'หุ้น-น้ำมัน'ร่วงผวาศก.โลกทรุด จับตาไอเอ็มเอฟถกใหญ่9-12ต.ค.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    หุ้นทั่วโลกร่วงหลังไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกรอบ3 นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงหันลงทุนทองคำ

    ดันราคาพุ่ง เตือนการเติบโตเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ตลาดจับตาทิศทางทางกระตุ้นเศรษฐกิจในประชุมใหญ่ไอเอ็มเอฟ-เวิลด์แบงก์ 9-12 ต.ค.นี้

    ตลาดจับตาผู้กำหนดนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก รวมทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา 19 ประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป (จี-20) จะมาประชุมกันที่กรุงวอชิงตันดี.ซี.ในวันที่ 9-12 ต.ค. เพื่อพิจารณาแนวทางในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ในขณะที่สหรัฐกำลังจะยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

    เมื่อสองสัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีคลังและผู้นำธนาคารกลางของกลุ่มจี-20 ได้ประชุมกันที่ออสเตรเลีย และจะประชุมกันอีกครั้งในสัปดาห์นี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าการประชุมในสัปดาห์นี้จะดำเนินไปในทิศทางใด โดยมีแนวโน้มว่าชาติตะวันตกส่วนใหญ่จะยังคงเรียกร้องให้ยูโรโซนดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขณะที่เยอรมนีจะประกาศเตือนว่าไม่ควรมีการผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัด

    อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.3% ส่วนปีหน้าคาดว่าการเติบโตจะอยู่ที่ 3.8% อันเป็นการปรับลดจากคาดหมายก่อนหน้านี้เมื่อเดือนก.ค.ที่ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโต 3.4% และ 4% ปีหน้า

    ไอเอ็มเอฟระบุว่าปีนี้เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงอย่างวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และภัยคุกคามจากไวรัสอีโบล่าในแอฟริกาตะวันตก ประกอบกับบาดแผลที่ลึกจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 ยังไม่หายดี โดยเฉพาะในยุโรป

    การปรับลดคาดการณ์ สะท้อนว่าไอเอ็มเอฟประเมินสูงเกินไป ว่าประเทศพัฒนาแล้วจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะหนี้สินและการว่างงานในระดับสูง หลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2550-52

    ไอเอ็มเอฟเรียกร้องปฏิรูปโครงสร้างศก.

    นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ เรียกร้องอีกครั้งให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้าง อย่างปรับปรุงนโยบายตลาดแรงงาน แก้ปัญหาการเลี่ยงภาษี และเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน

    นายโอลิเวียร์ บลองชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เป็นการยากที่จะกระตุ้นความต้องการหรืออุปสงค์ คำพูดนี้สะท้อนความวิตกเกี่ยวกับภาวการณ์ที่เศรษฐกิจไม่เติบโต อันเป็นสิ่งที่นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ เคยระบุไว้ โดยภาวการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากความต้องการภาคเอกชนและการขยายตัวด้านการลงทุนตกอยู่ในสภาพซบเซา ส่วนการสร้างงานก็ต่ำกว่าเป้าหมาย อันทำให้ศักยภาพการเติบโตของประเทศลดน้อยถอยลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกท้ายที่สุด

    นายบลองชาร์ดกล่าวว่ายังไม่ทราบว่าจะสามารถผลักดันความต้องการให้เพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่ โดยสิ่งดังกล่าวอาจเป็นงานยาก

    มีโอกาสเกือบ 40% ยูโรโซนถดถอย

    แม้ประเทศอุตสาหกรรมอย่างอังกฤษกับสหรัฐมีการขยายตัวที่แข็งแกร่งขึ้น โดยคาดว่าสหรัฐจะเติบโต 2.2% ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 0.5% ส่วนปีหน้าคาดว่าการเติบโตอยู่ที่ 3.1% แต่ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนเหลือ 0.8% ปีนี้ และ 1.3% ปีหน้า จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 1.1% ปีนี้ และ 1.5% ปีหน้า พร้อมระบุว่าประเทศพัฒนาแล้วจำเป็นต้องเดินหน้ามาตรการกระตุ้นทางการเงิน

    นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นเหลือ 0.9% ปีนี้ และ 0.8% ปีหน้า รวมถึงเศรษฐกิจบราซิล พร้อมระบุว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม 1.5%

    "มีความเสี่ยงที่การฟื้นตัวในเขตยูโรโซนอาจหยุดชะงัก และความต้องการหรืออุปสงค์อาจอ่อนแอลงอีก นอกจากนั้น เงินเฟ้อที่ต่ำอาจกลายเป็นเงินฝืด ซึ่งหากสิ่งเหล่านี้เป็นความจริงขึ้นมา ก็จะเป็นประเด็นใหญ่สำหรับเศรษฐกิจโลก" นายบลองชาร์ดกล่าว

    ไอเอ็มเอฟประเมินว่ามีโอกาส 30% ที่ยูโรโซนจะตกสู่ภาวะเงินฝืดในปีหน้า และมีโอกาสเกือบ 40% ที่ยูโรโซนอาจตกสู่ภาวะถดถอย

    สำหรับจีนนั้น คงคาดการณ์เดิมไว้ที่ 7.4% ปีนี้ และ 7.1% ปีหน้า พร้อมเตือนว่าจีนเผชิญความเสี่ยงระยะกลางหลายอย่าง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้านอินเดียคาดว่าจะฟื้นตัวจากภาวะซบเซาและได้รับการปรับเพิ่มคาดการณ์ทั้งปีนี้และปีหน้าขึ้น 0.2% เป็น 5.6% ผลจากการส่งออกและแนวโน้มการลงทุนที่ดีขึ้นภายใต้การบริหารของรัฐบาลใหม่

    ตลาดหุ้นร่วงกังวลศก.-เฟด

    ตลาดหุ้นมีปฏิกิริยาเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตในสหรัฐ ซึ่งจะเข้มงวดนโยบายการเงินปีหน้าและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แตกต่างจากยูโรโซนและญี่ปุ่นที่แนวโน้มไม่ค่อยดีนัก

    ไอเอ็มเอฟเตือนว่าตลาดการเงินอาจร่วงลงทันทีที่ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนายบลองชาร์ดก็กล่าวว่าไม่ชัดเจนว่าบรรดาผู้ดูแลกฎระเบียบเตรียมตัวพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟยังเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินการปฏิรูปมากขึ้น เพราะนโยบายผ่อนคลายการเงินดำเนินมาถึงขีดจำกัด ประกอบกับรัฐบาลมีปัญหาในการเพิ่มการลงทุนสาธารณะเพราะขาดแคลนเงินสด

    ดัชนีนิกเคอิในตลาดโตเกียว ปิดตลาดวานนี้ (8 ต.ค.) ร่วงลง 1.19% หรือ 187.85 จุด ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยน และการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของไอเอ็มเอฟ สำหรับดัชนีหั่งเส็งในตลาดฮ่องกงลดลง 0.68% หรือ 159.19 จุด ตามการปรับตัวลงของตลาดหุ้นยุโรปกับสหรัฐเมื่อวันอังคาร (7 ต.ค.) ซึ่งดัชนีดาวโจนส์ในตลาดนิวยอร์กร่วงลง 1.6% หรือ 272.72 จุด ดัชนีเอฟทีเอสอีในตลาดลอนดอนร่วงลง 1.04%

    ส่วนราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบหลายเดือน ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมัน หลังจากไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียท ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 1.11 ดอลลาร์ ที่ระดับ 87.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในการซื้อขายช่วงบ่าย

    ธนาคารยูบีเอสในสิงคโปร์ระบุว่าการเติบโตของปีนี้น่าผิดหวัง โดยเฉพาะในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยในส่วนของสหรัฐนั้นไม่ได้ร่วงลงมากนักแต่การเติบโตก็ไม่ได้รวดเร็วเหมือนที่หลายฝ่ายเชื่อ สำหรับยุโรปกับญี่ปุ่นเผชิญปัญหาค่อนข้างมาก โดยกรณีของยุโรปนั้นปัญหาอยู่ที่เศรษฐกิจหลักได้แก่เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี

