แง้มข้อเสนอ3ด้าน'ปฏิรูปพลังงาน'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    (รายงาน) แง้มข้อเสนอ 3 ด้าน "ปฏิรูปพลังงาน" จี้ปตท.พ้นเงาสิทธิประโยชน์ รสก.

    สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้แจกเอกสารข้อมูลการปฏิรูป 11 ด้านให้แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เข้ารายงานตัวหลังได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ซึ่งคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้จัดทำขึ้นหลังเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ "กรุงเทพธุรกิจ" สรุปสาระสำคัญด้านเศรษฐกิจและพลังงานมานำเสนอ

    ข้อเสนอการปฏิรูปด้านพลังงานและธุรกิจพลังงาน แบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ 1.นโยบายต่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้บริษัท ปตท. เข้าสู่ระบบตลาดแข่งขันเสรีด้านพลังงาน โดยไม่มีสิทธิพิเศษภายใต้รัฐวิสาหกิจที่ว่าหน่วยงานรัฐต้องจัดหาน้ำมันจาก บริษัท ปตท. เท่านั้น และให้ บริษัท ปตท. อยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ให้แยกท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจาก บริษัท ปตท. และทำเป็นองค์กรแยก เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเสนอตัวให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติบ้าง เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้

    นอกจากนั้น บริษัท ปตท. ต้องลดการถือครองหุ้นในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และกิจการพลังงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในกลไกตลาดที่แท้จริง

    2.ประสิทธิภาพและการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน ประกอบด้วย จัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือองค์กรปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยไม่เกี่ยวกับส่วนราชการ เพื่อให้เป็นกลไกดูแลทรัพยากรน้ำมันและปิโตรเลียมของชาติแทน บริษัท ปตท. รวมถึงพัฒนากฎหมายแข่งขันทางการค้า ไม่ให้มีการผูกขาดตลาด

    3.ปฏิรูปด้านธรรมาภิบาลในกิจการพลังงาน มีประเด็นสำคัญ คือ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายพลังงานในส่วนของคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน และบริษัทด้านพลังงาน, จัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปิโตรเลียม รวมถึงตั้งศูนย์ข้อมูลหรือสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานที่อิสระและโปร่งใส

    ส่วนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องปรับปรุงบทบาทด้วย เพิ่มศักยภาพความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค

    สำหรับข้อเสนอด้านโครงสร้างราคาพลังงาน ประกอบด้วย การทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่เท่าเทียมกับการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงทบทวนการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในรถยนต์ (ซีเอ็นจี) ให้เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป

    ด้านนโยบายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องทบทวนเพื่อให้เกิดความรอบด้านและเป็นธรรม

    ส่วนมาตรการน้ำมันยูโร 4 ควรสนับสนุนให้ใช้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเกิดมลพิษ

    สุดท้ายเป็นข้อเสนอด้านปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงาน ประเด็นสำคัญ คือ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514, พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 รวมถึงการจัดตั้งกองทุนพลังงานเพื่อสังคม และตั้งคณะกรรมการอิสระด้านพลังงานหมุนเวียน ส่วนรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้า เช่น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ให้โอนไปอยู่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน

    .......

    รื้อโครงสร้างภาษีทุกประเภท ลดสิทธิประโยชน์บริษัทได้บีโอไอ

    ด้านเศรษฐกิจ - มีข้อเสนอปฏิรูป 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม ด้วยการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้อัตราก้าวหน้า และปรับลดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อความเป็นธรรมแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

    ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (วีเอที) ร้อยละ 7 ต้องปรับให้ใกล้เคียงมาตรฐานสากล โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และคำนึงถึงการกระจายรายได้ ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้า ต้องใช้ฐานภาษีที่เป็นธรรม เพื่อลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน

    นอกจากนั้น ต้องพัฒนาศักยภาพของประชาชน โดยเน้นให้เกิดการพัฒนาด้วยระบบส่งเสริม เช่น เกษตรกร ต้องมีการส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรและคิบบุตส์ (ชุมชนที่รวมตัวกันเพื่อทำการเกษตรร่วมกัน) มาใช้ รวมถึงส่งเสริมหลักการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

    ในส่วนของภาคเอกชน ต้องพัฒนากฎหมายเพื่อสนับสนุนด้านการค้า การลงทุน และส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ขณะที่การเสริมสร้างศักยภาพแรงงาน ควรตั้งธนาคารแรงงาน โดยรัฐขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคม แล้วนำเงินมาปล่อยกู้ให้กับองค์กรแรงงาน คนงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกจ้าง ให้ภาคแรงงานสามารถกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงจัดตั้งกองทุนเงินออมแห่งชาติเพื่อส่งเสริมการออม

    2.การจัดการทรัพยากรดิน ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.สิทธิชุมชน เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ, พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ, พ.ร.บ.บริหารจัดการที่ดินของรัฐและปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงสิทธิการถือครองที่ดินในพื้นที่ต่างๆ

    3.การจัดการทรัพยากรน้ำ ด้วยการทำแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนั้นต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนกำหนดแผนบริหารจัดการแหล่งน้ำสำหรับชุมชนด้วยตนเอง ขณะที่เกษตรกรต้องได้รับการส่งเสริมด้านการจัดการเรื่องเก็บกักน้ำ ส่วนการก่อสร้างเขื่อนต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของประชาชน

    4.การจัดการทรัพยากรป่าไม้ ต้องจัดตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาการบุกรุกป่าสงวน โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นต้น เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและติดตามงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การมีส่วนร่วมของประชาชนต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านอนุรักษ์ป่า

    5.การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยการยกร่างบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งมาบังคับใช้ ร่วมกับตั้งหน่วยงานหลักในการบูรณาการการปฏิบัติงานทางทะเล

    6.เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการจัดตั้งกองทุนวิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาขนาดใหญ่ นอกจากนั้นต้องสนับสนุนภาคเอกชนและนักลงทุนต่างประเทศจัดตั้งศูนย์วิจัยภายในประเทศ

    ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม - มีข้อเสนอให้พัฒนากฎหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ความเท่าเทียม และเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ กฎหมายภาษีทรัพย์สิน, กฎหมายภาษีก้าวหน้าพร้อมค่าปรับ, กฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ, กฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย รวมถึงพัฒนากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

    ขณะเดียวกันต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเพิ่มสิทธิกับประชาชนให้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาค รวดเร็ว และโปร่งใส ซึ่งเป็นปัจจัยด้านหนึ่งที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้

    Tags : ภาษี • บีโอไอ • เอสเอ็มอี • สิทธิประโยชน์ • ปตท.

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้