ตลาดหลักทรัพย์ เผยผลสำรวจ "ซีอีโอ" ส่วนมากเชื่อ เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเกิน 1.5% แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ นายภากร ปีตะธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จัดทำผลสำรวจ CEO Survey เพื่อสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มการลงทุน ล่าสุดสำรวจกับซีอีโอบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 77 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 67 บริษัท และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ 10 บริษัท คิดเป็น 33% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ไทย ประเด็นภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจ ผลสำรวจพบว่า 15% ของซีอีโอเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นมา ส่วนอีก 77% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นบ้าง และ 8% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเหมือนเดิม หรือแย่ลง โดย 66% ของซีอีโอที่ร่วมเซอร์เวย์ มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 1.5% ในปี 2557 และ 64% ของซีอีโอคาดเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 23% ใน 12 เดือนข้างหน้า ผลการสำรวจ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย จะมาจากนโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ 16% ส่วนปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 11% ของซีอีโอระบุถึงกำลังซื้อภายในประเทศ แนวโน้มธุรกิจใน 6 เดือนข้างหนา 70% ของซีอีโอที่ร่วมเซอร์เวย์ มองว่า ธุรกิจใน 6 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ทั้งภาวะอุตสาหกรรม ผลการดำเนินงาน และคำสั่งซื้อ และ 93% ของซีอีโอ คาดสภาพคล่องธุรกิจจะเหมือนเดิมหรือดีขึ้น และ 29% ของซีอีโอ จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซีอีโอส่วนมากกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และกำลังซื้อในประเทศ ภาคการส่งออก 66% ของซีอีโอมองว่า ธุรกิจส่งออกอีก 6 เดือนข้างหน้า จะมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้จากกลุ่มธุรกิจส่งออก ที่สำรวจพบธุรกิจไทยส่งออกไปอาเซียน กลุ่มซีแอลเอ็มวี และจีน รวมกัน 54% และพึ่งพาตลาดส่งออกดั้งเดิมคือประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น 41% ทั้งนี้ 40% ของบริษัทส่งออกที่สำรวจ รับมือกับความผันผวนค่าเงินบาทใน 6 เดือนข้างหน้าด้วยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า อีก 27% ใช้วิธีบริหารรายได้กับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกัน และ 17% เลือกเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ นายภากร กล่าวเพิ่มว่า ส่วนการลงทุนภาคเอกชน 82% คาดจะลงทุนเพิ่มในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดย 36% ของซีอีโอ เลือกขอสินเชื่อจากธนาคารในประเทศเพื่อใช้ลงทุน และ 42% วางแผนขยายลงทุนในต่างประเทศใน 12 เดือนข้างหน้า โดย 11% มีสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศมากกว่าในประเทศ และ 61% มีเงินลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว ผลสำรวจ ระบุว่า 63% มีเงินลงทุนในต่างประเทศอยู่ใน ASEAN-5 ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย และกลุ่มซีแอลเอ็มวี ส่วนประเด็นปฏิรูปประเทศไทย และนโยบายปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ ที่ควรเร่งดำเนินการ 24% ต้องการให้ปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐให้มีความคล่องตัวและรับกับการเปลี่ยนแปลง และ 21% ต้องการการส่งเสริมนวัตกรรม วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีส่วนร่วมกับการจัดทำซีอีโอ เซอร์เวย์ กล่าวว่า ผลสำรวจซีอีโอที่ออกมา แม้จะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ค่อนข้างดี แต่ส่วนมาก หรือ 77% มองว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นบ้าง สะท้อนว่าซีอีโอของไทย ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นแต่ไม่เร็วตามที่เคยคาดหมายไว้ "การฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้ ไม่เหมือนกับช่วงก่อนหน้า ประมาณปี 2552-2553 ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นแบบวีเชป คือลงเร็วฟื้นเร็ว แต่รอบนี้การฟื้นตัวจะเป็นแบบไต่เนิน คือค่อยๆ ฟื้นตัว แรงขับเคลื่อนหลักก็มาจากการลงทุนภาครัฐ" ความกังวลหลักของซีอีโอส่วนมาก คือ กำลังซื้อภายในประเทศ หนี้สินภาคครัวเรือน และสถานการณ์ทางการเมือง โดยหนี้สินภาคครัวเรือนสูงขึ้น และกำลังซื้อในประเทศลดลงจนน่ากังวล เพราะมีผลกับการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง และยังมีส่วนที่น่ากังวล คือแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุน ซึ่งซีอีโอส่วนมากเลือกใช้แหล่งเงินกู้ ปัจจุบัน อัตราการกู้เพื่อลงทุนปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 82% จากปลายปี 2556 ที่ 80% เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วอยู่ที่ 40% ตัวเลข 82% นับว่าสูง และสะท้อนว่าวงจรธุรกิจภาคเอกชนไทยเริ่มสู่ยุคปลาย จากนี้ไปเอกชนจะไม่เติบโตจากกู้ได้แล้ว ทางออกที่ควรเร่งทำ คือ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างจุดขายที่แตกต่างออกไปจากเดิม และการเจาะตลาดส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวี ที่กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตา Tags : ภากร ปีตะธวัชชัย • ตลาดหลักทรัพย์ • CEO Survey • เศรษฐกิจ