ผู้ถือหุ้นเดิม "ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่" เตรียมหลักฐานยื่นฟ้อง "ก.ล.ต." ต่อศาลปกครอง หากไม่ระงับขายหุ้นไอพีโอ นายบัณฑูร ชุณหสวัสดิกุล ทนายความของ นายไพบูลย์ มัทธุรนนท์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE กล่าวว่าในวันที่ 10 ต.ค.นี้จะมีการเข้าพบกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อสอบถามความคืบหน้ากรณีการระงับขายหุ้นไอพีโอของบริษัทไทย โซล่าร์ หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ก.ล.ต.ไป 2 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา และวันที่ 3 ต.ค. เนื่องจากหุ้นส่วนหนึ่งที่จะนำมาเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้มีข้อพิพาททางกฎหมาย ระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยกัน ซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว หาก ก.ล.ต. ยังคงอนุญาตให้บริษัทไทยโซล่าร์ ยื่นขายไอพีโอได้ ก็ต้องเดินหน้ายื่นฟ้องก.ล.ต.ต่อศาลปกครองต่อไป "การเสนอขายหุ้นไอพีโอไทยโซล่าร์ หุ้นที่จะนำไปเสนอขายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอยู่ระหว่างการเป็นคดีความระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม และอยู่ในขั้นตอนศาลพิจารณาตัดสิน ซึ่งมีการฟ้องร้องทั้งคดีทางแพ่ง และคดีอาญา 4-5 คดี แต่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ ประเด็นการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอเพิ่มทุนจาก 320 ล้านหุ้นเป็น 1.3 พันล้าน หุ้นก่อนจะเสนอขายไอพีโอ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากคดีความยังไม่สิ้นสุด เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อนักลงทุนที่ซื้อไอพีโอ" นายบัณฑูร กล่าว บริษัทไทยโซล่าร์ฯดำเนินธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีใบอนุญาตในธุรกิจดังกล่าว 10 ใบอนุญาต มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 80 เมกะวัตต์ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาทโดยมีกลุ่มนายประชา มาลีนนท์ถือหุ้น 40% และนายไพบูลย์ มัทธุรนนท์ ถือหุ้น 26% ที่เหลือเป็นรายอื่นๆ จากนั้นเพิ่มทุนเป็น 160 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มทุนเป็น 320 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการเพิ่มทุนเป็นไปตามปกติ จนกระทั่งครั้งล่าสุด ที่มีการเพิ่มทุนจาก 320 ล้านหุ้น เป็น 1,365 ล้านหุ้น โดยออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 104 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เนื่องจากการประชุมวิสามัญเพิ่มทุนในครั้งนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ นายไพบูลย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุมวิสามัญตามกฎหมายที่กำหนด จึงได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในคดีขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุม ซึ่งจะทำให้การเพิ่มทุนและหุ้นใหม่เป็นโมฆะ ทั้งนี้คดีนี้ได้มีการไกล่เกลี่ยเจรจามานานกว่า 2 ปีและยังตกลงไม่ได้ และในระหว่างที่ยังไม่ได้สืบพยานคู่ความดังกล่าว บริษัทไทยโซล่า ซึ่งมีนายประชา มาลีนนท์ และนางสาวแคทลีน มาลีนนท์ กรรมการบริษัทได้มีหนังสือแจ้งกับนายไพบูลย์ว่าค้างชำระค่าหุ้น 8.34 ล้านหุ้น มูลค่า 5.2 ล้านบาท บวกกับดอกเบี้ยผิดนัดอีก 2.38 ล้านบาท จึงริบหุ้นของนายไพบูลย์และนำขายทอดตลาด ซึ่ง นายไพบูลย์ ได้ทำหนังสือคัดค้านและแจ้งว่าไม่ได้รับซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่และยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติจะค้างชำระได้อย่างไร แต่บริษัทไทยโซล่าร์ ยังดำเนินการนำหุ้นขายทอดตลาด และได้ขายให้กับบริษัทพี.เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นบริษัทของกลุ่มมาลีนนท์ไปในราคาเพียง 30 ล้านบาท จากนั้นทนายความบริษัทไทยโซล่าร์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลกรุงเทพใต้ว่า นายไพบูลย์พ้นสภาพการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไปแล้ว ทำให้ไม่มีอำนาจในการฟ้องร้องคดีดังกล่าว แต่ที่ผ่านมานายไพบูลย์ได้ยื่นฟ้องนายประชา มาลีนนท์ และนางสาวแคทลีน มาลีนนท์ และบริษัทพีเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และรับของโจร ด้วยการเอาหุ้นของนายไพบูลย์ไปขายทอดตลาดและรับซื้อไว้เอง ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้รับฟ้อง ซึ่งนัดรับฟังวันที่ 15 ต.ค.นี้ ดังนั้นการฟ้องร้องให้พ้นสภาพจึงต้องรอการพิจารณาของศาลอาญาก่อน นายไพบูลย์ เคยยื่นหนังสือร้องเรียน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2557 เพื่อให้พิจารณา ก่อนจะรับหุ้นบริษัทไทยโซล่าร์เข้าจดทะเบียน แต่ไม่มีคำตอบใดๆ จาก ก.ล.ต. อาจเป็นเพราะถือว่าเป็นหนังสือแจ้งให้ทราบ ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เมื่อบริษัทไทยโซล่าร์เตรียมจะเสนอขายหุ้นไอพีโอ จึงได้ยื่นหนังสืออีกฉบับเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2557 เพื่อขอให้ ก.ล.ต. ระงับการรับจดทะเบียน เพราะขณะนี้ศาลชั้นต้นยังไม่มีการพิจารณา และยังไม่มีคำพิพากษาออกมา สำหรับคดีนี้ นายไพบูลย์ ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1 พันล้านบาท ส่วนทางออกของปัญหา อาจจะเลือกให้บริษัทไทยโซล่าร์ คืนหุ้นที่ริบไป 8.34 ล้านหุ้นกลับมา หากต้องการจะซื้อต่อ หรือให้ นายไพบูลย์ เพิ่มทุนก็สามารถเข้าเจรจาได้ ไม่ควรทำพฤติกรรมที่มิชอบด้วยกฎหมาย นายไพบูลย์ มัทธุรนนท์ อดีตผู้ถือหุ้นบริษัทไทยโซล่าร์ กล่าวว่า ตัวเองได้ชักชวนให้ นายประชา มาลีนนท์ มาร่วมก่อตั้งบริษัทขึ้นมา โดยเงินลงทุน 83 ล้านบาท และทำงานร่วมกันเป็นเวลา 2 ปี เมื่อโครงการก่อสร้างดำเนินไปกว่า 95% หลังจากนั้นมี นางสาวแคทลีน มาลีนนท์ เข้ามาร่วมบริหารด้วย แต่มีปัญหาการแทรกแซงการทำงาน จนทำให้โครงการมีความล่าช้า จึงตัดสินใจลาออก หลังจากนั้น เกิดเหตุการณ์นัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อเพิ่มทุน 320 ล้านบาท เป็น 1,365 ล้านบาท โดยไม่ได้บอกกล่าวอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร จึงทำให้เกิดเป็นคดีความข้างต้น "พอเริ่มมีปัญหาผม ก็ได้คุยกับคุณประชา มาลีนนท์ ว่าจะขายหุ้นที่ถือหุ้น 8.34 ล้านหุ้น พาร์ 10 บาท แต่คุณประชา ไม่รับซื้อ ขณะที่ผมได้ติดต่อผู้ลงทุนรายอื่นเข้ามาซื้อหุ้นต่อจากผม ก็ถูกกีดกันจากกลุ่มมาลีนนท์ จนทำให้มีการประชุมกัน โดยไม่ได้แจ้ง และมาริบหุ้นของผมไปขายทอดตลาดทั้งหมดให้กับบริษัทที่กลุ่มมาลีนนท์เป็นเจ้าของ ซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย" นายไพบูลย์ กล่าว ด้านนางสาวแคทลีน มาลีนนท์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวว่ามีอดีตผู้ถือหุ้นไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ ฟ้องร้องกล่าวโทษบริษัท โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ และผู้ถือหุ้น บริษัทขอชี้แจงว่า ได้ยื่นเอกสารและหลักฐานของคดีต่างๆ ในรายละเอียดต่อก.ล.ต. ตามขั้นตอนการพิจารณารับหลักทรัพย์อยู่แล้ว โดยบริษัทได้ทำทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลายคดีที่ได้รับการพิพากษายกฟ้องแล้ว โดยเหตุที่คำฟ้องดังกล่าวไม่มีมูลตามกฎหมาย Tags : ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ • TSE • ผู้ถือหุ้น • ก.ล.ต. • ไอพีโอ