สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.โอนกลับบำเหน็จบำนาญแบบเดิม คาดมีผลธ.ค.นี้ กบข.รับมือสมาชิกลาออก2แสน กบข.เตรียมรับสมาชิกลาออก หลังสนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.โอนกลับรับระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิมได้ คาดลาออก 2 แสนคน คืนเงิน 4 หมื่นล้าน ยันไม่มีปัญหาสภาพคล่อง เปิดให้สมาชิกก่อนปี 2540 ตัดสินใจได้ถึงมิ.ย. 2558 พร้อมจ่ายคืนครึ่งหลังปีหน้า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. .หรือ พ.ร.บ.อันดู (UNDO) ซึ่งเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่รัฐบาลเสมอ หากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) สามารถโอนกลับไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิมได้ โดยกบข.คาดว่าจะมีข้าราชการที่เข้าข่ายในร่างกฎหมายฉบับนี้ราว 2 แสนคน เป็นเงินที่ต้องคืนสมาชิกส่วนนี้ 4 หมื่นล้าน นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะทูลเกล้าฯร่างพระราชบัญญัติฯ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนธ.ค.นี้ แต่จะเปิดให้สมาชิกมีเวลาตัดสินใจจนถึงเดือนมิ.ย.2558 ว่าจะลาออกจากกบข.หรือสมัครใจอยู่ต่อ กบข.ประเมินเบื้องต้นว่าจะมีข้าราชการที่ออกจากการเป็นสมาชิกกบข.ประมาณ 2 แสนราย จากสมาชิกทั้งหมด 1.2 ล้านราย คิดเป็นเงินที่กบข.ต้องจ่ายคืนสมาชิกกลุ่มนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของเงินกองทุนที่กบข.บริหารอยู่ทั้งหมด 4.8 แสนล้านบาท เงินในส่วนนี้กบข.สามารถบริหารจัดการได้ โดยไม่กระทบต่อการลงทุนในตลาดเงินและตลาดหุ้นในประเทศ นายสมบัติ กล่าวต่อว่า กบข.มั่นใจจะบริหารสภาพคล่อง เพื่อเตรียมเงินมาจ่ายคืนให้สมาชิกได้ ทั้งจากเงินสดที่มีอยู่ และเงินในพันธบัตรที่ครบอายุการไถ่ถอน คืนเงินสมาชิกที่ถอนลงทนครึ่งหลังปี58 นอกจากนี้กบข. มีเงินที่ลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศอยู่ประมาณ 7-8 หมื่นบาท กบข.สามารถที่จะขายบางส่วนออกมาได้ แต่จะดูเรื่องผลตอบแทน และความเหมาะสมประกอบด้วย "กว่าจะต้องคืนเงินให้สมาชิกที่ถอนการลงทุน คาดว่า จะเป็นครึ่งปีหลังของปี 2558 ซึ่ง กบข. ยังมีเวลาในการเตรียมสภาพคล่องไว้ เพราะกว่าที่พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ก็คาดว่าจะเป็นวันที่ 1 ธ.ค. 2557 หลังจากนั้นก็จะเปิดให้สมาชิกกบข.ที่เข้าเป็นสมาชิกก่อน มี.ค.2540 ตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อ หรือกลับไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิมถึงมิ.ย.2558" คาดคนอายุราชการนานกลับระบบเดิม ทั้งนี้ สมาชิกกบข. ที่มีสิทธิตัดสินใจได้อีกครั้งว่า จะอยู่กับกบข.ต่อไป หรือกลับไปใช้ระบบเดิม ต้องเป็นสมาชิกก่อนมี.ค. 2540 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 5 แสนคน คาดว่าส่วนที่จะกลับไปใช้ระบบเดิม คือ ข้าราชการที่มีอายุราชการสะสมเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการทหาร เพราะมีการคำนวณอายุราชการแบบสมทบเข้ามา ตามระเบียบราชการ จะทำให้การกลับไปใช้ระบบเดิมได้เงินมากกว่าการเป็นสมาชิกกบข. หากเป็นข้าราชการในกลุ่มอื่น ที่มีอายุราชการไม่มาก การอยู่กับกบข.มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากกว่า ซึ่งในช่วงนี้กบข.ก็จะเดินสายชี้แจง อธิบายให้กับสมาชิกเข้าใจถึงวิธีการคำนวณผลตอบแทนของระบบเดิม และของกบข.เพื่อให้สมาชิกมีข้อมูลในการตัดสินใจก่อนที่พ.ร.บ.อันดูจะมีผลบังคับใช้ สนช.พิจารณาผ่าน2วาระรวด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. ...ในวาระที่ 2 และ 3 แล้ววานนี้ (9 ต.ค.) หรือ พรบ.อันดู (UNDO) ขั้นตอนต่อไปคือ ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งกฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 30 วันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มเติมสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้จากร่างเดิมใน 3 ส่วน คือ การขยายกลุ่มบุคคลผู้มีสิทธิ ระยะเวลาการใช้สิทธิ และหลักเกณฑ์การคืนเงิน เดิมกลุ่มผู้มีสิทธิ ประกอบด้วย ข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้สิทธิประโยชน์ยิ่งขึ้นจากเดิม โดยเพิ่มกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิกลับไปรับบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.นี้ อีก 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) ข้าราชการตุลาการศาลปกครองที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 และลาออกจากราชการเนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครอง (2) ข้าราชการที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 ซึ่งลาออกจากราชการและกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2540 และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 2558 (3) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 และมีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ และ (5) ผู้รับบำนาญซึ่งเคยเป็นข้าราชการใน 4 กลุ่มข้างต้น ผลตอบแทนกบข.ต้นปีถึงปัจจุบัน5% ด้าน นายยิ่งยง นิลเสนา รองเลขาธิการ กลุ่มงานบริหารกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่าผลตอบแทนการลงทุนของกบข.จากต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5% ถือว่าน่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมายการลงทุน ที่ให้มีผลตอบแทนชนะอัตราเงินเฟ้อ และชนะผลตอบแทนของเงินฝาก โดยกบข.คาดว่าจะสามารถรักษาระดับผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งปีในระดับ 5% ได้ การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง คือ การลงทุนในตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นโลก โดยในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น กบข. ให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกน้อย และเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ "กบข.ลงทุนในกลุ่มแบงก์ และอสังหาฯมากกว่าตลาดมาตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา และในปีนี้ก็ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดอยู่ ปัจจุบันกบข.มีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 11% ของพอร์ตการลงทุนรวม อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา"นายยิ่งยง กล่าว เล็งแก้เกณฑ์ลงทุนนอกเพิ่มเป็น35% นายยิ่งยง กล่าวต่อว่า กบข.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอแก้เกณฑ์การลงทุนของกบข. เพื่อเพิ่มเพดานการลงทุนในต่างประเทศ จากปัจจุบันกำหนดเพดานการลงทุนสินทรัพย์ในต่างประเทศรวมกันไม่เกิน 25% จะขอปรับเพิ่มเป็น 35% เป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารผลตอบแทนการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตามการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศจะไม่ได้เพิ่มขึ้นในทันที แต่จะช่วงแรกอาจจะเพิ่มจาก 25% เป็น 30% ก่อน "การลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ กว่า 50% เป็นการลงทุนในสหรัฐอเมริกา นอกนั้นเป็นการกระจายการลงทุนในฝั่งยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งการลงทุนในจีนปัจจุบันยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย แต่มองว่าในระยะยาว หุ้นและพันธบัตรจีนมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนดีในระยะยาว"นายยิ่งยง กล่าว Tags : กบข. • ร่างพ.ร.บ. • สนช. • ลาออก