พลังงานชงแผน'พีดีพี'22ต.ค.ใช้ถ่านหิน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สนพ.เตรียมแผน"พีดีพี"ฉบับใหม่ เสนอกพช.22ต.ค.นี้ เผยเพิ่มใช้พลังงานถ่านหิน-รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

    ขณะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในช่วงท้ายแผน ชี้เป็นไปตามประชาพิจารณ์ 4 ภาค

    แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP 2015 (ปี 2558-2579) ใกล้เสร็จ หลังจากกระทรวงพลังงานจัดรับฟังความคิดเห็น 4 ภาค โดยเป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เนื่องจากแผนพีดีพีฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบต่อราคาและการใช้พลังงานของประชาชน

    นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าจะรายงานการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือพีดีพี 2015 ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ได้รับทราบในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าแผนพีดีพีจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.นี้ และเสนอให้กพช.อนุมัติแผนได้ในเดือนธ.ค.นี้

    แผนพีดีพี 2015 ที่มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ จะมีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าใหม่ เพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงจากปัจจุบันใช้ก๊าซสูงเกือบ 70% ขณะที่ทั่วโลกใช้ไม่ถึง 30% และเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

    "เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น คาดว่าจะเข้ามาช่วงปลายแผนพีดีพี ซึ่งกระทรวงพลังงานจะศึกษาเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อเนื่อง แม้ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าในราคาถูก"

    นายชวลิต กล่าวว่าสนพ.ยังเตรียมเสนอ กพช.เรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ต้องการให้ลดการอุดหนุนราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรม โดยจะต้องปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เหมาะสม สะท้อนต้นทุน โดยเฉพาะ น้ำมันดีเซล ที่มีปริมาณการใช้สูงถึง 60 ล้านลิตรต่อวัน มากกว่าเบนซินที่มีปริมาณการใช้ 22 ล้านลิตรต่อวัน จึงควรเพิ่มการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล เพื่อนำเงินไปชดเชยการซ่อมแซมถนนต่อไป

    "ช่วงนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสม หากรัฐบาลจะปรับราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุน เนื่องจากทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าชธรรมชาติ ปรับลดลง และยังไม่มีความชัดเจนจากการประชุมประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก) แต่จะมีการปรับราคาพลังงานชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของ กพช.เป็นหลัก"

    เตรียมรายงานผลประชาพิจารณ์4ภาค

    ทั้งนี้ แผนพีดีพีฉบับใหม่ หลังจากได้ข้อสรุปจากการรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้งของกระทรวงพลังงานใน 4 ภาค ซึ่งจะมีรายงานในที่ประชุมวันที่ 22 ต.ค. เช่นเดียวกัน

    นายชวลิต กล่าวว่าผลสรุปการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง”ทิศทางพลังงานไทย” ทั้ง 4ครั้งของกระทรวงพลังงานทั้งในกรุงเทพ,ขอนแก่น,เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมาว่า ประเด็นสำคัญที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นในส่วนของกรุงเทพเมื่อวันที่ 29 ส.ค. คือข้อเสนอให้รัฐจัดหาเชื้อเพลิงชนิดอื่นเพิ่มเติม เพื่อเป็นการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง และการพิจารณากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) ให้มีระดับไม่ต่ำกว่า 15% โดยเห็นด้วยที่จะให้มีการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินควรอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความ ปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลโดยที่ประชาชน สามารถเป็นเจ้าของและบริหารจัดการได้อย่างเต็มรูปแบบ

    ข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นยังมีเรื่องของการวางแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการสร้างโรงไฟฟ้า การเปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPPs ให้มีความโปร่งใส และเป็นธรรม การกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานในการจัดทำแผนพีดีพีให้สูงกว่าเดิมที่ 20% และการกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ไม่ให้ต่ำกว่า 50 %

    อีสานเสนอรัฐสนับสนุนแสงอาทิตย์

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความคิดเห็นของประชาชนใน จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ประชาชนยังต้องการให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างแท้จริง โดยไม่ปล่อยให้คนจากพื้นที่ภายนอกมาสร้างความวุ่นวาย และมองว่าการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี ที่ผ่านมา 5,000 เมกะวัตต์ มีการกระจุกตัวของผู้ได้ชนะการประมูล รวมทั้งยังต้องการความชัดเจนเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าจะมีหรือไม่ เมื่อใด และในพื้นที่ใด

