"แบงก์ชาติ" เร่งพิจารณารายละเอียกแนวทางตรวจสอบธนาคารรัฐ หลังรับมอบหมายให้ทำหน้าที่กำกับดูแล หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด เมื่อช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (เอสเอฟไอ) พร้อมกับให้อำนาจในการสั่งแก้ไขดำเนินการตามความเหมาะสม รวมถึงอำนาจในการเอาผิดกับฝ่ายบริหารจัดการและผู้บริหารได้นั้น นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างพิจารณากฎเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ ในการกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจ ล่าสุดวานนี้ (8 ต.ค.) ได้หารือกับทีมงานภายใน เพื่อดูว่าสิ่งที่ต้องดำเนินการมีอะไรบ้าง “เราเพิ่งประชุมทีมงานกัน เพื่อดูว่าคำสั่งหรือภารกิจที่ได้รับมามีอะไรบ้าง ซึ่งคงต้องลงไปดูในรายละเอียด”นางทองอุไรกล่าว การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการตรวจสอบธนาคารเฉพาะกิจเหล่านี้เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบจะคล้ายกับที่ตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่ระดับความเข้มงวดมีความแตกต่างกัน การตรวจสอบธนาคารเฉพาะกิจของธปท.ช่วงที่ผ่านมา เน้นดูความเสี่ยง 5 ด้านหลัก คือ ความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ความเสี่ยงด้านการตลาด ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ และความเสี่ยงด้านชื่อเสียง เพียงแต่การตรวจสอบก็ต้องดูความเหมาะสมของแต่ละธนาคารด้วย “เราต้องมาดูกันอย่างละเอียดว่าจะเอาอย่างไร เพราะเราคงยึดตามเกณฑ์บาเซิล 3 ในการกำกับดูแลแบงก์รัฐคงไม่ได้ แต่พื้นฐานการกำกับดูแลก็ยังคงเน้นความเสี่ยง 5 ด้านที่เราใช้กับแบงก์พาณิชย์ เพียงแต่ต้องดูความเหมาะสมในรายละเอียดด้วย การทำงานของเราจะไม่ใช้วิธีการแบบเหวี่ยงแห เพราะมันทำไม่ได้” นางทองอุไร กล่าว นางทองอุไร กล่าวยกตัวอย่างว่า การจัดชั้นความเสี่ยงในด้านสินเชื่อ หากใช้เกณฑ์เดียวกับธนาคารพาณิชย์ คือ ยอดค้างชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือนนับเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คงมีปัญหา เพราะธนาคารเฉพาะกิจบางราย มีโครงการปล่อยสินเชื่อที่แตกต่างกัน บางโครงการปล่อยให้กับเกษตรกรซึ่งมีรอบในการเพราะปลูก การนับเอ็นพีแอลต้องดูตามรอบการเพาะปลูกเหล่านี้ด้วย “การปล่อยสินเชื่อแต่ละโครงการของแบงก์รัฐต่างกัน ดังนั้นเราต้องดูวงจรธุรกิจด้วย เช่น ถ้าเขาปล่อยให้กับเกษตรกรที่ปลูกข้าว ต้องมีระยะเวลากว่าที่ข้าวจะออกรวงเพื่อเก็บเกี่ยว หากเราไปนับว่า 3 เดือนเป็นเอ็นพีแอลอย่างนี้ก็แย่ ดังนั้นต้องดูตามรอบของการเพราะปลูกด้วย”นางทองอุไร กล่าว นอกจากนี้ การตรวจสอบแต่ละธนาคารรัฐ ต้องมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน โดยยึดตามพันธกิจของแต่ละธนาคารเป็นหลัก ขณะนี้งานเบื้องต้นยังเป็นเพียงการดูกฎเกณฑ์หลักๆ ทั้งเรื่องกฎระเบียบ ข้อบังคับ การบริหารจัดการ ตลอดจนแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีก่อนว่าควรออกมาเป็นอย่างไร บางอันอาจต้องนำของธนาคารพาณิชย์มาปรับใช้ ก่อนหน้านี้ นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การเข้ามากำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของซูเปอร์บอร์ด ไม่มีผลกระทบกับ ธ.ก.ส. เพราะปัจจุบันธปท.ได้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินกิจการของธนาคารอยู่แล้วปีละ 2 ครั้ง โดยใช้หลักเกณฑ์การตรวจสอบเหมือนกับทางธนาคารพาณิชย์ ทั้งเรื่องความมั่นคงทางการเงิน การจัดชั้นหนี้ การกันสำรอง และการบริหารความเสี่ยง จึงไม่ได้มีความกังวลใจแต่อย่างใด “ธ.ก.ส.ถูกตรวจสอบการทำงานโดยแบงก์ชาติอยู่แล้วปีละ 2 ครั้ง เพียงแต่เมื่อก่อนหลังตรวจสอบแล้ว แบงก์ชาติจะรายงานผลการตรวจสอบต่อกระทรวงการคลัง แต่ต่อไปหลังตรวจสอบแล้วก็สามารถสั่งการให้ธนาคารแก้ไขได้เลย รวมถึงสามารถเอาผิดกับฝ่ายจัดการ และผู้บริการได้ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้เร็วขึ้น” ปัจจุบันการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อยู่ภายใต้กรอบของสถาบันการเงิน ที่มีความมั่นคง มีการบริหารสภาพคล่องดีกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่คุณภาพของสินเชื่ออยู่ในภาวะปกติ สัดส่วนเอ็นพีแอล 5.1% ของสินเชื่อโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า แต่อยู่ในระดับที่คุมได้ และคาดภายในปีนี้เอ็นพีแอลจะไม่เกิน 4% โดยปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อที่เป็นเอ็นพีแอลทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันธนาคารได้กันสำรองไว้สูงกว่ามูลหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล โดยกันสำรองทั้งหมด 1.8 แสนล้านบาท เพราะทางแบงก์ชาติได้ธนาคารกันสำรองสำหรับหนี้ที่สงสัยว่าเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพด้วย เพื่อความมั่นคงของธนาคาร Tags : ทองอุไร ลิ้มปิติ • แบงก์ชาติ • แบงก์รัฐ • ธนาคาร • ซูเปอร์บอร์ด