คลังกันเงินเพิ่มทุนไอแบงก์2.5พันล.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 6 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    คลังทำงบเหลื่อมปี กันเงิน 2.5 พันล้านบาทเพิ่มทุนไอแบงก์ เผยเพียงพอเพราะมีผู้ถือหุ้นรายอื่นต้องใส่เงินด้วย

    แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้กันงบประมาณเหลื่อมปี 2558 ไว้สำหรับเพิ่มทุนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์)ไว้แล้ว 2.5 พันล้านบาท ประเมินว่างบประมาณในส่วนนี้จะเพียงพอสำหรับการดำเนินงานของธนาคาร เพราะนอกจากกระทรวงคลังแล้ว ยังมีผู้ถือหุ้นอื่นๆ ที่ต้องใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามาด้วย หากใส่เงินเพิ่มทุนมากกว่านี้จะเกินสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง

    ในส่วนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) ระบุว่าสามารถฟื้นฟูกิจการได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน

    ด้านนายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ และหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งธนาคาร เปิดเผยว่า อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นในการฟื้นฟูกิจการไอแบงก์ หยุดสร้างกระแสการยุบรวม หรือ ปิดกิจการ เพราะธนาคารยังดำเนินกิจการต่อได้ และมีพันธกิจสำคัญในการดูแล ให้บริการทางด้านการเงินแก่ชาวมุสลิม

    สำหรับการฟื้นฟูกิจการของธนาคารนั้น มองว่าไม่ใช่เรื่องยาก การแก้ไขปัญหาไอแบงก์ ควรจะกลับมาสู่พื้นฐานการแก้ปัญหาของแบงก์โดยทั่วไป คือการแก้หนี้ และมี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องคือ ทุนสำรอง ลดต้นทุน และหารายได้เข้ามา

    "ค่อนข้างเป็นห่วงที่ไอแบงก์ทุกวันนี้มีข่าวไม่ดี เกี่ยวกับการยุบ ปิดแบงก์ และการหยุดปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะไม่ทำธุรกิจ จะเอารายได้จากไหน ควรจะกลับมาปล่อยสินเชื่อเพิ่มให้บริการที่ดี ส่วนวิธีแก้หนี้เสียหนี้ที่เป็นหนี้รายใหญ่ อาจจะแปลงหนี้เป็นทุน แล้วกำหนดซื้อคืนใน 3 ปี ส่วนรายย่อยบางรายที่สามารถยกหนี้ให้ได้ก็ควร แบงก์ไม่เดือดร้อน เพราะมีการตั้งสำรองไว้แล้ว”

    เขากล่าวต่อว่า การพลิกฟื้นธนาคารสามารถดำเนินการได้เลย ในช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคมนี้ แนวทางมีดังนี้ 1. จะพยายามรักษาสินเชื่อที่มีสถานะปกติ (หนี้B1) ซึ่ง ณ 31 ส.ค. มีจำนวนเงิน 6.26 หมื่นล้านบาท ทำให้สิ้นปี 2557 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7.62 หมื่นล้านบาท 2. ติดตามการผ่อนชำระสินเชื่อที่เริ่มตกชั้น (หนี้ B2) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้กลับเป็นสินเชื่อปกติ (หนี้ B1) ซึ่งมีอยู่จำนวน 5.33 พันล้านบาท

    3.ปรับปรุงโครงสร้างหนี้สินเชื่อด้านคุณภาพ (NPF) ที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่แต่กระแสเงินสดไม่เพียงพอชำระค่างวดบางส่วน และธุรกิจที่ยังมีอนาคต จำนวน 9.74 พันล้านบาท (หนี้B3 จำนวน 8.24 พันล้านบาทและหนี้ B4-B5 จำนวน 1.5 พันล้านบาท)

    4. ขยายสินเชื่อใหม่ 7 พันล้านบาท จากสินเชื่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ (พศต.) จำนวน 2 พันล้านบาท เช่น สินเชื่อพัฒนาสถานศึกษา , สินเชื่อธุรกิจสหกรณ์ , สินเชื่อรากหญ้า, สินเชื่อหายเร่แผงลอย, สินเชื่ออาหารฮาลาล , สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน, สินเชื่อเครื่องแต่งกายมุสลิม , และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และอื่นๆ จำนวน 5 พันล้านบาท 5.กระทรวงการคลัง เพิ่มทุนจำนวน 2.5 พันล้านบาท และ 6.ออกพันธบัตร SUKUK จำนวน 5 พันล้านบาท

