ผมเขียนบทความตอนนี้ในขณะที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทั้งประเทศไทยต่างออกอากาศด้วยเพลงปลุกใจถ่ายทอดจากเครือข่ายของกองทัพบกด้วยกัน เพราะเป็นเวลาหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลผ่านไปได้เพียงแค่ข้ามวันเท่านั้น หลังจากที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกมาก่อนหน้าได้เพียงแค่ 1 วัน ซึ่งการประกาศกฎอัยการศึก หรือการยึดอำนาจจากรัฐบาล ชาวต่างชาติที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองมักจะเกิดความรู้สึกตื่นเต้น และเกรงว่าจะมีการยกพวกเอาอาวุธออกมาเข่นฆ่ากันเหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั่วไป แต่คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยที่อยู่ในเมืองใหญ่ กลับมีความรู้สึกดีต่อการปฏิวัติหรือการยึดอำนาจในสองสามครั้งที่ผ่านมา เหตุผลเท่าที่พอจะรวบรวมเอาไว้ได้ในการแสดงความยินดี ราวกับชื่นชอบหรือต้อนรับการยึดอำนาจก็คือ ประชาชนเริ่มรู้สึกเอือมระอากับการเลือกตั้งที่ชาวต่างชาติเห็นว่าเป็นแก่นแท้ของระบอบประชาธิปไตย เพราะคนไทยเหล่านั้นรู้ดีว่าผลการเลือกตั้งไม่ได้เกิดจากความต้องการแท้จริงของประชาชนทั้งหมด แต่ยังมีคะแนนเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากการซื้อเสียง, การล่อลวงและสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ และการเอางบประมาณของประเทศที่ได้มาจากการจัดเก็บภาษีไปหว่านโปรยในรูปแบบของประชานิยมจนเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะล่อแหลม คนในเมืองใหญ่กลุ่มนี้จึงเห็นตรงกันว่าต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกติกาสำหรับเลือกตั้งเสียก่อน อีกทั้งยังเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า กลุ่มนักการเมืองที่อ้างว่าได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง กลับทำตัวอยู่เหนือกฎหมายเสียเองด้วยการไม่ยอมรับการตัดสินหรือการวินิจฉัยจากศาลและองค์กรอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เกิดการรวมตัวประท้วงกันเป็นวงกว้างนานมากกว่า 6 เดือน แต่ก็มีการระดมคนจากฝ่ายตรงข้ามเข้ามาต่อต้านกลุ่มประท้วงอีกทอดหนึ่ง จนถึงขั้นมีการยิงด้วยปืนและระเบิดส่งผลให้มีคนบาดเจ็บล้มตายนับร้อยคน โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไม่เคยจับกุมใครได้เลยแม้แต่คนเดียว แต่เมื่อฝ่ายทหารออกมาประกาศใช้กฎอัยการศึกเพียงแค่วันเดียว กลับสามารถจับกุมอาวุธสงครามได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังระงับการก่อกวนด้วยการยิงปืนและใช้ลูกระเบิดอย่างได้ผล จึงเป็นเหตุผลให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกดีใจที่มีการใช้กฎอัยการศึกและการยึดอำนาจ เพื่อยุติความวุ่นวายที่เกิดเพราะเหตุผลทางการเมืองทั้งหมดลงไป ประเทศไทยโดยรวมทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมจะได้เดินหน้าต่อไปได้เสียที เหตุการณ์ทั้งหมดพอที่จะสรุปในเบื้องต้นได้ประการหนึ่งว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยกลัวนักการเมืองเหลิงอำนาจมากกว่ากลัวการยึดอำนาจของทหาร และเชื่อกันว่าหากทหารทำไม่ถูกต้องคนไทยจะสามารถรวมตัวกันออกมาขับไล่คณะทหารได้ง่ายกว่าการที่จะรวมตัวกันออกมาขับไล่นักการเมืองเลว เพราะการขับไล่นักการเมืองเลวจะถูกฝ่ายนักการเมืองเลวกวาดเกณฑ์เอาประชาชนฝ่ายของตนเองออกมาต่อต้าน และเข่นฆ่าคนที่ไม่เห็นด้วยดังเช่นที่เคยเกิดมาหลายครั้ง ความเห็น, ความคิด และความรู้สึกที่แตกต่างกัน ระหว่างคนที่มีความเป็นอยู่ต่างกันมีสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันรวมไปถึงมีนักการเมืองหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติต่อสังคมต่างกันดังเช่นที่ชาวต่างชาติหรือฝรั่งตะวันตกและคนไทย มองปัญหาของระบอบการปกครองต่างกันนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ แม้แต่การปฏิบัติทางการธุรกิจการค้าระหว่างตะวันตกและตะวันออกก็ต่างกันด้วย เอาเฉพาะในส่วนของรถยนต์ก็จะเห็นความแตกต่างกันหลายประการ เช่น รถยนต์ที่ผลิตเพื่อใช้งานในประเทศไทยจะมีพวงมาลัยอยู่ด้านขวาของตัวรถ ในขณะที่รถยนต์ซึ่งผลิตเพื่อใช้ในประเทศฝรั่งตะวันตกเกือบทั้งหมด จะมีพวงมาลัยอยู่ด้านซ้ายของตัวรถมียกเว้นอยู่เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น และสวิทช์บังคับไฟส่องสว่างเช่นไฟหน้า, ไฟเลี้ยว ของรถที่ผลิตใต้แนวคิดตะวันออกของรถพวงมาลัยขวา จะถูกติดตั้งเป็นคันโยกเอาไว้ที่ฝั่งขวาของคอพวงมาลัย โดยทางฝั่งซ้ายของคอพวงมาลัยจะติดตั้งสวิทช์ควบคุมระบบใบปัดน้ำฝน ส่วนรถยนต์ที่ผลิตภายใต้แนวคิดของตะวันตก จะติดตั้งสวิทช์ทั้ง 2 ประเภทเอาไว้ในทิศทางตรงกันข้าม ดังนั้นการที่คนในชาติอื่นๆจะใช้ความคิดความเข้าใจของตนเองไปตัดสินการกระทำหรือความคิดของคนที่ต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรม จึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่อคนที่ถูกตัดสินเป็นอย่างยิ่ง การกระทำบางอย่างจึงควรปล่อยให้เป็นเรื่องของประชาชนในประเทศนั้นๆ ได้ตัดสินใจกันเองเพราะพวกเขาย่อมรู้ดีว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีงามและถูกต้องสำหรับบ้านเมืองของเขาเองครับ Tags : ออโต้คลินิค • พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ • พฤติกรรม • แตกต่าง • คสช.