    ในเรื่องของพลังงานทดแทนภาคประชาชนเห็นว่า ควรสนับสนุนให้การใช้แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าเป็นทางออกที่ยั่งยืน และสร้างฐานการผลิต โซล่าร์เซลล์ ในประเทศ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง และมองว่าการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไปมีความเสี่ยง โดยการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาล ส่วนการพึ่งพาก๊าซและไฟฟ้าจากพม่าในอนาคตอาจพึ่งพาได้ไม่มากเนื่องจาก ความต้องการใช้ในพม่ามากขึ้น อาจส่งออกมาไทยได้ไม่มาก

    สำหรับเรื่องของก๊าซธรรมชาติ เห็นควรให้มีการขยายท่อก๊าซมายังภาคอีสานให้มากขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าในภาคอีสาน ซึ่งแผนปัจจุบันท่อก๊าซดังกล่าวมีแผนที่จะสร้างมาถึงแค่จังหวัดนครราชสีมา และเห็นว่าในภาคอีสานมีแหล่งก๊าซขนาดเล็กหลายแหล่งควรมีการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้แก๊สไม่มาก

    เชียงใหม่เสนอสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเวียงแหง

    นายชวลิต กล่าวว่า ข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นใน จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2557 ภาคประชาชนเสนอให้ต้องการใช้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นกรณีตัวอย่างให้ประชาชนได้มาศึกษาดูงานในการจัดการปัญหามลพิษและเห็นด้วยกับการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า แต่การใช้พลังงานทดแทนก็ไม่สามารถทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติได้

    นอกจากนี้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่เข้าใจและเห็นความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และเนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเสนอให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็ก (100 MW) ที่อำเภอเวียงแหง เนื่องจากมีถ่านหินในพื้นที่อยู่แล้ว โดยมองว่าการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า ควรกำหนด zoning ตามศักยภาพของพื้นที่ และการดำเนินการจัดทำแผน PDP ต้องดำเนินการควบคู่กับแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งเน้นเรื่องการรณรงค์ประหยัดพลังงานด้วย

    ส่วนการรับฟังข้อคิดเห็นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2557 ภาคเอกชนมีความต้องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก การนำระบบ Feed in Tariff มาใช้กับพลังงานทดแทนต้องพิจารณาความเหมาะสมและต้นทุนของวัตถุดิบแต่ละประเภท และเห็นด้วยกับ การผลิตไฟฟ้าจากขยะ แต่ต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้น ควรสอบถามความคิดเห็นประชาชนก่อนกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า และเชิญเอ็นจีโอเข้ามาพูดคุยและทำความเข้าใจด้านพลังงาน

    ยอดใช้แอลพีจีภาคขนส่ง7เดือนเพิ่ม13.4%

    สำหรับภาพรวมสถานการณ์การใช้พลังงานในรอบ 7 เดือนของปี 2557 ไทยผลิตน้ำมันดิบได้ 1.37 แสนบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2556 หรือลดลง 10.3% และมีการนำเข้าน้ำมันดิบ 7.79 แสนบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2556 คิดเป็นสัดส่วน 9.6% และผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้ 9.59 แสนบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปี 2556 เป็นสัดส่วน 2.3% โดยนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 8.81 แสนบาร์เรลต่อวัน ลดลง 0.5% ซึ่งการใช้น้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 22.7 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็น 16%ของการใช้น้ำมันสำเร็จรูป แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2556 เป็นสัดส่วน 0.8% และการใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ 59.1 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็น 42%ของการใช้น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 คิดเป็นสัดส่วน 0.2%

    ส่วนการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ช่วง 7 เดือน อยู่ที่ 4.24 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2556 คิดเป็นสัดส่วน 2.7% โดยแอลพีจีภาคครัวเรือน มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.28 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2556 เป็นสัดส่วน 9.4%

    ขณะที่แอลพีจีภาคขนส่ง มีปริมาณการใช้ อยู่ที่ 1.13 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2556 เป็นสัดส่วน 13.4% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง หลังภาครัฐคุมเข้มการถ่ายเทแอลพีจีภาคครัวเรือนไปสู่ภาคขนส่ง

    Tags : ชวลิต พิชาลัย • โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ • พีดีพี • พลังงาน • ถ่านหิน • แอลพีจี • ภาคขนส่ง • ก๊าซหุงต้ม

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้