    ในการปฏิบัติงานในช่วงไตรมาส 4 ปี 2557 ตามแผนดังกล่าว จะส่งผลให้การดำเนินงานและฐานะการเงินของธนาคารดีขึ้น โดยปี 2557 จะมีกำไรสุทธิ 799.50 ล้านบาท เงินกองทุนของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 648 ล้านบาท ณ 31 ธันวาคม 2556 เป็น 9.61 พันล้านบาท สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS RATIO) เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2556 เป็น 10.39% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 8.5% อัตราส่วน NPF ต่อสินเชื่อรวม มีทิศทางดีขึ้นโดยปรับตัวลดลงจาก 29.82% ในปี 2556 เป็น 28% ในปี 2557

    ผลประกอบการปี 2558 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ ไม่ต่ำกว่า 2.5 พันล้านบาท และจากการทยอยขายสินเชื่อ NPF ที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งการขยายสินเชื่อเพิ่ม จะทำให้อัตราส่วน NPF ต่อสินเชื่อลดลงมาอยู่ที่ 15% ในปี 2558

    ทั้งนี้ธนาคารไม่ได้เสียหายอย่างที่เข้าใจกัน ยังมีกำไรอยู่ แต่การจัดสรรกำไรนั้นควรจะจัดสรรไปตรงไหน จะต้องมีการตรวจสอบการสำรองหนี้เกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ ขณะเดียวกันลูกหนี้รายใหญ่ที่บอกว่าเป็นปัญหา ควรแก้ไขด้วยกระบวนการอะไรและถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้กรณีลูกหนี้ดีที่เคยหายไป 3 หมื่นล้านบาท จะมีวิธีดึงเอากลับมาอย่างไร

    “สถานการณ์ไอแบงก์ขณะนี้ ไม่ได้เลวร้ายกว่าที่คิด แม้จะไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน แต่การเพิ่มทุนจะทำให้การแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องที่พูดถึงการทุจริต ในยุคที่ผมเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และยังพูดกันตลอด หากพบการทุจริตจริง ให้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผมได้ ตอนนี้ไม่ควรจะพูดเรื่องเดิมๆ ว่าการทุจริตและมีปัญหาแต่ไม่แก้อะไรเลย ต้องควบรวมหรือยุบ”

    ส่วนกรณีการแก้หนี้รายใหญ่ โดยเฉพาะ สหฟาร์มนั้น นายธีรศักดิ์ มองว่า หนี้ 1.5 พันล้านบาท เป็นหนี้ที่ไอแบงก์มีหลักทรัพย์ค้ำประกันคุ้มวงเงิน 100% ซึ่งเป็นที่ดิน มีราคาปรับขึ้นทุกวัน และไม่มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นในสหฟาร์ม ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเจรจารวมกับเจ้าหนี้รายอื่น เพราะมองว่าที่แก้ปัญหาอยู่ปัจจุบันแก้ไม่ได้แน่นอน

    เขากล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคาร กระทรวงการคลัง ควรมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำผลิตภัณฑ์ให้กับไอแบงก์ โดยเฉพาะภาษีโอนอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับธนาคารอิสลามทั่วโลกทำ แม้แต่ในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม เช่นในประเทศอังกฤษและสิงคโปร์ แต่ก็ให้การสนับสนุนยกเลิกเก็บภาษีดังกล่าว

    นับว่าเป็นระบบที่ดีที่สุด ของระบบการซื้อบ้าน ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อ รวมทั้ง กระทรวงการคลัง ต้องทบทวนตั้งสำรองให้กับไอแบงก์ภายใน 3 ปี เหมือนกับที่แก้หนี้แบงก์อื่นในอดีต

    Tags : คลัง • เพิ่มทุน • ไอแบงก์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้