มติปปช.ส่งสำนวนถอดยิ่งลักษณ์คดีโกงข้าวให้สนช.

หัวข้อกระทู้ ใน 'การเมือง' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]

    ป.ป.ช. มีมติ ส่งสำนวนถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' คดีโครงการรับจำนำข้าว ให้ สนช. ทันสัปดาห์หน้า ยึดตาม รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57


    นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงผลการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันนี้ ว่า คณะกรรมการมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบให้ส่งสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาดำเนินการต่อไป โดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตราที่ 6 ที่บัญญัติให้ สนช. ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภา อีกทั้ง ในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ. 2557 ยังให้อำนาจ สนช. ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม นายสรรเสริญ เปิดเผยว่า ทาง ป.ป.ช. จะสามารถส่งรายงานการไต่สวนและหลักฐานในคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งให้ สนช. พิจารณาได้อย่างช้าภายในสัปดาห์หน้า



    ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.) จะมีการประชุมคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. และอัยการสูงุสุด เพื่อพิจารณาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี เพื่อสรุปว่าทางอัยการสูงสุด จะเป็นผู้ส่งฟ้องศาลฎีกา แผนกคดีอาญา หรือทาง ป.ป.ช. จะส่งฟ้องเอง ซึ่งหากในวันพรุ่งนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ละฝ่ายจะต้องกลับไปพิจารณาและกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง




    ปปช.จ่อนำสปช.ยื่นบัญชีหรือไม่พิจารณา16ต.ค.

    นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีหน้าที่ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ ว่า วันนี้ทางสำนักงานเลขาฯ ป.ป.ช. ทำความเห็นเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาว่า สปช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการสรุปสำนวนมาเป็นลำดับแล้ว แต่ยังต้องรอให้ประธาน ป.ป.ช.เห็นชอบเรื่องดังกล่าวก่อนนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง

    ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบ สปช. กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 (ส.ส.ร.) นั้น มีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นหากใช้กฎหมายมาเทียบเคียงกันและไม่มีข้อกฎหมายอื่นก็คงต้องเป็นไปในแนวเดียวกัน แต่หาก ป.ป.ช. มีอำนาจแก้ไขข้อกฎหมายก็เป็นอีกกรณีที่ต้องพิจารณา ซึ่งการแก้ไขต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายโดยไม่มีเหตุผลใดแอบแฝง

    อย่างไรก็ตาม นายสรรเสริญ คาดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะนำเข้าพิจารณาในวันที่ 16 ต.ค. พร้อมกรณีถอดถอน 39 ส.ว. ที่จะได้นำเข้าพิจารณาในคราวเดียวกัน
     

แบ่งปันหน้านี้