอนาคต" เสนอปรับรูปแบบลงทุนใหม่ นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลไทยกับพม่าจะต้องพูดคุยร่วมกันถึงการปรับรูปแบบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการทวาย จากเดิมที่การลงทุนได้กำหนดว่าจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนอย่างเดียว อาจจะต้องปรับรูปแบบให้รัฐบาลพม่าเข้ามารับภาระในการลงทุนบางส่วน หรือ อาจปรับรูปแบบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการให้เป็นรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการปรับแผนการทำงาน ไม่ใช่เป็นการปรับเงื่อนไขทีโออาร์ในการประมูล “โครงการฯทวายมีการดำเนินการกันมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กำหนดการต่างๆยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่อาจจะต้องมีการหารือเพื่อเร่งรัดให้โครงการนี้เดินหน้าได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการในระยะที่ 1 ขณะนี้มีเอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอในการพัฒนาโครงการแล้วจำนวน 1 ราย ซึ่งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทยกับพม่าจะต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติของภาคเอกชนร่วมกัน” นายอาคมระบุ Tags : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • พม่า • ทวาย • ไอทีดี • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล • สมเจตน์ ทิณพงษ์