    หุ้น-เงินในอาเซียนร่วง

    ตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ปรับตัวใกล้ระดับที่มีแรงเทขายมากเกินไป ขณะที่นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยตลาดหุ้นอินโดนีเซียดิ่งลง 1.5% จากความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยทางการเมือง ขณะที่มาเลเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ต่างปรับตัวลงเช่นกัน ส่วนเวียดนามบวก 0.52%

    ดัชนีหุ้นไทยปิดบวก 0.26% ขณะที่ดัชนีอ่อนตัวลงในช่วงเปิดตลาดตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่ร่วงลงแรง ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงบ่ายในหุ้นกลุ่มหลักทั้งแบงก์ และเทคโนโลยี ผลักดันให้ดัชนีปิดในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกของสัปดาห์

    ด้านตลาดเงิน สกุลเงินส่วนใหญ่ของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียร่วงลง จากความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงได้ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยง

    รูเปี๊ยะห์แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 8 เดือน ขณะที่หุ้นอินโดนีเซียปรับตัวย่ำแย่กว่าตลาดในภูมิภาค ส่วนดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าลงจากแรงขายของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่นร่วงลงกว่า 1% จากความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

    น้ำมันร่วงหลุด88ดอลล์หลังสต็อกเพิ่ม

    สัญญาน้ำมันดิบสหรัฐดิ่งลงต่ำกว่า 88 ดอลลาร์/บาร์เรลวานนี้ (8 ต.ค.) โดยร่วงลงเป็นวันที่ 2 หลังมีรายงานสต็อกน้ำมันดิบที่มากเกินคาด การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และการคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันที่ลดลง

    สัญญาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 1.05 ดอลลาร์ สู่ 87.80 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังดิ่งลง 1.49 ดอลลาร์และร่วงลงต่ำกว่า 88.18 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือนที่เข้าทดสอบในสัปดาห์ที่ผ่านมา

    ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 1.21 ดอลลาร์ สู่ 90.90 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังปิดตลาดวานนี้ลดลง 68 เซนต์

    นักลงทุนหันลงทุนทองคำ

    ราคาทองคำแท่งในประเทศเช้านี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการลดความเสี่ยงของนักลงทุน หลังข้อมูลเศรษฐกิจโลกที่ออกมาในช่วงนี้ กลับมาแสดงสัญญาณการชะลอตัวลง

    ราคาทองสปอตตลาดสหรัฐขยับขึ้นวานนี้ ซึ่งปรับขึ้นเป็นวันที่สองติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีดิ่งลงรุนแรง

    บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส ระบุว่า ราคาทองได้รับปัจจัยบวกจากรายงานของไอเอ็มเอฟ ที่ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกลง ขณะที่ในช่วงสัปดาห์นี้ การรายงานข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ไม่มีประเด็นที่น่าสนใจ หรือมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ

    หากราคาทองอ่อนตัวลงเข้าใกล้แนวรับ 1,200 และ 1,180 ดอลลาร์ ยังเป็นระดับที่สามารถเปิดสถานะ long เก็งกำไรได้ โดยคาดว่าการเคลื่อนไหวของราคาทองในระยะนี้ ยังมีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นต่อ ขณะที่แนวต้านของวัน อยู่ที่บริเวณ 1,220-1,225 ดอลลาร์

    ราคาทองคำแท่งในประเทศ เคลื่อนไหวอยู่ที่ 18,800 บาทต่อบาททองคำ ปรับเพิ่มขึ้น 100 บาท

    Tags : ไอเอ็มเอฟ • ธนาคารโลก • หุ้น • น้ำมัน • กระตุ้นเศรษฐกิจ • คริสติน ลาการ์ด • ยูโรโซน • เฟด • อาเซียน • ทองคำ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้