"กสิกรไทย" เผยยุทธศาสตร์ในการขยายธุรกิจใน "เออีซี" เดินหน้าสร้างพันธมิตร-เพิ่มสาขา เน้นเปิดใน "ซีแอลเอ็มวี" นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า รูปแบบการทำธุรกิจของธนาคารในภูมิภาคอาเซียนนั้นจะเน้นการสร้างพันธมิตรกับธนาคารท้องถิ่นควบคู่ไปกับการเปิดสาขาหรือธนาคารท้องถิ่น ตามแต่ทางการในแต่ละประเทศจะอนุญาต โดยในเดือนพ.ย.นี้ธนาคารจะเปิดธนาคารท้องถิ่นในประเทศลาว ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ได้ใบอนุญาตเป็นธนาคารท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปให้บริการทางการเงินในประเทศสิงคโปร์รวมถึงอินโดนีเซียอีกด้วย “หากเป็นประเทศที่ติดกับไทยก็อยากให้มีสาขา หรือแบงก์ท้องถิ่นเอาไว้ หลังจากที่เปิดสาขาในลาวแล้วก็จะมีกัมพูชาด้วย ส่วนเวียดนามคงต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนประเทศที่ห่างออกไปก็ขึ้นกับโอกาสในแต่ละประเทศและความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมว่าเหมาะสมที่จะเข้าไปหรือไม่ แต่ถ้าไม่ได้มีสาขาเราก็ใช้โมเดลของธนาคารพันธมิตรได้” นายธีรนันท์ กล่าวว่า สาเหตุที่ธนาคารสนใจเข้าไปทำธุรกิจในสิงคโปร์นั้น เนื่องจากสิงคโปร์เป็นแหล่งสำคัญในการระดมทุนของภาคเอกชน แต่คงไม่เข้าไปเพื่อจับตลาดลูกค้าในสิงคโปร์ที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้คงต้องพิจารณานโยบายของรัฐบาลไทยก่อนว่าจะสร้างให้ไทยมีบทบาทในการศูนย์กลางการค้า หรือแหล่งระดมทุนของภูมิภาคเช่นเดียวกับสิงคโปร์หรือไม่ ซึ่งจะต้องปรับปรุงรายละเอียดทางด้านภาษีและโครงสร้างต่างๆ ในการรองรับธุรกิจข้างชาติ ในส่วนของอินโดนีเซียที่ธนาคารมองไว้ว่าจะเข้าไปเปิดสาขานั้น พบว่ายังมีข้อจำกัดบางประการ เนื่องจากจำนวนธนาคารพาณิชย์ในอินโดนีเซียมีอยู่จำนวนมากแล้ว ทางการของอินโดนีเซียจึงต้องการให้ธนาคารเข้าในลักษณะของการซื้อกิจการมากกว่าการเปิดสาขา ซึ่งโจทย์ที่เปลี่ยนไปทำให้ธนาคารต้องกลับมาทบทวนนโยบายอีกครั้ง โดยในขณะนี้ผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปในอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขนาดใหญ่ขณะที่เอสเอ็มอียังมีไม่มากนัก ส่วนการเข้าไปซื้อกิจการนั้นอาจจะมีความซับซ้อนที่ธนาคารต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดอีกครั้ง “การเข้าไปซื้อแบงก์หากเป็นแบงก์เล็กใช้เงินทุนไม่มากก็จริง แต่ผลในแง่ธุรกิจอาจจะไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ก็จะมีความซับซ้อนในเรื่องของคน และสาขา หรือวัฒนธรรมอีก เราก็ต้องพิจารณาอีกที” ส่วนของประเทศพม่าที่ธนาคารไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการนั้น แต่เรายังมีโมเดลการทำธุรกิจร่วมกับธนาคารพันธมิตรอีก 3-4 แห่งที่ธนาคารจะเข้าไปให้บริการทางการเงิน รองรับการค้าและการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการค้าตามแนวชายแดนที่ทางการจะมีการจัดพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ธนาคารสามารถให้บริการร่วมกับธนาคารท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ธนาคารจะมีการจัดงาน สัมมนาระดับภูมิภาค The AEC+3 Summit & Expo 2014 ระดมความคิดผู้นำในเออีซีบวกสาม ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาจำนวนกว่า 1,300 คน พร้อมงานแสดงสินค้าในภูมิภาคกว่า 150 บูธ และครั้งแรกกับความร่วมมือระหว่างธนาคารในภูมิภาคอาเซียน 40 ธนาคาร จาก 13 ประเทศเพื่อยกระดับบริการทางการเงินสู่มาตรฐานสากล คาดการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ในงานดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรม 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่งานสัมมนาที่จะเชิญวิทยากรที่เป็นบุคคลระดับผู้นำจากภาครัฐ นักธุรกิจชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ นักวิชาการระดับโลกและตัวแทนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ งานแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจที่จะมีผู้ประกอบการจากประเทศใน AEC+3 อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม เข้าร่วม โดยมีผู้สนใจลงทะเบียนร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจแล้วกว่า 500 คู่ และคาดหมายว่าภายในงานดังกล่าวจะมีการจับคู่ธุรกิจ มูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีการจัดทำ Bangkok Declaration ที่จะเป็นการพัฒนาบริการด้านการเงินและการร่วมมือกันเพื่อรองรับลูกค้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่านสถาบัน Taksila-ASEAN Banker Academy จะเป็นเวทีให้นักการเงินการธนาคารในภูมิภาคมาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านธนาคาร อันจะนำไปสู่สร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการไปสู่สากล นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การขยายสินเชื่อของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3-5% เท่านั้น โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 1.5% ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) นั้นไม่น่าจะกระทบกับการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มากนัก เนื่องจากภาครัฐยังมีการลงทุนและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงเทพเคยคาดว่าสินเชื่อในปีนี้จะเติบโตในระดับ 5-6% Tags : กสิกรไทย • เออีซี • ขยายธุรกิจ • ธีรนันท์ ศรีหงส์