'บัณฑิต'มองตลาดตราสารหนี้เก้าอี้ขาที่3

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 12 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    บัณฑิต ชี้ 3 ปีพัฒนาการตลาดตราสารหนี้โตต่อเนื่อง ล่าสุดสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มแตะ 77% ขึ้นเป็น เสาที่ 3 ในระบบการเงินไทย

    ความพยายามในการผลักดันให้ “ตลาดตราสารหนี้ไทย” ก้าวขึ้นเป็น “เสาที่ 3” หรือ “เก้าอี้ขาที่ 3” ในระบบการเงินไทย ถัดจาก “ตลาดสินเชื่อ” ของธนาคารพาณิชย์ และ “ตลาดทุน” ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นพัฒนาการในเรื่องของ “ขนาดตลาด” และจำนวน “สินค้าใหม่” ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

    ในส่วนของ “ขนาด” หากนับตามมูลค่าตลาด หรือ “มาร์เก็ตแคป” จะเห็นการเพิ่มขึ้นที่ต่อเนื่องและชัดเจน โดยสิ้นปี 2553 มาร์เก็ตแคปของตลาดตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 6.7 ล้านล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.1 ล้านล้านบาทในปี 2554 และเพิ่มเป็น 8.58 ล้านล้านบาทในปี 2555 จนกระทั่งล่าสุด ณ ปัจจุบัน (เม.ย.2557) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.24 ล้านล้านบาท

    นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ “ไอโอดี” ในฐานะอดีตประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ไทยบีเอ็มเอ) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “นสพ.กรุงเทพธุรกิจ” ถึงพัฒนาการตลาดตราสารหนี้ไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาว่า ช่วงที่เขารับตำแหน่ง “ประธานกรรมการ” ไทยบีเอ็มเอ ว่า พัฒนาการโดยรวมถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะถ้าดูในแง่ความสนใจของนักลงทุน และการเติบโตของตลาดถือว่ามีมากขึ้นตามลำดับ

    “หากเทียบตัวเลขง่ายๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) จะเห็นว่าสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปลายปี 2553 ตอนนั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 67% ของจีดีพี และก็เติบโตขึ้นต่อเนื่องจนสิ้นปีที่ผ่านมา สัดส่วนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 77% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่า ตัวตลาดมีการเติบโตที่เร็วกว่าจีดีพี ตลาดตราสารหนี้ไทยในปัจจุบันจึงถือว่าได้พัฒนาขึ้นมาเป็นเสาที่ 3 ของระบบการเงินประเทศ รองจากตลาดหุ้นและตลาดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์”

    สาเหตุที่ตลาดตราสารหนี้ไทยมีพัฒนาการที่ค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มให้ความสนใจกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในเอเชียมากขึ้น ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย ประกอบกับไทยเองก็มีสินค้าใหม่ๆ เพิ่มความน่าสนใจในการลงทุน เช่น การออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (INFLATION LINKED BOND) เป็นต้น

    นอกจากนี้ถ้าดูในแง่จำนวนนักลงทุนต่างชาติ ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน โดยในปี 2553 ตลาดตราสารหนี้ไทยเคยมีสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ 5% ของสัดส่วนนักลงทุนทั้งหมด แต่ในปีที่ผ่านมา สัดส่วนของนักลงทุนกลุ่มนี้ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 8-9%

    นายบัณฑิต บอกว่า การพัฒนาของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่ผ่านมา เน้นใน 2-3 เรื่องหลัก คือ การมีแผนระยะยาวในการวางแผนตลาดเพื่อให้การพัฒนาตัวตลาดตราสารหนี้เกิดความชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้เป็นการร่วมกันทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน และอีกเรื่อง คือ การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร โดยเฉพาะกับผู้มีส่วนร่วมในตลาด ผ่านการให้ข้อมูล หรือการให้ความเห็นเกี่ยวกับทิศทางแนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาด สุดท้าย คือ ความพยายามในการสร้างให้ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นที่รู้จักกับนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

    ส่วนการมองไปยังอนาคตนั้น นายบัณฑิต มั่นใจว่า พัฒนาการของตลาดยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง แม้ว่าในอนาคตวัฏจักรของ “ดอกเบี้ย” อาจปรับทิศกลายเป็น “ขาขึ้น” ทำให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนที่ว่านี้ก็คงจะแพงขึ้นในทุกตลาด ไม่เฉพาะกับตลาดของไทยที่เดียว ดังนั้นโดยภาพรวมของตลาดตราสารหนี้จึงยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยระดมทุนระยะยาวของประเทศได้

    “ในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐ เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่ๆ หากจะเกิดขึ้นได้ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาตลาดตราสารหนี้ ดังนั้นตัวตลาดจำเป็นต้องมีศักยภาพที่จะรองรับความต้องการใช้ โดยบทบาทของตลาดจะต้องเป็นสื่อกลางระหว่างเงินออมกับเงินลงทุน ที่เชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ ดังนั้นภาพรวมของตัวตลาดตราสารหนี้จึงยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก”

    นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่า มาร์เก็ตแคปของตลาดตราสารหนี้ยังมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้ ซึ่งถ้าดูในส่วนของ “ตลาดทุน” และ “สินเชื่อ” ของธนาคารพาณิชย์ สัดส่วนต่อจีดีพีในทั้ง 2 ตลาดนี้ คิดเป็นราวๆ 100% ของจีดีพีได้ ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนอยู่เพียง 77% ดังนั้นโอกาสในการเพิ่มขึ้นของตลาดจึงยังมี และที่ผ่านมาการพัฒนาของตัวมาร์เก็ตแคปของตลาดตราสารหนี้ก็ถือว่ามีพัฒนาการที่ค่อนข้างรวดเร็ว

    การเพิ่มขึ้นของมาร์เก็ตแคป เขาไม่อยากให้เป็นการสะท้อนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเพียงกลุ่มเดียว แต่อยากให้เป็นตลาดที่สามารถเชื่อมโยงระหว่าง “ผู้ลงทุน” กับ “ผู้ออม” ในประเทศมากกว่า เพราะตรงนี้จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับเศรษฐกิจของประเทศ เพราะผู้ออมแทนที่จะเอาเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์อย่างเดียว ก็สามารถมาลงทุนในตราสารหนี้ได้ ขณะที่ผู้ลงทุนนอกจากจะไปพึ่งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ หรือการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็สามารถอาศัยตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งระดมทุนได้อีกช่องทางหนึ่ง

    สำหรับการจะทำให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ หรือใช้บริการตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น นายบัณฑิต มองว่า สิ่งสำคัญสุดอยู่ที่ความน่าเชื่อถือของตลาด โดยตัวตลาดต้องมีกฎเกณฑ์ที่ดี มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี ขณะเดียวกันควรเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องที่ดีด้วย รวมทั้งมีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่ดี

    นอกจากนี้ ตัวสินค้าต้องเป็นสินค้าที่ดีด้วย โดยตราสารหนี้ที่ออกไม่ว่าจะมาจากภาครัฐหรือเอกชนต้องเป็นตราสารที่มีศักยภาพให้ผลตอบแทนที่ดีในการลงทุน ซึ่งอันนี้จะเกี่ยวโยงกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไปได้ดี ตราสารเหล่านี้ก็น่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีคุ้มค่ากับความเสี่ยงให้กับนักลงทุน

    Tags : บัณฑิต นิจถาวร • ตลาดตราสารหนี้ไทย • เศรษฐกิจไทย
     

แบ่งปันหน้านี้