สำรวจสถาบันต่างชาติ ทยอยลดสัดส่วนถือหุ้นปตท.โดยเฉพาะกองทุนรัฐบาลสิงคโปร์เหลือถือครองเพียง 0.64% จาก 0.97% ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ล่าสุด ณ วันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา พบนักลงทุนสถาบันต่างชาติ ได้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลง ประกอบด้วย จีไอซี ไพรเวท ลิมิเต็ด ซึ่งมีฐานะเป็นกองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ ขายหุ้นออก 9.46 ล้านหุ้น ส่งผลให้เหลือการถือหุ้น 18.35 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.64% จากเดิมเคยถือ 27.82 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.97% สเตรท สตรีท แบงก์ แอนด์ ทรัสต์ คอมปานี ขายหุ้น 4.92 ล้านหุ้น ส่งผลให้ถือครองหุ้น 24.66 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.86%จากเดิม ถือ 29.59 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.04% เอชเอสบีซี (สิงคโปร์) นอมินี ขายหุ้น 1.99 ล้านหุ้น ส่งผลเหลือหุ้น 46.77 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.64% จากเดิมถือ 48.76 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.71% สำหรับการเคลื่อนไหวราคาหุ้นในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 27.97% จากราคา 286 บาทเป็น 366 บาท และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 309.91 บาท นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า การที่สถาบันต่างชาติขายหุ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เพราะเป็นการปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกันหุ้นปตท. ถูกกดดันจากปัจจัยภายในประเทศ กรณีการปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงาน ทำให้เกิดความกังวลและราคาหุ้นอยู่นิ่งมาระยะหนึ่ง แต่เมื่อมีนโยบายปรับราคาก๊าซ ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาทันที และราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา "ตอนนี้ได้แนะนำให้สามารถซื้อลงทุนได้เนื่องจากมองแนวโน้มความสามารถทำกำไรจะเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับอานิสงส์จากการปรับราคาก๊าซ" บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยประเมินแนวโน้มความสามารถทำกำไรของบริษัทปตท. มีความแข็งแกร่งจากแรงหนุนของผลการดำเนินงานธุรกิจก๊าซ คาดกำไรสุทธิจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8% ต่อปี การที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบให้ปรับราคา LPG สำหรับภาคขนส่งขึ้น 0.62 บาท เป็น 22 บาท/กก. และปรับราคา NGV ขึ้น 1 บาท เป็น 11.5 บาท/กก. (ยกเว้นรถสาธารณะ ซึ่งยังได้ราคาอุดหนุนที่ 8.5 บาท/กก.) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 57 เป็นต้นไป สอดคล้องกับกรอบความเห็นชอบของคสช. ในช่วงปลายเดือน ส.ค. 2557 นอกจากนี้ คณะกรรมการได้มีมติปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของดีเซลอีก 0.40 บาทต่อลิตร เป็น 2.10 บาทต่อลิตร (ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับเพิ่มขึ้นจาก 2.84 พันล้านบาท/เดือน เป็น 3.48 พันล้านบาท/เดือน) แต่จะไม่มีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหน้าปั๊ม จากการปรับราคา NGV ก้าวแรก 1 บาท/กก. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 57 นี้ ส่งผลให้เราปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2557-2559 สำหรับบริษัทปตท. ขึ้นเล็กน้อย 0.6 พันล้านบาท 2.7 พันล้านบาท และ 2.8 พันล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่าหากราคา NGV ถูกปล่อยลอยตัวเต็มที่ตามต้นทุนที่แท้จริงของบริษัท (ราว 17 บาทต่อกิโลกรัม อิงสมมติฐานของฝ่ายวิจัย) จะมีความเสี่ยงเชิงบวกต่อกำไรหลังหักภาษีปี 2558-2559 ราว 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่งราว 0.62 บาทต่อกิโลกรัม จะถูกส่งผ่านผลบวกไปยังกองทุนน้ำมันก่อน ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังต้องแบกรับภาระต้นทุนการนำเข้าแอลพีจีที่ราคาสูงอยู่ แม้เราคาดการปรับขึ้นราคาแอลพีจี หน้าโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัทปตท.จะไม่เห็นในระยะเวลาอันสั้น เพราะเป็นปัจจัยที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อภาคประชาชน แต่เชื่อว่ารัฐบาลอาจมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา เมื่อฐานะของกองทุนน้ำมันอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง จากการศึกษา พบว่า การลอยตัวเต็มที่ของราคาแอลพีจีหน้าโรงแยก จากปัจจุบันที่ขายที่ราคาตรึง (333 ดอลลาร์ต่อตัน) เป็นราคาตามต้นทุนของบริษัทปตท. 550 ดอลลาร์ต่อตัน จะเป็นความเสี่ยงเชิงบวกต่อกำไรหลังภาษีของบริษัทปตท. 6.7 พันล้านบาทต่อปี Tags : ตลาดหุ้น • สถาบัน • ต่างชาติ • ปตท.